Moderna-Pfizer สองวัคซีนที่เด็กไทย 12 ปีขึ้นไปสามารถเลือกฉีดได้แล้ว

19 ก.ย. 2564 | 01:50 น.

Moderna-Pfizer สองวัคซีนที่เด็กไทย 12 ปีขึ้นไปสามารถเลือกฉีดได้ ส่วน Sinopharm ต้องรออีกสักระยะหนึ่ง แนะพ่อแม่ และผู้ปกครองศึกษาหาความรู้ ระหว่างเรื่องประสิทธิผล และเรื่องความปลอดภัยหรือผลข้างเคียง

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
Moderna และ Pfizer เป็นสองวัคซีนที่เด็กไทยอายุ 12 ปีขึ้นไป สามารถเลือกฉีดได้แล้ว ส่วน Sinopharm  ต้องรออีกสักระยะหนึ่งก่อน
 สำหรับประเทศไทยเรา หลังจากที่นักเรียนต้องเรียนออนไลน์กันต่อเนื่องมายาวนาน
ทางรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายที่จะเปิดโรงเรียนอย่างเป็นทางการ ในภาคการศึกษาที่สอง
คำถามที่ตามมาทันทีก็คือ เด็กนักเรียนเหล่านี้นับล้านคน จะต้องฉีดวัคซีนให้ครบถ้วนเรียบร้อยเสียก่อน
แต่วัคซีนอะไรบ้าง ที่สามารถฉีดให้เด็กได้อย่างปลอดภัยสบายใจ
คงต้องใช้หลักว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบได้พิจารณาอนุมัติให้ฉีดได้ ในประเทศไทยก็คงใช้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)ในต่างประเทศคงใช้องค์การอนามัยโลก(WHO)
สำหรับประเทศไทย วัคซีนตัวแรกที่อย. อนุมัติให้ฉีดในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปได้คือ Pfizer

และวันนี้ทางตัวแทน ซิลลิค ฟาร์มา ประเทศไทยจำกัด ผู้นำเข้าวัคซีน Moderna ก็ได้แจ้งว่า
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือ อย.ไทย ได้อนุมัติให้วัคซีน Moderna ฉีดในสถานการณ์ฉุกเฉินในเด็กอายุ 12-17 ปีได้แล้ว
โดยวัคซีนของ Moderna ได้รับการอนุมัติให้ฉีดในสถานการณ์ฉุกเฉินในประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา(สค2564) อังกฤษ(สค2564) 
และฟิลิปปินส์(กย2564)เรียบร้อยแล้ว

Moderna เป็นวัคซีนที่เด็ก 12 ปีขึ้นไปในไทยเลือกฉีดได้
ทำให้ประเทศไทยมีวัคซีนที่สามารถฉีดในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปได้ สองชนิด คือ Pfizer และ Moderna
โดยลำดับที่สามคือ วัคซีนของ Sinopharm อยู่ในระหว่างการพิจารณา คาดว่าจะได้รับการอนุมัติในเร็ววันนี้
และในช่วงถัดไป ก็คงจะเป็นวัคซีนของ Sinovac
นั่นคือก่อนจะเปิดภาคการศึกษา ไทยจะมีวัคซีนที่ฉีดให้กับเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปได้ 4 ชนิด ได้แก่
1.Pfizer 
2.Moderna 
3.Sinopharm 
4.Sinovac

 Pfizer วัคซีนที่เด็กไทย 12 ปีขึ้นไปเลือกฉีดได้
คุณพ่อคุณแม่ และผู้ปกครอง ก็คงต้องศึกษาหาความรู้ ระหว่างเรื่องประสิทธิผล และเรื่องความปลอดภัยหรือผลข้างเคียงของวัคซีนทั้ง 4 ชนิดซึ่งแบ่งได้ออกเป็นสองกลุ่ม
กลุ่มแรกคือ เทคโนโลยี mRNA ได้แก่ Pfizer และ Moderna ที่มีประสิทธิผลค่อนข้างสูง แต่ก็มีผลข้างเคียงที่จะต้องจับตามองต่อไป โดยเฉพาะเรื่องหัวใจอักเสบในผู้ชายอายุน้อย
กลุ่มที่สองคือ เทคโนโลยีเชื้อตาย ได้แก่ Sinovac และ Sinopharm ที่มีความปลอดภัยสูงหรือผลข้างเคียงน้อย แต่ประสิทธิผลจะสู้ mRNA ไม่ได้
คุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครอง ก็ต้องชั่งใจว่า จะเน้นเรื่องประสิทธิผล หรือเน้นความปลอดภัยในการฉีดวัคซีนให้กับบุตรหลานของตนก่อน ที่จะส่งบุตรหลานไปโรงเรียนต่อไป

ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 (Covid-19)ให้เด็กต่างประเทศพบว่า 
ประเทศสหรัฐอเมริกา อนุมัติให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์ ในเด็กกลุ่มอายุ 12-15 ปี เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม
ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อนุมัติให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์ กับกลุ่มเด็กอายุ 12-15 ปี ในเดือนพฤษภาคม ต่อมาในเดือนสิงหาคมได้มีการอนุมัติให้ฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม ในกลุ่มเด็กอายุตั้งแต่ 3-17 ปี
ประเทศอินโดนีเซีย อนุมัติให้ใช้วัคซีนซิโนแวค กับกลุ่มเด็กอายุ 12-17 ปี ในวันที่ 28 มิถุนายน
ประเทศสิงคโปร์ อนุมัติให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์ กับกลุ่มเด็กอายุ 12-15 ปี ในวันที่ 1 มิถุนายน
ประเทศญี่ปุ่น อนุมัติให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์ กับกลุ่มเด็กอายุ 12-16 ปี ในเดือนมิถุนายน
ประเทศฟิลิปปินส์ อนุมัติให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์ กับกลุ่มเด็กอายุ 12-15 ปี เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม
ประเทศนิวซีแลนด์ อนุมัติให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์ กับกลุ่มเด็กอายุ 12-15 ปี เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน
ประเทศเม็กซิโก อนุมัติให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์ กับกลุ่มเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน

Sinopharm  อยู่ระหว่างการวิจัยในการฉีดให้เด็กไทย
ประเทศบราซิล อนุมัติให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์ ในกลุ่มเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน
ประเทศแคนาดา อนุมัติให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์ ในกลุ่มเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม
ประเทศชิลี อนุมัติให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์ ในกลุ่มเด็กอายุ 12-16 ปี เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม
ประเทศปารากวัย อนุมัติให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์ ในกลุ่มเด็กอายุ 12-17 ปี เฉพาะที่มีโรคประจำตัวเท่านั้น
ประเทศอิสราเอล อนุมัติให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์ ในกลุ่มเด็กอายุ 12-15 ปี ในเดือนมิถุนายน
สำหรับชาติสมาชิกอียูที่ฉีดวัคซีนให้กับเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ประกอบด้วย เดนมาร์ก ฝรั่งเศส เยอรมนี ออสเตรีย เอสโตเนีย ฮังการี อิตาลี ลิทัวเนีย สเปน โดยส่วนใหญ่ตัดสินใจเลือกวัคซีน mRNA เกือบทั้งหมด
ส่วนประเทศไทยนั้น ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ที่มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นผู้อำนวยการ มีมติเมื่อ 10 กันยายน 64  อนุมัติหลักการให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้แก่นักเรียนและนักศึกษากว่า 4.5 ล้านคน เพื่อป้องกันโควิด-19 (Covid-19) รองรับการเปิดภาคเรียน