ไขข้อสงสัยต้องปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อหายป่วยโควิด-19

08 ต.ค. 2564 | 01:19 น.

หมออนุตตรเผยแนวทางการจำหน่ายผู้ป่วย COVID-19 ออกจากโรงพยาบาลต้องดูแลต่อที่บ้านอย่างไร ไปทำงานได้หรือไม่

รายงานข่าวระบุว่า พล.อ.ท.อนุตตร จิตตินันทน์ (หมออนุตตร) ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (Anutra Chittinandana) โดยมีข้อความว่า   
มีปัญหาการปฏิบัติที่สับสนเรื่องการจำหน่ายผู้ป่วย COVID-19 ออกจากโรงพยาบาล ว่าต้องดูแลต่อที่บ้านอย่างไร ไปทำงานได้ไหม  บางแห่งก็ให้กักตัวต่ออีก 14 วัน บางแห่งไม่ต้องกักตัวให้กลับไปทำงานได้เลย ผู้ป่วยไตเทียมหลายคนออกจาก โรงพยาบาลแล้ว ศูนย์ไตเทียมบางแห่งไม่ยอมรับไปฟอกเลือดต่อจนกว่าผล RT-PCR จะ not detected  บางแห่งก็ยอมรับไปฟอกได้ 
ขอสรุปเรื่องนี้จาก แนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ฉบับปรับปรุง วันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2564 สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข มาให้ทราบกันอีกครั้งตามนีh
ผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่สบายดีหรือไม่มีอาการ ให้แยกกักตัวที่บ้านหรือสถานที่รัฐจัดให้เป็นเวลาอย่างน้อย 14 วัน นับจากวันที่ตรวจพบเชื้อ (เน้นว่านับจากวันที่ตรวจพบเชื้อ ไม่ใช่นับจากวันที่ออกจากโรงพยาบาล)
ผู้ป่วยที่อาการน้อยให้แยกกักตัวที่บ้านหรือสถานที่รัฐจัดให้ อย่างน้อย 14 วัน นับจากวันที่มีอาการ (เน้นว่านับจากวันที่มีอาการ ไม่ใช่นับจากวันที่ออกจากโรงพยาบาล) เมื่อครบหากยังมีอาการให้อยู่ในโรงพยาบาลหรือในสถานที่รัฐจัดให้จนอาการดีขึ้นอย่างน้อย 24-48 ชั่วโมง 

ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง (severe) หรือเป็น severe immunocompromised host ให้รักษาตัวในโรงพยาบาลหรือสถานที่รัฐจัดให้ และให้ออกจากโรงพยาบาลได้เมื่ออาการดีขึ้น โดยต้องกักตัวต่อที่บ้านระยะเวลารวมอย่างน้อย 21 วัน นับจากวันที่มีอาการ (เน้นว่านับจากวันที่มีอาการ ไม่ใช่นับจากวันที่ออกจากโรงพยาบาล)
เกณฑ์การพิจารณาจำหน่ายผู้ป่วย
a) ผู้ป่วยที่มีอาการดีขึ้นและภาพรังสีปอดไม่แย่ลง
b) อุณหภูมิไม่เกิน 37.8°C ต่อเนื่อง 24-48 ชั่วโมง
c) Respiratory rate ไม่เกิน 20 ครั้ง/นาที
d) SpO2 at room air มากกว่า 96% ขณะพัก หรือบางคนอาจกลับพร้อมออกซิเจน

แนวทางปฎิบัติตัวเมื่อหายป่วยโควิด-19
ไม่จำเป็นต้องทำการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR, antigen หรือ antibody detection ในผู้ป่วยที่ยืนยันแล้วว่ามีการติดเชื้อ และเมื่อจะกลับบ้านไม่ต้องตรวจซ้ำเช่นเดียวกัน นอกจากเป็นโครงการวิจัยซึ่งผู้วิจัยต้องอธิบายเหตุผลที่ชัดเจนแก่ผู้ติดเชื้อด้วย
หลังจากออกจากโรงพยาบาล เมื่อครบกำหนดตามระยะเวลากักตัวให้ปฏิบัติตนตามแนววิถีชีวิตใหม่ คือ การสวมหน้ากากอนามัย การทำความ สะอาดมือ การรักษาระยะห่าง การหลีกเลี่ยงสถานที่แออัดหรือสถานที่ที่การระบายอากาศไม่ดี
a) ผู้ป่วยสามารถพักอยู่บ้านหรือไปทำงานได้ตามปกติ
b) การกลับไปทำงานขึ้นอยู่กับสภาวะทางสุขภาพของผู้ป่วยเป็นหลัก ไม่ต้องทำการตรวจหาเชื้อซ้ำด้วยวิธีการใด ๆ ก่อนกลับเข้าทำงาน แต่แนะนำให้ปฏิบัติตนตามวิถีชีวิตใหม่อย่างเคร่งครัด

c) หากมีอาการป่วยให้ตรวจหาสาเหตุ และให้การรักษาตามความเหมาะสม

d) ผู้ป่วยที่เพิ่งหายจาก COVID-19 ในระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน มีโอกาสติดเชื้อซ้ำน้อยมาก การตรวจหาเชื้อ SARS-CoV-2 ทั้งโดยวิธี RT-PCR และ antigen หรือการตรวจ antibody จึงมีประโยชน์น้อย ควรมุ่งหาสาเหตุอื่นมากกว่า นอกจากมีประวัติการสัมผัสโรคและอาการที่เป็นไปได้อย่างยิ่งให้พิจารณาตรวจเป็นราย ๆ ไป
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (covid-19) ในประเทศไทย วันที่ 8 ตุลาคม 2564 นั้น "ฐานเศราฐกิจ" ติดตามรายงานจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. พบว่า ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรวม 11,140 ราย มาจาก ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 11,068 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 72 ราย  ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 1,660,574 ราย  เสียชีวิตเพิ่ม 116 ราย หายป่วย 9,933 ราย กำลังรักษา 110,113 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 1,534,364 ราย