เปิดผลวิจัยเทียบประสิทธิผลวัคซีน Pfizer-AstraZeneca สองเข็ม

22 ส.ค. 2564 | 13:11 น.

หมอเฉลิมชัยเปิดผลวิจัยเทียบประสิทธิผลวัคซีน Pfizer-AstraZeneca สองเข็ม พบว่าประสิทธิผลของ Pfizer สูงกว่า แต่ก็ลดลงเร็วกว่า

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า  
เทียบประสิทธิผลของวัคซีน Pfizer สองเข็ม กับ AstraZeneca สองเข็ม พบว่าประสิทธิผลของ Pfizer สูงกว่า แต่ก็ลดลงเร็วกว่า
รายงานการศึกษาที่ประเทศอังกฤษเก็บข้อมูลโดยมหาวิทยาลัย Oxford ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ (Britain’s office of National Statistics)
โดยการเก็บข้อมูลการตรวจพบเชื้อโคโรนาไวรัส โดยวิธีมาตรฐาน PCR ในสองช่วงเปรียบเทียบกัน
ช่วงแรกคือ 1 ธันวาคม 2563 ถึง 16 พฤษภาคม 2564 จากประชากรกว่า 3.81 แสนคน 2.58 ล้านตัวอย่าง ซึ่งไวรัสที่เป็นหลักขณะนั้นคืออัลฟา
ช่วงที่สองคือ 17 พฤษภาคม 2564 ถึง 1 สิงหาคม 2564 จากประชากร 3.61 แสนคน 8.1 แสนตัวอย่าง ซึ่งไวรัสที่เป็นหลักคือเดลตา
พบว่าในผู้ที่ฉีดวัคซีน Pfizer สองเข็มเปรียบเทียบกับ Astra สองเข็ม สามเดือนหรือ 90 วันหลังจากฉีดเข็มสองมีประสิทธิผล (Effectiveness) ในการป้องกันต่อไวรัสสายพันธุ์เดลตาลดลงทั้งคู่ เมื่อเทียบกับประสิทธิผลต่อไวรัสสายพันธุ์อัลฟา
โดยหลังฉีดเข็มสอง วัคซีน Pfizer ให้ประสิทธิผล 85% ขณะที่ Astra ให้ประสิทธิผล 68%
เมื่อผ่านไป 3 เดือน ประสิทธิผลของวัคซีน Pfizer ลดลง 10% จาก 85% เหลือ 75%
ส่วน Astra ลดลง 7% จาก 68%  เหลือ 61%

ซึ่งทำให้นักวิชาการได้ลองพยายามทำการคาดการณ์ทางสถิติว่า อัตราการลดลงของ Pfizer ซึ่งเร็วกว่าของ Astra อาจจะลดลงไปเหลือเท่าๆกันที่ประมาณ 5 เดือนหลังเข็มสอง และหลังจากนั้น อาจจะกลายเป็นว่าระดับประสิทธิผลการป้องกันของ Pfizer อาจต่ำกว่าได้

เทียบประสิทธิผลของวัคซีน Pfizer กับ Astra สองเข็ม

แต่เป็นเพียงการคาดคะเนทางการคำนวณ จำเป็นจะต้องติดตามการเก็บข้อมูลเรื่องนี้ต่อไป ข้อมูลในลักษณะดังกล่าว ทำให้หลายประเทศ เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องเตรียมการฉีดกระตุ้นเข็มสามให้กับประชากร โดยเฉพาะที่มีไวรัสสายพันธุ์เดลตาเป็นหลัก
ขณะนี้อิสราเอลได้เริ่มฉีดเข็มสามไปแล้ว ในเดือนกรกฎาคม 2564
ในขณะที่สหรัฐฯ ให้ฉีดเข็มสามเฉพาะในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ แต่ก็มีแนวโน้มที่จะฉีดกระตุ้นเข็มสามในอนาคตด้วยเช่นกัน

ในรายงานวิจัยดังกล่าว ได้ใช้ข้อความถึงวัคซีน Pfizer ว่า
Greater initial effectiveness
Faster declines in protection…
สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทยนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลการรายงานจากศูนย์ข้อมูลโควิด-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-21 ส.ค. 64 พบว่า มีการฉีดสะสมแล้วจำนวน 26,832,179 โดส แบ่งเป็น เข็มที่ 1 จำนวน 20,272,171 ราย ฉีดครบ 2 เข็มแล้วจำนวน 6,017,820 ราย และฉีดเข็มที่ 3 จำนวน 542,188 ราย