ซีพี เปิด 4 กลยุทธ์รับมือโลก ปั้นแพลตฟอร์มเสริมศักยภาพ SMEs

27 ส.ค. 2564 | 21:55 น.

ซีพี เปิด 4 กลยุทธ์รับมือโลกหลังวิกฤติโควิด-19 ชูโมเดล “แพลตฟอร์มแห่งโอกาส” พัฒนาระบบ เพิ่มศักยภาพ SMEs พร้อมเดินหน้าขยายธุรกิจสู่ตลาดต่างประเทศ

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เปิดเผยว่า เครือซีพี พร้อมขับเคลื่อนธุรกิจหลังวิกฤติโควิดด้วย 4 กลยุทธ์สำคัญ ได้แก่ 1. เร่งครื่องการลงทุน 2. เร่งเครื่องการเดินหน้าบนเวทีโลก 3. ลดความซับซ้อนของโครงสร้างธุรกิจของเครือเพื่อเพิ่มความคล่องตัวและความรวดเร็วในการดำเนินธุรกิจ

 

และ 4. สร้างแพลตฟอร์มทางธุรกิจเพื่อขยายความร่วมมือกับธุรกิจ ผู้ประกอบการอื่นๆของไทย รวมถึงเกษตรกรจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยเข้าถึงตลาดต่างประเทศ

 

“ช่วงเวลาที่ไม่แน่นอนแบบนี้ ซีพีจะต้องไม่ชะลอการลงทุน ในทางกลับกันจะต้องเร่งแผนการลงทุนของธุรกิจต่างๆ ในเครือ โดยเดินหน้าลงทุนในโครงการใหม่ๆ และรวมถึงโครงการที่มีอยู่แล้ว เพื่อให้เกิดการสร้างงานและสร้างธุรกิจ ค้าขายดีลใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ SMEs และเกษตรกรเล็กๆ รวมจำนวนมากกว่า 1.2 ล้านราย ที่มีความร่วมมือทางธุรกิจกันอยู่แล้วทั้งทางตรงและทางอ้อม”

 

การเงินใช้จ่ายต่างๆ ของธุรกิจต่างๆ ในเครือซีพีน่าจะกระจายต่อไปสู่หลากหลายชุมชนและหลากหลายธุรกิจ ทุกขนาด นอกจากนั้นยังมีเงินจำนวนอีกเกือบ 2 พันล้านบาทที่เครือซีพีได้บริจาค เพื่อการช่วยเหลือต่างๆ ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการระบาดของโควิด-19

 

ขณะที่การลงทุนในต่างประเทศที่เครือซีพีกำลังเร่งเครื่อง มีการริเริ่มโปรเจ็กต์ใหญ่ๆ หลายอย่างที่กำลังมีความคืบหน้าไปอย่างรวดเร็วในปีนี้จะสามารถช่วยเพิ่มตัวตนและสถานภาพที่แข็งแกร่งของธุรกิจไทยในตลาดต่างประเทศได้

 

นายศุภชัย กล่าวว่า การระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 ทำให้สภาพแวดล้อมทางธุรกิจเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลกระทบเสียหายอย่างรุนแรงต่อธุรกิจ SMEs ในประเทศไทย ขณะเดียวกันสร้างผลกระทบทำให้เกิดบริษัทยักษ์ใหญ่ ในระดับนานาชาติ ที่ปัจจุบันกลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าทางธุรกิจมากกว่า GDP ของหลายประเทศในโลก

ซีพี เปิด 4 กลยุทธ์รับมือโลก ปั้นแพลตฟอร์มเสริมศักยภาพ SMEs

ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจทั้งสองด้านส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยบนเวทีระดับโลก อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจในประเทศ จากการที่ SMEs ไทยอ่อนแอลง

 

สำหรับเครือเจริญโภคภัณฑ์ซึ่งมี 14 กลุ่มธุรกิจ จะปรับลดความซับซ้อนของโครงสร้างธุรกิจ เพื่อช่วยทำให้บริษัทในเครือซีพี สามารถตัดสินใจต่างๆ ระหว่างบริษัทได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น เป็นการทำงานในยุคของโลกที่ความเร็วเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างมากต่อความสำเร็จของธุรกิจ

 

สิ่งที่สำคัญในการเตรียมความพร้อมสำหรับโลกหลังวิกฤติโควิด-19 ของธุรกิจในเครือซีพี คือ การก้าวไปข้างหน้าให้ได้ไกลกว่าการเป็นเพียงผู้ผลิตสินค้าและการบริการเท่านั้น โดยเครือซีพีจะเดินหน้าสู่การเป็นแพลตฟอร์มที่ส่งเสริม SMEs และผู้ประกอบการธุรกิจอื่นๆ ในการพัฒนาศักยภาพ พร้อมกับเปิดประตูไปสู่โอกาสใหม่ๆ เพื่อการเติบโตทางธุรกิจทั้งในประเทศไทยและระดับโลก

 

โดยโครงการ “แพลตฟอร์มแห่งโอกาส” นั้น บริษัทกำลังพัฒนาระบบที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการและธุรกิจอื่นๆ ของประเทศไทย รวมถึงเกษตรกรจำนวนมากสามารถเข้าถึงตลาดต่างประเทศได้โดยผ่านการทำงานร่วมกันกับบริษัทในเครือซีพี

 

“หากเครือซีพีสามารถเป็นแพลตฟอร์มที่สนับสนุนและร่วมมือทางธุรกิจกับ SMEs ไทยได้ จะช่วยเพิ่มศักยภาพ และช่วยให้ SMEs สามารถเข้าถึงตลาดที่ปกติแล้วจะมีแต่บริษัทใหญ่ๆ ที่สุดของไทยเท่านั้นที่จะสามารถเข้าได้ เป็นการปลดล็อกศักยภาพทางเศรษฐกิจใหม่อย่างมหาศาล นำความรุ่งเรืองมาสู่คนนับล้าน และตอกย้ำเส้นทางการดำเนินธุรกิจของเครือซีพีในระดับสากล ผ่านแนวคิดแบบ Win-Win ด้วย”

 

ทั้งนี้โมเดลธุรกิจ แพลตฟอร์มแห่งโอกาส นี้เป็นแนวทางหนึ่งที่ดีที่สุดในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของประเทศไทย ในโลกยุคใหม่หลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพราะเป็นการรวมพลังและระดมศักยภาพของ SMEs หลายหมื่นรายและวิสาหกิจไทยอื่นๆ ออกไปสู้บนเวทีระดับโลก

 

ซึ่งวันนี้บริษัทไทยต้องร่วมมือกันให้ได้มากที่สุดอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน เพื่อสร้างพลังร่วมกัน ส่งเสริมความสามารถการแข่งขันของประเทศไทยบนเวทีเศรษฐกิจโลกต่อไปในอนาคต เช่นเดียวกับที่บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกในสหรัฐอเมริกา ยุโรป จีน ญี่ปุ่น หรือเกาหลี ที่สนับสนุนและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศบ้านเกิด และบริษัทในประเทศของตัวเอง

 

หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,708 วันที่ 26 - 28 สิงหาคม พ.ศ. 2564