"หมอยง" ชี้ฉีดวัคซีนชนิด mRNA ในเด็ก 12-17 ปีเสี่ยงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

10 ก.ย. 2564 | 02:07 น.

หมอยงเผยการฉีดวัคซีนชนิด mRNA ในเด็ก 12-17 ปีเสี่ยงเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ชี้ความเสี่ยงและประโยชนที่ได้ จะต้องนำมาประกอบการตัดสินใจของผู้ปกครอง

รายงานข่าวระบุว่า ศ.นพ.ยง  ภู่วรวรรณ (หมอยง) หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสเฟซบุ๊ก (Yong Poovorawan) โดยมีข้อความว่า
โควิด-19 วัคซีน
การให้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ในเด็ก
ทุกคนควรได้รับวัคซีน แต่ปัญหาโรคโควิด-19 (Covid-19)มีความรุนแรงในผู้สูงอายุหรือกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัว
เด็กถึงแม้จะเป็นโควิด จะมีอาการน้อย โอกาสเป็นปอดบวมน้อยมาก และยิ่งน้อยมาก ๆ ที่จะเสียชีวิตจากโควิด-19 
การให้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ในเด็ก วัคซีนจะต้องมีความปลอดภัยสูงมาก จึงจะคุ้มค่า เพราะตัวเด็กเอง โดยเฉพาะวัยเรียน เป็นแล้วไม่รุนแรง นอกจากจะนำเชื้อมาสู่ผู้แก่ ผู้เฒ่าที่บ้าน หรือทำให้เกิดการระบาดได้โดยเฉพาะในโรงเรียน ที่มีคนอยู่ร่วมกันมากๆ  
การให้  mRNA วัคซีนในเด็กอายุ 12-17 ปี มีความเสี่ยงในการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ถ้าคำนึงถึงผลได้ ผลเสียในระยะเวลา 120 วัน เด็กอายุ 12-17 ปี ถ้าฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 mRNA 1 ล้านคน จะป้องกันการเสียชีวิตในเด็กชายได้  2 คน และถ้าเป็น เด็กหญิง 1 คน 

ถ้าฉีดวัคซีน  mRNA  เข็มที่ 2 มีโอกาศเป็นกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ในเด็กวัยชาย (12 ถึง 17 ปี) 59 -69 คน เด็กวัยหญิง 8-10 คน ใน 1 ล้านคนที่ฉีดวัคซีน ใน (ประเทศสหรัฐอเมริกา) MMWR July 9 2021; 70 (27): 977 -982
กลุ่มเสี่ยงผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ควรจะได้รับวัคซีนก่อนให้มากที่สุด เพื่อลดความรุนแรงของโรค และอัตราการเสียชีวิตก่อน แล้วถ้าวัคซีนมีมากเพียงพอ ทุกคน ก็ควรได้รับวัคซีน รวมทั้งเด็กด้วย

การให้  mRNA วัคซีนในเด็ก12-17 ปี เสี่ยงในการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
ความเสี่ยงและประโยชนที่ได้ จะต้องนำมาประกอบการตัดสินใจของผู้ปกครอง
การฉีดวัคซีนให้กับเด็กเริ่มเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจ โดยก่อนหน้านี้  น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข ได้ออกมาแสดงความเห็น และ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้นำเสนอไปแล้ว โดยหมอเฉลิมชัยมองว่า เด็กไทย อาจเริ่มต้นฉีดวัคซีนป้องกันโควิดด้วย Sinopharm หรือ Sinovac ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเชื้อตาย ที่มีความปลอดภัยในวัคซีนหลายชนิด
หมอเฉลิมชัยยังระบุอีกว่า การฉีดวัคซีนโควิดในเด็ก ควรคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยหรือผลข้างเคียงของวัคซีนเป็นหลัก และคำนึงถึงเรื่องประสิทธิผลเป็นเรื่องรอง เพราะส่วนใหญ่เด็กและเยาวชนติดเชื้อแล้วจะป่วยไม่มากนัก ประโยชน์ที่ได้จากการป้องกันโรค เทียบกับผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นอาจต้องพิจารณาให้ดี
ในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ยังไม่เสี่ยงมาก ให้ชลอการฉีดวัคซีนไว้ก่อน จนเกิดผลงานวิจัยเพิ่มเติมเรื่องผลข้างเคียงหรือความปลอดภัย จนได้ประโยชน์คุ้มค่าจึงเริ่มฉีด

สอดคล้องกับความคิดเห็นของ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา (หมอธีระวัฒน์) ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งระบุว่า เด็กเล็กถึงโตและวัยรุ่น ควรได้วัคซีน โดยวัคซีนเชื้อตายจะมีความปลอดภัยมากที่สุด
จากข้อมูลในประเทศไทยเอง จะพบว่าผู้ใหญ่ที่ได้รับวัคซีนเชื้อตายเช่น ซิโนแวค ซิโนฟาร์ม  ครบสองเข็มและหลังจากนั้นตามต่อด้วยวัคซีนเช่น แอสตร้าเซนเนก้า หรือ ไฟเซอร์ โมเดอร์นา จะมีระดับของภูมิคุ้มกันที่สามารถยับยั้งไวรัสหรือที่เรียกว่าภูมิดีขึ้นสูงมากถึงระดับเกือบ 100% และสามารถมีประสิทธิภาพครอบคลุมสายพันธุ์อื่นเช่นเดลต้าได้อย่างดีมาก ซึ่งควรจะได้รับผลเช่นเดียวกันในกลุ่มเด็กแล้วจะทันไม่สามารถครอบคลุมคนไทยได้ทุกอายุในประเทศไทย