เช็กเลย! "โฆษณาผลิตภัณฑ์สมุนไพร" อะไรทำได้-ไม่ได้ ประกาศสธ.มีผลวันนี้

25 ส.ค. 2564 | 23:30 น.

ราชกิจจาฯ ประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข"โฆษณาผลิตภัณฑ์สมุนไพร"เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ห้ามโฆษณาก่อให้เกิดความแตกแยกหรือเสื่อมเสียความสามัคคีในหมู่ประชาชน-ห้ามล่อรางวัลด้วยการเสี่ยงโชค-ห้ามโฆษณารักษามะเร็ง เบาหวาน โรคเรื้อน วัณโรค เอดส์ ฯลฯ

วันที่ 25 ส.ค.2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการโฆษณาผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. ๒๕๖๔

 

โดยที่เป็นการสมควรกําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการโฆษณาผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะและการคุ้มครองผู้บริโภค

 

อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๕ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๖ (๒๑) แห่งพระราชบัญญัติ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. ๒๕๖๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยคําแนะนําของคณะกรรมการ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ในการประชุมครั้งที่ ๓/๒๕๖๔ เมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๖๔ จึงออกประกาศ กําหนดไว้ ดังต่อไปนี้

 

ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการโฆษณาผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. ๒๕๖๔”

 

ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ ๓ การโฆษณาผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้โฆษณาได้ ดังต่อไปนี้

 

(๑) การโฆษณาด้วยข้อความตามที่ได้รับอนุญาตในการขึ้นทะเบียนตํารับ รับแจ้งรายละเอียด หรือรับจดแจ้งผลิตภัณฑ์สมุนไพร

 

(๒) การโฆษณาข้อมูลเกี่ยวกับราคา

 

(๓) การโฆษณาเครื่องหมายหรือการรับรองต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์สมุนไพร

 

(๔) การโฆษณาข้อมูลงานวิจัยที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สมุนไพร

 

(๕) การโฆษณาอื่นที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ตามที่เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาประกาศกําหนด

 

ข้อ ๔ ห้ามโฆษณาผลิตภัณฑ์สมุนไพรในลักษณะที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค หรืออาจก่อให้เกิด ผลเสียต่อสังคมอันเป็นส่วนรวม ดังต่อไปนี้

 

(๑) โฆษณาที่รวมอยู่กับการถวายพระพร หรือการกระทําอย่างอื่นที่อ้างอิงเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์

 

(๒) โฆษณาที่อาจก่อให้เกิดความแตกแยกหรือเสื่อมเสียความสามัคคีในหมู่ประชาชน

 

(๓) โฆษณาที่เป็นการสนับสนุนโดยตรงหรือโดยอ้อมให้มีการกระทําผิดกฎหมาย หรือขัดต่อศีลธรรม หรือนําไปสู่ความเสื่อมเสียในประเพณีและวัฒนธรรมอันดีของชาติ

 

(๔) โฆษณาที่อาจก่อให้เกิดพฤติกรรมลอกเลียนแบบที่จะนํามาซึ่งอันตรายหรือความรุนแรง

 

(๕) โฆษณาที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสําคัญของผลิตภัณฑ์สมุนไพร

 

(๖) โฆษณาที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในราคาของผลิตภัณฑ์สมุนไพร รวมถึงโฆษณาราคาเกินกว่าที่ปรากฏในฉลาก

 

(๗) โฆษณาโดยไม่สุภาพ หรือแสดงความทุกข์ทรมานของผู้ป่วย

 

(๘) โฆษณาโดยนําเสนอเนื้อหาว่าได้จัดให้มีการแถมพก หรือรางวัลด้วยการเสี่ยงโชค ซึ่งมิได้ปฏิบัติตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

(๙) โฆษณาข้อมูลงานวิจัยด้านสรรพคุณ หรือข้อความกล่าวอ้างทางสุขภาพของส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร หรือผลิตภัณฑ์สมุนไพร ที่ไม่สอดคล้องกับสรรพคุณ หรือข้อความกล่าวอ้างทางสุขภาพ ที่ได้รับอนุญาตในการขึ้นทะเบียนตํารับ รับแจ้งรายละเอียด หรือรับจดแจ้งผลิตภัณฑ์สมุนไพร หรือไม่น่าเชื่อถือ

 

(๑๐) โฆษณาชักชวนให้ผู้บริโภคใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรอย่างพร่ำเพรื่อ เกินความจําเป็น

 

(๑๑) โฆษณาสรรพคุณที่ทําให้แท้งลูกหรือช่วยขับระดูอย่างแรง (๑๒) โฆษณาสรรพคุณที่ช่วยบํารุงกาม หรือ คุมกําเนิด

 

(๑๓) โฆษณาคุณประโยชน์ของผลิตภัณฑ์สมุนไพรว่าสามารถป้องกัน บําบัด บรรเทา รักษา มะเร็ง เบาหวาน โรคเรื้อน วัณโรค เอดส์ โรค หรือ อาการของโรคทางสมอง หัวใจและหลอดเลือด ปอด ม้าม ตับ ไต ตา และโรคอื่น ๆ ตามที่เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาประกาศกําหนด

 

(๑๔) โฆษณาที่เป็นการทับถมหรือเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์สมุนไพรอื่น ยกเว้นการเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์ของผู้รับใบสําคัญการขึ้นทะเบียนตํารับ ผู้รับใบรับจดแจ้ง หรือผู้รับใบรับแจ้งรายละเอียด รายเดียวกัน

 

(๑๕) โฆษณาผลิตภัณฑ์สมุนไพรใช้เฉพาะสถานพยาบาล

 

ความใน (๑๑) (๑๒) (๑๓) (๑๔) และ (๑๕) ไม่ใช้บังคับแก่การโฆษณาซึ่งกระทําโดยตรงต่อผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพ การแพทย์แผนไทย และผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ทั้งนี้ การโฆษณาซึ่งกระทํา โดยตรงต่อผู้ประกอบวิชาชีพดังกล่าว ต้องได้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๗๐

 

ความใน (๑๑) (๑๒) และ (๑๓) ไม่ใช้บังคับแก่การแสดงข้อความที่อยู่บนฉลากและเอกสาร กํากับผลิตภัณฑ์สมุนไพร

ข้อ ๕ การโฆษณาผลิตภัณฑ์สมุนไพร ต้องแสดงข้อความหรือสัญลักษณ์ ดังนี้

 

(๑) แสดงชื่อผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ถูกต้องอย่างน้อย ๑ ครั้ง หรือ ๑ แห่ง ที่ตรงตามใบสําคัญ การขึ้นทะเบียนตํารับผลิตภัณฑ์สมุนไพร ใบรับแจ้งรายละเอียดผลิตภัณฑ์สมุนไพร หรือใบรับจดแจ้ง ผลิตภัณฑ์สมุนไพร หรือชื่อของวัตถุที่มุ่งหมายสําหรับใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพร

 

(๒) แสดงเลขที่ใบอนุญาตโฆษณาในสื่อโฆษณาทุกชนิดที่ได้รับอนุญาตให้ชัดเจน โดยอาจให้ แสดงรหัส สัญลักษณ์ทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับอนุญาตจากสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมด้วยก็ได้

 

(๓) แสดงข้อความ ดังต่อไปนี้ “ผู้บริโภคสามารถแจ้งความเสียหายที่เกิดขึ้นจากผลิตภัณฑ์ สมุนไพรที่สายด่วน อย. ๑๕๕๖”

 

(๔) กรณีมีการแสดงคําเตือนที่ฉลาก หรือ เอกสารกํากับผลิตภัณฑ์ให้แสดงข้อความ ดังต่อไปนี้ “อ่านคําเตือนในฉลากและเอกสารกํากับผลิตภัณฑ์ก่อนใช้”

 

การแสดงข้อความตาม (๑) (๒) (๓) และ (๔) ด้วยตัวอักษรต้องสามารถอ่านได้ชัดเจน หรือการแสดงข้อความตาม (๑) (๒) (๓) และ (๔) ด้วยเสียงต้องสามารถรับฟังได้อย่างชัดเจน ความเร็วและความดังของเสียงต้องสม่ำเสมอ  

 

ทั้งนี้ การโฆษณาผ่านทางสิ่งของสําหรับแจกหรือของชําร่วย ให้ยกเว้นการแสดงข้อความ ตาม (๒) (๓) และ (๔) และการโฆษณาทางสื่อเสียงที่มีระยะเวลาโฆษณาน้อยกว่า ๑๐ วินาที ให้ยกเว้นการแสดงข้อความตาม (๓) และ (๔)

 

ข้อ ๖ เงื่อนไขในการโฆษณาผลิตภัณฑ์สมุนไพร มีดังต่อไปนี้

 

(๑) โฆษณาตามที่ได้รับอนุญาต

 

(๒) การโฆษณาผ่านอินเทอร์เน็ต สื่อสังคม (Social Media) หรือสื่ออื่นใดของผู้ได้รับอนุญาตโฆษณา หากมีบุคคลได้แสดงความคิดเห็นต่อสื่อโฆษณา โดยใช้ข้อความในลักษณะซึ่งขัดต่อกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์สมุนไพร ให้ผู้ได้รับอนุญาตโฆษณามีหน้าที่ควบคุม และเฝ้าระวังการแสดง ความคิดเห็นเหล่านั้นมิให้เผยแพร่ต่อไป

 

(๓) หากใบสําคัญการขึ้นทะเบียนตํารับผลิตภัณฑ์สมุนไพร ใบรับแจ้งรายละเอียด หรือใบรับจดแจ้ง ของผลิตภัณฑ์สมุนไพรนั้นถูกยกเลิกหรือเพิกถอน หรือมีคําสั่งจากผู้อนุญาตให้เพิกถอนใบอนุญาตโฆษณา ให้ผู้ได้รับอนุญาตโฆษณางดเว้น หรือยุติการเผยแพร่โฆษณาผลิตภัณฑ์สมุนไพรดังกล่าวผ่านสื่อโฆษณาทั้งหมด

 

(๔) การโฆษณาเครื่องหมายหรือการรับรองต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์สมุนไพร ต้องมีหลักฐานแสดงว่าได้รับการรับรองจริง โดยหลักฐานจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา

 

ประกาศ ณ วันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๔

 

อนุทิน ชาญวีรกูล

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

  เช็กเลย! "โฆษณาผลิตภัณฑ์สมุนไพร" อะไรทำได้-ไม่ได้ ประกาศสธ.มีผลวันนี้   เช็กเลย! "โฆษณาผลิตภัณฑ์สมุนไพร" อะไรทำได้-ไม่ได้ ประกาศสธ.มีผลวันนี้   เช็กเลย! "โฆษณาผลิตภัณฑ์สมุนไพร" อะไรทำได้-ไม่ได้ ประกาศสธ.มีผลวันนี้