เปิดประเทศ 1 พ.ย. ส่องแผน 11 มาตรฐานเปิด กรุงเทพแซนด์บ็อกซ์

27 ต.ค. 2564 | 09:11 น.

เปิดประเทศ 1 พ.ย. นี้ พามาส่องแผน 11 มาตรฐานเปิด กรุงเทพแซนด์บ็อกซ์ ที่มีการกำหนดมาตรฐานขั้นตอนการปฏิบัติงาน 11 ด้าน ขานรับนโยบายเปิดประเทศ

เกาะติด “เปิดประเทศ” 1 พ.ย. นี้  เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวประเทศความเสี่ยงต่ำสามารถเดินทางเข้าประเทศไทยโดยไม่กักตัว 46 ประเทศ เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและธุรกิจ

ในส่วนกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้เตรียมพร้อมการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ โดยใช้แนวทาง “กรุงเทพแซนด์บ็อกซ์” 

พร้อมรณรงค์มาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร (Covid Free Setting) โดยมีโครงสร้างบริหารและควบคุม Command Center กรุงเทพมหานคร

มาตรฐานขั้นตอนการปฏิบัติงาน  standard operation procedure : SOP ทั้ง 3 ระยะ 

ระยะที่ 1 ก่อนเดินทางมาถึงประเทศไทย

  • ผู้เดินทางต้องยื่นขอ COE หรือแพลตฟอร์มที่ทางราชการกำหนด หรือใบรับรองการเดินทางเข้าประเทศไทย
  • ต้องมีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนจากประเทศต้นทาง (Certificate of Vaccination) ครบตามเกณฑ์ของประเทศไทย 
  • มีวีซ่าและกรมธรรม์ประกันสุขภาพครอบคลุมการรักษาโควิด และหนังสือรับรองว่าปลอดโควิดที่ออกให้ไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง 

ระยะที่ 2 เมื่อเดินทางมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิ/ดอนเมือง/ระหว่างพำนักในกรุงเทพฯ

กรณีจังหวัดนำร่องเพื่อการท่องเที่ยว

  • ต้องติดตั้งแอปพลิเคชั่นตามที่ราชการกำหนด
  • เข้ารับการตรวจหาเชื้อ ณ โรงแรมที่พัก หรือสถานที่ที่กำหนด 
  • เดินทางเข้าที่พักที่ได้มาตรฐาน SHA+ ด้วยพาหนะที่ได้รับมาตรฐาน SHA+
  • รอผลตรวจในโรงเเรมที่พัก หากไม่พบเชื้อ วันต่อไปสามารถเดินทางท่องเที่ยวในกรุงเทพมหานครได้ 
  • ต้องพักในกรุงเทพฯ และเข้าพักในโรงแรมที่ได้จองไว้ตามที่ระบุใน SHABA จำนวน 7 คืน
  • กรณีที่พักไม่ถึง 7 คืน ต้องเดินทางกลับด้วยพาหนะที่ได้มาตรฐาน SHA+ โดยใช้สนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมืองเท่านั้น และตรวจ RT-PCR ตามระยะเวลาพำนัก

กรณีเปิดประเทศ

  • ติดตั้งแอปพลิเคชั่นตามที่ราชการกำหนด
  • เข้ารับการตรวจหาเชื้อ ณ โรงแรมที่พำนัก หรือสถานที่ที่กำหนด เดินทางเข้าที่พักที่ได้มาตรฐาน SHA+ ด้วยพาหนะที่ได้รับมาตรฐาน SHA+
  • รอผลตรวจในห้องพัก หากไม่พบเชื้อวันต่อไปสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ 
  • ต้องพำนักในกรุงเทพมหานครไม่น้อยกว่า 1 คืน 

ระยะที่ 3 ก่อนออกเดินทางออกนอกกรุงเทพฯ หรือเดินทางออกนอกราชอาณาจักรไทย

  • ต้องแสดงหลักฐาน 4 อย่าง คือ หลักฐานยืนยันว่าได้พำนักในกรุงเทพฯ อย่างน้อย 7 คืน สำหรับการเข้ามาในกรณีจังหวัดนำร่องเพื่อการท่องเที่ยว
  • หลักฐานการฉีดวัคซีนครบโดส หลักฐานการตรวจแบบ RT-PCR ในประเทศไทยครั้งล่าสุด และปฏิบัติตามมาตรฐานสาธารณสุขจากประเทศต้นทาง ปลายทาง หรือ WHO กำหนด

ขั้นตอนการปฏิบัติงาน แบ่งเป็นมาตรฐาน 11 ด้าน

  1. มาตรฐานขั้นตอนการปฏิบัติงาน รองรับเที่ยวบินระหว่างประเทศ ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ/ ดอนเมือง
  2. มาตรฐานการปฏิบัติงาน เมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางจากสนามบิน เข้าที่พักโดยไม่แวะพักระหว่างทาง
  3. มาตรฐานขั้นตอนการปฎิบัติงานเมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางมาถึงโรงแรม ที่พัก หรือโฮมสเตย์
  4. มาตรฐานการท่องเที่ยวทางน้ำและการเดินเรือ
  5. มาตรฐานมัคคุเทศก์
  6. มาตรฐานจัดการของเสียและขยะต่างๆ
  7. มาตรฐานผู้ให้บริการและผู้รับบริการ
  8. มาตรฐานบริการสปาและนวดเพื่อสุขภาพ
  9. มาตรฐานจัดการท่องเที่ยวชุมชน
  10. มาตรฐานการเดินทางท่องเที่ยวภายในกรุงเทพฯ
  11. มาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย SHA/SHA+

สถานการณ์ในกรุงเทพฯ เป็นอย่างไร

สำนักอนามัย กทม. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร วันที่ 26 ต.ค.64  มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ในพื้นที่จำนวน 901 คน ภาพรวมการให้บริการวัคซีนโควิด-19 ขณะนี้กรุงเทพมหานครสามารถให้บริการวัคซีนเข็มที่ 1 ครบ 100% เข็มที่ 2 มีผู้ได้รับแล้ว จำนวน 75.53 %

ครอบคลุมการฉีดวัคซีนโควิด

คาดว่าภายในวันที่ 30 ต.ค. จะมีผู้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม ถึงจำนวน 80% ในส่วนของการให้บริการวัคซีนในกลุ่มเป้าหมาย 608 หรือ ผู้สูงอายุ ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ที่อยู่ในกลุ่มโรคเสี่ยง 7 กลุ่มโรค และหญิงตั้งครรภ์ (กลุ่มเป้าหมาย จำนวน 2,105,696 คน) ขณะนี้ให้บริการวัคซีนเข็มที่ 1 แล้วจำนวน 92.48 % และเข็มที่ 2 จำนวน 68.48 %

ศักยภาพการรองรับผู้ป่วย

สำหรับศักยภาพในการรองรับผู้ป่วยสถานพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพมหานครทุกสังกัด ทั้งโรงพยาบาลหลัก โรงพยาบาลสนามและHospitel รวม 227 แห่ง สามารถรับผู้ป่วยระดับ 1 ได้จำนวน 31,275 เตียง ระดับ 2 จำนวน 3,214 เตียง และระดับ 3 จำนวน 566 เตียง