เปิดประเทศ-เปิดทางโควิดกลายพันธุ์เดินทางเข้าไทย

28 ต.ค. 2564 | 02:12 น.

หมอเฉลิมชัยชี้เปิดประเทศ 1 พฤศจิกายนเหมือนเปิดโอกาสให้เชื้อโควิดกลายพันธุ์เดินทางเข้ามา แนะผู้ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ได้ใช้มาตรการเข้มสูงสุด

โควิด-19 (covid-19) ระลอก 3 ครบ 7 เดือน โดยที่ปัจจุบันตัวเลขผู้ติดเชื้อชะลอตัวลง แต่ประเด็นสำคัญที่กำลังจะเกิดขึ้นก็คือการที่ประเทศไทยจะเปิดประเทศรับท่องเที่ยวจาก 46 ประเทศเข้ามาท่องเที่ยวโดยไม่ต้องกักตัวในวันที่ 1 พฤศจิกายน  64 ที่จะถึงนี้ใน 17 จังหวัดนำร่อง ท่ามกลางความกังวลของหลายฝ่าย 

ล่าสุด น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
28 ตุลาคม 2564 โควิดระลอกที่สามครบ 7 เดือนเต็ม( 211 วัน) เป็นช่วงขาขึ้น 4 เดือนครึ่ง และกำลังอยู่ในช่วงขาลง ด้วยอัตราช้ากว่าช่วงขาขึ้น

โควิด-19 ในประเทศไทยอยู่ในช่วงขาลง

โควิดระบาดระลอกที่สามของประเทศไทย เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564
นับถึงวันนี้เป็นเวลา 211 วันเต็ม หรือ7 เดือนโดยเป็นช่วงขาขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายนถึงกลางเดือนสิงหาคมเป็นเวลา 4 เดือนครึ่ง
และเป็นช่วงขาลง นับตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคมถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 2 เดือนครึ่งแล้ว
ความเร็วของช่วงขาลง น้อยกว่าในช่วงขาขึ้น เพราะจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการผ่อนคลาย เพื่อประคับประคองมิติทางเศรษฐกิจและสังคม
โดยอัตราการเสียชีวิต ลดลงเร็วกว่าอัตราการติดเชื้อ เนื่องจากมีการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมได้ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม มาตรการผ่อนคลายที่สำคัญ และอาจมีผลกระทบต่อสถานการณ์โรคระบาดได้คือ การเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ด้วยเหตุผลสองประการ
1.จะเกิดบรรยากาศความรู้สึกของการผ่อนคลายอย่างมาก สำหรับประชาชนคนไทย และอาจมีการหย่อนวินัยลงได้
2.มีโอกาสที่นักท่องเที่ยวจากประเทศที่มีไวรัสกลายพันธุ์ จะเดินทางเข้ามา แม้จะมีการตรวจอย่างเข้มงวด ก็ยังมีโอกาสหลุดรอดได้ แม้จะเกิดได้น้อยก็ตาม
ดังนั้นเมื่อมีความจำเป็นต้องเปิดประเทศ และมีความรู้ทางวิชาการรองรับ จึงต้องดำเนินการกับจุดอ่อนไหวทั้งสองจุดดังกล่าวให้เต็มที่ ด้วยการรณรงค์ให้ทุกคนมีวินัยในการป้องกันตัวเอง และให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ได้ใช้มาตรการเข้มสูงสุด
ก็จะพอทำให้ความเสี่ยงที่จะติดเชื้อเพิ่มขึ้น มีโอกาสไม่มากจนเกินไปนัก

สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19
วันนี้ 28 ตุลาคม 2564
ติดเชื้อเพิ่ม 9658 ราย
ติดในระบบ 8879 ราย
ติดจากตรวจเชิงรุก 550 ราย
ติดในสถานกักตัว 11 ราย
ติดในเรือนจำ 218 ราย
สะสมระลอกที่สาม 1,856,110 ราย
สะสมทั้งหมด 1,884,968 ราย
รักษาหาย 8526 ราย
สะสม 1,766,823 ราย
รักษาตัวอยู่ 99,144 ราย 
โรงพยาบาลหลัก 44,691 ราย
โรงพยาบาลสนาม 46,592 ราย
แยกกักที่บ้าน 6135 ราย
อาการหนัก 2281 ราย
ใช้เครื่องช่วยหายใจ 526 ราย
เสียชีวิต 84 ราย
สะสมระลอกที่สาม 18,912 ราย
สะสมทั้งหมด 19,006 ราย
ติดเชื้อเข้าข่าย 4410 ราย
สะสม 261,289 ราย
ฉีดวัคซีนสะสม 72.84 ล้านโดส