ครม.เคาะ ซื้อวัคซีนไฟเซอร์ 30 ล้านโดส ถึงไทยไตรมาส4

17 ส.ค. 2564 | 07:22 น.

มติครม.ล่าสุด อนุมัติงบ 9.3 พันล้านบาท ชำระค่าวัคซีนโควิดไฟเซอร์จำนวน 20 ล้านโดส และมีมติสั่งซื้อเพิ่มอีก 10 ล้านโดส ส่งถึงไทยช่วงไตรมาส 4 

วันที่ 17 สิงหาคม 2564 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เแถลงมติครม.ว่า ครม.อนุมัติกรอบวงเงินจำนวน 9.3 พันล้านบาท เพื่อชำระค่าสั่งซื้อวัคซีนโควิด ยี่ห้อไฟเซอร์ จำนวน 20 ล้านโดส ที่เคยลงนามไปแล้วก่อนหน้านี้ 

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

โดยกรอบวงเงินจำนวนเงิน 9.3 พันล้านบาท ประกอบด้วยค่า วัคซีนจำนวน 8.4 พันล้าน และค่าบริการจัดการ 933 ล้านบาท  โดยจะมีการส่งมอบในช่วงไตรมาส 4 ที่จะถึงปลายเดือนกันยายนถึงตุลาคมนี้ 

นายอนุชา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบให้จัดซื้อวัคซีนไฟเซอร์เพิ่มเติมอีก 10ล้านโดส โดยให้กรมควบคุมโรค เป็นผู้ลงนามกับไฟเซอร์ ดังนั้น จะทำให้การจัดหาวัคซีน mRNA จะเป็นเจำนวนพิ่มเติมอีก 10 ล้านโดส ในไตรมาส 4 

"ดังนั้นรวมแล้วจะมีวัคซีนไฟเซอร์จะเข้ามา 30 ล้านโดสในไตรมาสที่ 4" นายอนุชา ระบุ  

ครม.เคาะ ซื้อวัคซีนไฟเซอร์ 30 ล้านโดส ถึงไทยไตรมาส4

โดยในรายละเอียด นายอนุชา กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับบริการประชากรในประเทศไทย เพิ่มเติม จำนวน 20,001,150 โดส (Pfizer) กรอบวงเงินจำนวน 9,372.7645 ล้านบาท แบ่งเป็น

  • การจัดหาวัคซีน 8,439.1131  ล้านบาท
  • การบริหารจัดการ 933.6514 ล้านบาท

ช่วงระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ สิงหาคม-ธันวาคม  เพื่อจัดหาวัคซีนโควิด-19 สำหรับสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชน โดยกลุ่มเป้าหมายสามารถปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าโครงการจัดหาวัคซีนโควิด-19 เพิ่มเติม (Pfizer) จำนวน 20,001,150 โดส ของกรมควบคุมโรค ตามนโยบายรัฐบาลที่จะจัดหาวัคซีนให้แก่ประชาชน 100 ล้านโดส ภายในสิ้นปี 2564 สำหรับสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค

ประกอบกับ ขณะนี้มีผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19 ที่ใช้เทคโนโลยีในการผลิตที่หลากหลาย รัฐบาลจึงเห็นควรให้มีจัดหาวัคซีนที่มีเทคโนโลยีการผลิตที่แตกต่างกันให้สามารถครอบคลุมการกลายพันธุ์ของไวรัส โควิด-19 ที่มีอยู่ทั่วโลกทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ซึ่งจะช่วยให้สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่แก่คนไทยได้อย่างแท้จริง ลดอัตราการป่วย/การเสียชีวิต และลดค่าใช้จ่ายภาครัฐในการดูแลรักษาผู้ป่วยจากโรค COVID-19

รวมทั้งลดผลกระทบ/พื้นฟูสภาพเศรษฐกิจและสังคมให้กลับสู่สภาวะปกติได้โดยเร็ว

นายอนุชา กล่าวอีกว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ยังรับทราบการจัดสั่งซื้อวัคซีนไฟเซอร์เพิ่มเติมอีก 10 ล้านโดส พร้อมมอบให้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขได้ลงนามกับผู้แทนบริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัดและไบออนเทค ทำให้การจัดซื้อวัคซีนไฟเซอร์ซึ่งเป็นวัคซีนชนิด mRNA  เพิ่มจำนวนเป็น 30 ล้านโดส ซึ่งจะเริ่มทยอยจัดส่งในไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 นี้ 

นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณทุกหน่วยงานที่สนับสนุนให้สามารถจัดหาวัคซีนไฟเซอร์ 30 ล้านโดส รวมถึงวัคซีนเทคโนโลยีต่างๆ มาฉีดให้แก่ประชาชน และขอให้มีการบริหารจัดการกระจายวัคซีนให้ดีด้วยแผนที่ชัดเจน รวมถึงการให้ข้อมูลการจัดสรรแก่ประชาชนต่อไป

การทำข้อตกลงเพื่อจัดหาวัคซีนไฟเซอร์ในครั้งนี้ จะทำให้ไทยมีวัคซีนโควิด-19 กระจายให้ประชาชนเกือบครบทุกชนิด ทั้งในส่วนของ mRNA ของไฟเซอร์ และโมเดอร์นา ชนิดเชื้อตาย ของซิโนแวคและซิโนฟาร์ม ชนิดไวรัลเวกเตอร์ ของแอสตร้าเซนเนก้า

ทั้งนี้ วัคซีนไฟเซอร์ ได้รับการขึ้นทะเบียนแบบมีเงื่อนไขจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2564 และเป็นวัคซีนที่ขึ้นทะเบียนให้ใช้สำหรับผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไปได้