"Pfizer"-"Moderna" คุมได้ดีทั้งโควิดสายพันธุ์อัลฟา เบต้า และแกมม่า

23 ส.ค. 2564 | 13:09 น.

หมอเฉลิมชัยเผยข้อมูลการศึกษาจากแคนาดาพบวัคซีน Pfizer และ Moderna คุมได้ดีทั้งโควิดสายพันธุ์อัลฟา เบต้า และแกมม่า

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า  
รายงานการศึกษาจากแคนาดา พบว่า วัคซีน Pfizer และ Moderna มีประสิทธิผล ป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการได้ 91% ป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงจนต้องนอนโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ 98%  คุมได้ดีทั้งไวรัสสายพันธุ์ อัลฟา เบต้า และแกมม่า
คำถามที่ประชาชนทั่วโลกต้องการคำตอบทางวิชาการ จากนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย หรือแพทย์ ก็คือ
วัคซีนตัวไหน มีประสิทธิผลในการป้องกันโรคดีกว่ากัน และต่อสายพันธุ์ต่างๆแตกต่างกันหรือไม่อย่างไร
คำตอบนี้ จำเป็นจะต้องมีความเข้าใจและรับทราบในประเด็นดังต่อไปนี้
1.ประสิทธิผล (Efficacy) ที่ได้จากการทดลองในอาสาสมัคร (Clinical Trial) จะมีข้อจำกัดในความน่าเชื่อถือและการอ้างอิง แต่ออกมาก่อนใช้จริงในคนหมู่มาก จึงมักเป็นที่รับทราบของคนทั่วไป
2.ประสิทธิผล (Effectiveness ) ที่ได้จากในโลกแห่งความเป็นจริง (Real World) จะมีความน่าเชื่อถือและอ้างอิงได้มากขึ้น แต่ก็จะมีข้อจำกัดในเรื่องความแตกต่างของการศึกษาในแต่ละประเทศ คนละห้วงเวลา และหลายปัจจัยตัวแปร ยกเว้นจะมีการศึกษาวัคซีนหลายชนิด ในประเทศเดียวกัน ห้วงเวลาเดียวกัน และทำการออกแบบการศึกษาให้รัดกุม แต่คนทั่วไปก็จะไม่ค่อยได้รับทราบ และมักจะจำข้อมูลประสิทธิผลการทดลองในอาสาสมัครไปก่อนแล้ว

วัคซีนเทคโนโลยี mRNA ทั้ง Pfizer และ Moderna มีประสิทธิผลการทดลองในอาสาสมัคร (Efficacy) สูงในระดับ 95 และ 94% ตามลำดับ
ส่วนประสิทธิผลในโลกแห่งความจริง (Effectiveness) ก็มีค่าลดลงมากบ้าง น้อยบ้าง ตามแต่ละรายงานการศึกษา

Pfizer-Moderna  คุมได้ดีทั้งไวรัสสายพันธุ์ อัลฟา เบต้า และแกมม่า
รายงานล่าสุด ที่เพิ่งได้รับการตีพิมพ์เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2564 เป็นรายงานที่มีขนาดใหญ่ และออกแบบการเก็บข้อมูลไว้อย่างดี ที่แคนาดา ในเขต Ontario
โดยเป็นการเก็บข้อมูลในช่วงวันที่ 14 ธันวาคม 2563 ถึง 19 เมษายน 2564
เก็บข้อมูลจากคนที่มีอาการคล้ายจะเป็นโควิดหรือเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ จำนวน 324,033 ราย
นำมาตรวจด้วยวิธี RT-PCR ทั้งหมดพบว่าเป็นโควิดจริง 16.4% หรือ 53,270 ราย
ในกลุ่มที่มีผลทดสอบเป็นบวกนี้ แยกเป็นผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน 51,220 รายหรือ 96.15% และเป็นผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้ว 2050 ราย หรือ 3.5%
ในกลุ่มที่ฉีดวัคซีนนี้
ฉีดเข็มเดียว 1977 ราย 3.71% 
ฉีดครบสองเข็ม 73 ราย 0.14%

จะเห็นได้ชัดเจนว่า วัคซีนมีส่วนช่วยในการป้องกันการติดเชื้อแบบแสดงอาการ
เมื่อนำมาคำนวณทางสถิติ พบว่าในกลุ่มที่ติดเชื้อแบบมีอาการ มีประสิทธิผลในการป้องกันที่ 91% 
ถ้าดูเฉพาะกรณีฉีดเข็มเดียว ประสิทธิผลจะอยู่ที่ 60%
ส่วนในกลุ่มที่ป้องกันอาการรุนแรงจนต้องนอนโรงพยาบาลหรือเสียชีวิต จะมีประสิทธิผล 98% ในกรณีฉีดเข็มเดียวจะมีประสิทธิผล 70%
ทั้งนี้ได้วิเคราะห์สายพันธุ์ของไวรัสที่เกิดขึ้น ในกลุ่มที่ได้รับการศึกษา พบว่าเป็นสายพันธุ์ อัลฟา เบต้า และแกมมา ยังไม่มีเดลตา
จึงทำให้ได้ข้อสรุปว่า
วัคซีนเทคโนโลยี mRNA ทั้งสองชนิด สามารถป้องกันไวรัสในกลุ่ม VOC ( Variant of Concern) ได้ดี ยกเว้นสายพันธุ์เดลตา
สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทยนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลการรายงานจากศูนย์ข้อมูลโควิด-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.- พบว่า มีการฉีดสะสมแล้ว 27,038,999 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 20,430,028 ราย ฉีดครบ 2 เข็มจำนวน 6,065,003 ราย และฉีดเข็มที่ 3 จำนวน 543,968 ราย