2 ปัจจัยกันโควิดพันธุ์ใหม่ หมอธีระวัฒน์ชี้ฉีดวัคซีนมากป้องกันเชื้อกระจาย

20 ก.ย. 2564 | 02:58 น.

หมอธีระวัฒน์เปิด 2 ปัจจัยป้องกันโควิด-19สายพันธุ์ใหม่ พร้อมยกตัวอย่างประเทศจีนใช้ 2 แนวทางกดดันไม่ให้มีการแพร่กระจายเชื้อจากคนหนึ่งไปหาคนอื่น และการฉีดวัคซีนเข้มข้น

รายงานข่าวระบุว่า ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา (หมอธีระวัฒน์) ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha)โดยมีข้อความว่า
การป้องกันการปะทุของสายพันธุ์เพี้ยน
หมอดื้อ
คงต้องยกให้ประเทศจีนเป็นประเทศที่ใช้บริบทของ การควบคุมภายในร่างกายมนุษย์และภายนอกร่างกายมนุษย์ นั่นคือ 
1.การสร้างแรงกดดันอย่างรุนแรงไม่ให้มีการแพร่กระจายเชื้อจากคนหนึ่งไปหาคนอื่น รวมทั้งทำความสะอาดพื้นผิวสาธารณะต่างๆอย่างสม่ำเสมอ โดย
ก. การวินิจฉัยได้เร็วที่สุดและให้การรักษาเร็วที่สุด ตั้งแต่นาทีแรก
ข. ควบรวมการใช้สมุนไพรที่มีดาษดื่นและขึ้นทะเบียนในระบบสาธารณสุขของจีนอยู่แล้ว และยกระดับเป็นขั้นเป็นตอนควบกับการรักษาแผนปัจจุบัน
ค. มีการเข้มงวดตรวจคัดกรองและแยกตัวออกทันที ที่วินิจฉัยได้ว่ามีการติดเชื้อไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ใดก็ตาม

2.แรงกดดันที่สำคัญอีกประการคือ การใช้วัคซีน เป็นจำนวนมหาศาลในเวลารวดเร็วให้แก่ประชากรมากกว่าที่คิดตัวเลข 60% แต่เป็นเกือบทั้งประเทศ ยกเว้นในเด็กซึ่งในระยะแรกข้อมูลความปลอดภัยอาจจะยังไม่พอ แต่ในปี 2564 นี้เอง ที่ประเทศจีนใช้วัคซีนที่มีอยู่ดั้งเดิมที่เป็นเชื้อตายฉีดให้แก่เด็กด้วย ตั้งแต่เดือน มิถุนายน และในที่สุดตามด้วยวัคซีนเทคโนโลยีอื่น ทั้งแบบแอสตร้าเซนเนก้า และไบโอเอนเทค

การให้วัคซีนเข้มข้นปิดโอกาสไวรัสแพร่กระจาย
การให้วัคซีนอย่างเข้มข้นเช่นนี้ เป็นการปิดโอกาสหรือเปิดโอกาสน้อยที่สุดให้กับไวรัสที่จะมีการแพร่กระจายจากคนสู่คนไปเป็นลูกโซ่และกดดันไม่ให้มีการกลายพันธุ์หรือรหัสพันธุกรรมเพี้ยนจนกระทั่งสามารถตั้งตัวกลายเป็นสายพันธุ์ใหม่
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทย วันที่ 20 กันยายน 64 นั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามรายงานจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. พบว่า ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรวม 12,709 ราย มาจาก ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 11,851 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 858 ราย  ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 1,460,323 ราย  เสียชีวิตเพิ่ม 106 ราย หายป่วย 11,125 ราย กำลังรักษา 132,573 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 1,313,718 ราย

ส่วนการฉีดวัคซีนโควิดในประเทศนั้น ศูนย์ข้อมูลโควิด-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า มีการฉีดสะสมแล้วจำนวน 44,485,657 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 28,893,133 ราย ฉีดครบ 2 เข็ม จำนวน 14,971,317 ราย และฉีดเข็มที่ 3 จำนวน 621,207 ราย