ชง"ศบค."ลดวันกักตัวเดินทางเข้าไทย น้อยสุดเหลือ 7 วัน

23 ก.ย. 2564 | 17:09 น.

เตรียมเสนอ"ศบค."ลดวันกักตัวเดินทางเข้าไทย 3 กลุ่ม น้อยสุดเหลือ 7 วัน คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ใช้เกณฑ์การรับวัคซีนโควิดกำหนดจำนวนวันกักตัวอย่างไร เช็กที่นี่

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2564 คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีมติเห็นชอบลดระยะเวลาการกักตัวผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศเข้าไทย จากเดิมที่ต้องกักตัวในสถานที่กักกัน 14 วัน โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

1.ลดเหลือ 7 วัน ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบโดส ต้องตรวจหาเชื้อโควิด19 ด้วยวิธี RT-PCR ก่อนเดินทางเข้าไทย และเมื่อมาถึงประเทศไทยจะต้องตรวจหาเชื้ออีก 2 ครั้ง 

2.ลดเหลือ 10 วัน ผู้ที่ไม่มีเอกสารรับรองการได้รับวัคซีนครบโดส เมื่อถึงไทยต้องตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR  2 ครั้ง 

3.กักตัวอย่างน้อย 14 วัน ผู้ที่ไม่มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน และตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR 2 ครั้ง ในวันแรกที่มาถึงประเทศไทย และวันที่ 12-13 สำหรับผู้ที่เดินทางเข้าทางบก เนื่องจากไม่มีการตรวจหาเชื้อมาก่อนและมีอัตราการติดเชื้อมากกว่าทางอากาศ 

โดยเตรียมเสนอ ศบค. พิจารณาต่อไป 

 

ชง"ศบค."ลดวันกักตัวเดินทางเข้าไทย น้อยสุดเหลือ 7 วัน

อนึ่งการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อฯในวันนี้ ได้พิจารณาประเด็นสำคัญโดยสรุป 4 เรื่อง ดังนี้ 

 

1.รับทราบการให้บริการวัคซีนโควิด 19 ของไฟเซอร์ในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปที่ศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า เพื่อเตรียมพร้อมการเปิดเรียนในสถานศึกษา รวมถึงผู้ที่ไม่อยู่ในระบบการศึกษาประมาณ 4.5 ล้านคน เพื่อให้กลับไปใช้ชีวิตปกติในโรงเรียนอย่างเร็วที่สุดภายในปี 2564

2.รับทราบแผนการให้บริการวัคซีนโควิด 19 ในเดือนตุลาคม - ธันวาคม 2564 โดยประเทศไทยสามารถจัดหาวัคซีนได้ตามแผน 125 ล้านโดส จะมีผู้ได้รับวัคซีน 62 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 90 โดยมีเป้าหมายฉีดเข็ม 1 ครอบคลุมอย่างน้อยร้อยละ 70 ภายในเดือนพฤศจิกายน และอย่างน้อยร้อยละ 80 ภายในเดือนธันวาคม

ส่วนเข็มที่ 2 ครอบคลุมอย่างน้อยร้อยละ 70 ภายในเดือนธันวาคม ส่วนผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนเชื้อตายครบ 2 เข็ม และผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด จะได้รับเข็มกระตุ้น 1 เข็ม โดยจัดสรรเดือนละ 1-2 ล้านโดส ตั้งแต่ตุลาคม - ธันวาคม 2564

3.รับทราบความคืบหน้าการเสนอร่าง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 พ.ศ. ...ซึ่งครม.เห็นชอบในหลักการแล้ว สาระสำคัญมีการกำหนดระบบและกลไกในการจัดการโรคติดต่อทั้งในสถานการณ์ปกติและสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติของ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ให้เหมาะสมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค และเพิ่มหมวดสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขขึ้นมา เพื่อให้การเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อเป็นเอกภาพ ทันการณ์ และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

 4. เห็นชอบการปรับมาตรการสำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร เกณฑ์ แนวทาง และแผนงานสำหรับพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว โดยจะมีการปรับลดระยะเวลาการกักกันผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ เนื่องจากมีการพิจารณาข้อมูลระยะเวลาที่พบการติดเชื้อในผู้เดินทาง และเพื่อให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ สามารถเดินหน้าประเทศและกระตุ้นเศรษฐกิจควบคู่กับการควบคุมโรคอย่างเหมาะสม โดยมีแผนการเปิดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินเตรียมความพร้อม โดยการกำหนดพื้นที่ขึ้นอยู่กับความครอบคลุมของการรับวัคซีน สถานการณ์ อัตราการครองเตียง และการบริหารจัดการของพื้นที่ ซึ่งจะเสนอ ศบค.พิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ ระยะแรกช่วงตุลาคม 2564 จะทดลองรับนักท่องเที่ยวไทยเข้าพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว ก่อนเปิดพื้นที่ในเดือนพฤศจิกายน 2564