ภาพจำ " น้ำท่วมใหญ่ กทม. 2554 " วสท. ผ่าโอกาสเสี่ยง - วิธีรับมือ

01 ต.ค. 2564 | 04:07 น.

วสท. ผ่าโอกาสเสี่ยง น้ำท่วมใหญ่ กทม. เหมือนปี 2554 ชี้ ปริมาณน้ำฝน - ระดับน้ำในเขื่อนยังต่างกัน แต่ขอพื้นที่เสี่ยง 8 จังหวัดเตรียมพร้อม รับมือ 1-5 ต.ค.นี้ ขณะ ดร.สมิตร แนะรัฐบาลเร่งสร้าง flood way แก้น้ำท่วม - น้ำแล้ง ยั่งยืน

1 ต.ค.2564 - พลิกปูม 23-28 กันยายนที่ผ่านมา อิทธิพลจากพายุเตี้ยนหมู่ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในหลายจังหวัดในพื้นที่ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ความเดือดร้อนอย่างหนักจากอุทกภัยที่เกิดจากฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง เช่น จังหวัดชัยภูมิที่เกิดน้ำท่วมหนักที่สุดในรอบ 50 ปี เป็นต้น 

ภาพจำ " น้ำท่วมใหญ่ กทม. 2554 " วสท. ผ่าโอกาสเสี่ยง - วิธีรับมือ

นายธเนศ  วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า แม้ขณะนี้พายุจะอ่อนกำลังลงแต่ปริมาณน้ำในแม่น้ำสายต่าง ๆ รวมทั้งอ่างเก็บน้ำหลายแห่งในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกยังคงมีมาก หน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบได้วางแผนการระบายน้ำอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำ และเพื่อไม่ให้ปริมาณน้ำที่ระบายออกมามากเกินไป อย่างไรก็ตามประชาชนก็ยังคงมีความกังวลว่าบริเวณใดบ้างที่จะมีโอกาสเกิดน้ำท่วมได้ รวมทั้งความกังวลว่ามีโอกาสที่น้ำจะท่วมกรุงเทพฯ  เหมือนเมื่อครั้งมหาอุทกภัยปี 2554 หรือไม่

ภาพจำ " น้ำท่วมใหญ่ กทม. 2554 " วสท. ผ่าโอกาสเสี่ยง - วิธีรับมือ

ด้าน นายชวลิต จันทรรัตน์ นายกสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดจากพายุเตี้ยนหมู่ และอิทธิพลของร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมภาคกลาง ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากในบางพื้นที่ของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ในช่วงวันที่ 22-25 กันยายน 2564 

 

โดยที่อำเภอเมืองจังหวัดนครสวรรค์มีปริมาณน้ำฝนสูงสุด 362 มม.ต่อวัน ในขณะที่ ในปี 2554 ที่มีพายุไห่ถาง เนสาด และนาลแก เคลื่อนที่มาในระหว่างวันที่ 28 กันยายน ถึง 5 ตุลาคม 2554 นั้น ทำให้มีฝนตกหนักจากพายุแต่ละลูกเฉลี่ย 180, 120 และ 100 มม.ต่อวัน ตามลำดับ ต่อเนื่องใน 7 วันนั้น จะเห็นว่า ในปี 2554 มีฝนตกหนักจากพายุ 3 ลูกนั้นรวม ประมาณ 400 มม. สูงกว่าฝนที่ตกหนักจากพายุเตี้ยนหมู่ ประมาณ 1.5 เท่า

 

นอกจากนั้นกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดหมายว่า ในช่วงวันที่ 28 กันยายน - 2 ตุลาคม 2564 นี้ ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคกลางตอนล่างและภาคใต้ตอนบน จะทำให้มีฝนตกหนักบางแห่ง และส่งผลให้เกิดน้ำหลากเพิ่มขึ้นในพื้นที่ดังกล่าวได้

 

ฝนที่ตกหนักสะสมในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบนในช่วงวันที่ 22 ถึง 25 กันยายน ดังกล่าว ทำให้มีน้ำท่าไหลหลากลงมาเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยประเมินว่าจะมีอัตราการไหลสูงสุด 3,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และคาดว่ายอดน้ำสูงสุดจะมาถึงนครสวรรค์ประมาณวันที่ 1 ถึง 2 ตุลาคมนี้ โดยที่ลุ่มน้ำป่าสักก็เป็นในลักษณะเดียวกัน

ปริมาณและมวลน้ำในปี 2564 นี้ นับถึงปัจจุบัน มีปริมาณและมวลน้ำน้อยกว่าของปี 2554 เป็นอย่างมาก แต่เนื่องจากปริมาณน้ำส่วนใหญ่ที่ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำน้อย ไหลอยู่เพียงในลำน้ำ ซึ่งจะมีการไหลล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำบางพื้นที่เท่านั้น หากมองด้วยตาแล้วอาจจะเห็นว่ามีความเร็ว และ ความแรงมากใกล้เคียงกัน ซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริง

 

1.พื้นที่น้ำท่วมและ ระยะเวลาน้ำลด:

พบว่า ในปี 2564 มีพื้นที่น้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบนประมาณ 595,000 ไร่ โดยที่พื้นที่น้ำท่วมของในปี 2554 จะมากกว่าในปี 2564 นี้ถึงประมาณ 2.5 เท่า

 

2.พื้นที่เสี่ยงที่ต้องเตรียมความพร้อม:

กรมชลประทานได้ บริหารจัดการน้ำด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท รวมถึงการตัดยอดน้ำเข้าระบบคลองชลประทานทั้งสองฝั่ง และพื้นที่ลุ่มต่ำ ซึ่งทำให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 2,700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ประกอบกับมีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เพิ่มมากขึ้น จนน้ำเต็มอ่างอย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นต้องระบายน้ำเพิ่มขึ้นเป็นอัตรา 900 ถึง 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลให้มีน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำอำเภอบางไทร 

 

จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (C.29A) อยู่ในอัตราประมาณ 3,000 ถึง 3,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที การจัดการดังกล่าวจะส่งผลให้ระดับน้ำที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยที่ระดับน้ำท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์จะเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 1.20 ถึง 2.40 เมตร และท้ายเขื่อนพระรามหกจะเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 2.30 ถึง 2.80 เมตร 

 

พื้นที่เสี่ยง 1-5 ต.ค.

ในช่วงวันที่ 1 ถึง 5 ตุลาคม 2564  จึงมีพื้นที่เสี่ยง ที่ต้องเตรียมความพร้อมเผชิญเหตุ ดังนี้


(1)จังหวัดชัยนาท: แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณตำบลโพนางดำออก และตำบลโพนางดำตก อำเภอสรรพยา
 

(2)จังหวัดสิงห์บุรี: แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณวัดเสือข้าม วัดสิงห์ อำเภออินทร์บุรี อำเภอเมืองสิงห์บุรี และอำเภอพรหมบุรี

(3)จังหวัดอ่างทอง:  คลองโผงเผง  และแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณวัดไชโย อำเภอไชโย และอำเภอป่าโมก

(4)จังหวัดลพบุรี:  ริมสองฝั่งแม่น้ำป่าสัก บริเวณอำเภอพัฒนานิคม

(5)จังหวัดพระนครศรีอยุธยา: บริเวณคลองบางบาล และริมแม่น้ำน้อย บริเวณตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ และริมสองฝั่งแม่น้ำป่าสัก อำเภอท่าเรือ และอำเภอนครหลวง อำเภอพระนครศรีอยุธยาจรดแม่น้ำเจ้าพระยา

(6)จังหวัดสระบุรี: ริมสองฝั่งแม่น้ำป่าสัก อำเภอวังม่วง อำเภอแก่งคอย อำเภอเมือง อำเภอเสาไห้ และอำเภอบ้านหมอ

(7)จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดนนทบุรี: บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกแนวคันกั้นน้ำริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

(8)กรุงเทพมหานคร: แนวคันกั้นน้ำบริเวณพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

 

3.ข้อแนะนำในการเตรียมรับมือเร่งด่วนในพื้นที่เสี่ยง:

ในพื้นที่เสี่ยงดังกล่าวในข้อ 2 ข้างต้น ควรดำเนินการในการเตรียมความพร้อม เผชิญเหตุดังนี้

(1)ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่จุดเสี่ยงบริเวณที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ แจ้งข้อมูลและแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมลำน้ำ

(2)จัดเจ้าหน้าที่ตรวจสภาพคันกั้นน้ำ และทางน้ำ ทุกวัน หากพบเห็นรอยแตกร้าว การรั่วซึม การกัดเซาะ การเกิดน้ำลอดใต้อาคาร ให้แจ้งวิศวกรเพื่อการแก้ไขซ่อมแซมอย่างเร่งด่วน ไม่ให้ขยายขนาดลุกลามเสียหาย

(3)ปรับแผนบริหารจัดการเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ โดยพร่องน้ำและบริหารพื้นที่ลุ่มต่ำ ให้เป็นแก้มลิงหน่วงน้ำ และเร่งระบายน้ำในลำน้ำ แม่น้ำ เพื่อรองรับน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบน ทั้งนี้เพื่อลดผลกระทบ ลดความรุนแรงของอุทกภัยและทำให้สถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว

(4)เตรียมแผนเผชิญเหตุ เพื่อพร้อมรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมของบุคลากร วัสดุ อุปกรณ์ กระสอบทราย เครื่องสูบน้ำ เครื่องจักร เครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการ การซ่อมแซมเร่งด่วน การให้ความช่วยเหลือและ บรรเทาผลกระทบต่อประชาชนให้ได้อย่างทันเวลา

ภาพจำ " น้ำท่วมใหญ่ กทม. 2554 " วสท. ผ่าโอกาสเสี่ยง - วิธีรับมือ

รศ.ดร.สมิตร ส่งพิริยะกิจ     ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ ได้ให้ความเห็นว่าปัจจุบันลักษณะทางกายภาพของเเม่น้ำเจ้าพระยาได้แตกต่างไปจากเมื่อปี 2554 ไปอย่างมาก กล่าวคือ มีการก่อสร้างกำแพงยกระดับริมตลิ่งทั้งสองข้างของแม่น้ำไม่ให้ท่วมเข้าในเขตเมือง ซึ่งทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยายกตัวสูงขึ้น ไม่แผ่ราบกระจายไปทั่วเช่นเมื่อก่อน การป้องกันเช่นนี้ จะเป็นการป้องกันน้ำที่หลากมาจากทางแม่น้ำ แต่จะเป็นอุปสรรคในการระบายน้ำออกจากเขตเมือง ในกรณีที่ฝนตกในพื้นที่

 

" รัฐบาลควรลงทุนในการเวนคืนและสร้างคูคลอง แม่น้ำ หรือจะเรียกว่า flood way ก็แล้วแต่ ให้เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูง ในการช่วยระบายน้ำจากแม่น้ำสายหลัก ไม่เฉพาะแม่น้ำเจ้าพระยา ที่จังหวัดชัยภูมิ และโคราช ก็เช่นกัน บริเวณเหล่านี้ เดิมเรามีคำเรียกว่า "บริเวณน้ำท่วมซ้ำซาก" การมีแม่น้ำหรือลำคลองสายใหม่ จะช่วยให้การควบคุมน้ำทางชลศาสตร์ทำได้ดี ไม่เพียงแต่ในฤดูฝน แต่จะช่วยกักเก็บและกระจายน้ำใน ฤดูแล้งได้ด้วย ในฤดูน้ำหลาก คูคลองเหล่านี้ จะพาน้ำเข้าสู่บริเวณที่เรียกว่า แก้มลิง " 

ภาพจำ " น้ำท่วมใหญ่ กทม. 2554 " วสท. ผ่าโอกาสเสี่ยง - วิธีรับมือ

ดร.เกษม ปิ่นทอง ประธานคณะอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมแหล่งน้ำ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า น้ำท่วมปี 2554 คือภาพจดจำว่าเป็นน้ำท่วมขนาดใหญ่ในพื้นที่ภาคกลาง น้ำท่วมในครั้งนั้นที่เกิดจากฝนที่ตกหนักของพายุ 5 ลูก ในพื้นที่ภาคเหนือจนทำให้ระบบเก็บกักน้ำที่มีเช่นเขื่อนภูมิพลเขื่อนสิริกิติ์ต้องเก็บกักจนเต็มความสามารถและต้องระบายลงท้ายน้ำ น้ำที่ระบายไหลรวมลงมาจากลุ่มน้ำปิง วัง ยม และน่าน มารวมที่ปากน้ำโพธิ์ จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งจะมีสถานี C.2 เป็นสถานีวัดน้ำ 

 

ถ้าเทียบสถานการณ์ เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2564 เวลา 12.00 น. ที่จากการบันทึกข้อมูลคาดว่ามีปริมาณน้ำสูงสุดอันเกิดจากอิทธิพลจากพายุลูกนี้ จะพบว่า ที่สถานี C.2 อัตราการไหลอยู่ที่ 2,700 ลบ.ม./วินาที และมีแนวโน้มปริมาณคงตัว เมื่อเทียบกับปี 2554 ในช่วงสถานการณ์ใกล้เคียงอยู่ที่ 4,335 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะเห็นว่าอัตราการไหลมีประมาณครึ่งหนึ่ง ของปี 2554 เท่านั้น 

 

วันนี้ น้ำในเขื่อนภูมิพลมีเพียง 45% ของความจุ ในเขื่อนสิริกิติ์ มีเพียง 43% ของความจุ ยังรับได้อีก 12,800 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งยังสามารถรับน้ำได้อีกหากมีพายุฝนมาเพิ่ม จากปริมาณน้ำที่ต้องเร่งระบายในลุ่มเจ้าพระยาช่วงนี้จะทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นในพื้นที่ลุ่มต่ำบ้าง หากโครงสร้างเช่นคันกันน้ำ ถนน หรือคันกันน้ำชั่วคราวมีความมั่นคงเข็งแรงเพียงพอจะประกอบกับน้ำอันเกิดจากอิทธิพลจากพายุลูกนี้เริ่มทรงตัวและมีแนวโน้มลดลงแล้ว