ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าตามด้วยไฟเซอร์กระตุ้นภูมิดีกว่าฉีดยี่ห้อเดียว

15 ส.ค. 2564 | 04:50 น.
อัพเดตล่าสุด :16 ส.ค. 2564 | 11:55 น.

หมอเฉลิมชัยเผยข้อมูลวิจัยการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าตามด้วยไฟเซอร์กระตุ้นภูมิได้ดีกว่าฉีดยี่ห้อเดียวกัน 2 เข็ม

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า  
ฉีดวัคซีนสลับแบบ Astra ตามด้วย Pfizer พบว่ากระตุ้นภูมิคุ้มกันและกระตุ้นทีเซลล์ได้ดีกว่า ฉีดวัคซีนสองเข็มเหมือนกัน
ด้วยเหตุผลที่สถานการณ์วัคซีนขาดแคลนอย่างมาก เมื่อฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้ว อาจมีเหตุการณ์ไม่สามารถหาวัคซีนเข็มสองที่เป็นชนิดเดียวกันมาฉีดได้ หรือในบางกรณีฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้วมีผลข้างเคียง ทำให้มีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนเข็มสองที่แตกต่างไปจากวัคซีนเข็มแรก
ในอดีต วัคซีนที่เราฉีดและคุ้นเคยกันดีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ก็มีการฉีดวัคซีนเข็มสองที่แตกต่างจากเข็มหนึ่งมาโดยตลอด ด้วยเหตุผลความจำเป็นต่างๆ ก็พบว่าไม่มีผลข้างเคียงที่รุนแรง และไม่มีประสิทธิผลที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ดี วัคซีนโควิดเป็นวัคซีนที่เพิ่งวิจัยพัฒนาใหม่ ถ้าจำเป็นจะต้องริเริ่มการฉีดแบบสลับเข็มกัน ที่เรียกว่า Mix and Match หรือ Heterologous Regimen จำเป็นจะต้องมีการศึกษาวิจัย เก็บข้อมูล อย่างน้อยก็ให้มีความมั่นใจในระดับหนึ่งเสียก่อน
การฉีดเข็มหนึ่งด้วยวัคซีน Astra แล้วตามด้วยวัคซีนของ Pfizer เป็นแนวทางที่หลายประเทศสนใจ เช่นเกาหลีใต้ แคนาดา และอังกฤษ
มีการรายงานผลการฉีดวัคซีนแบบสลับบริษัทหรือสลับเทคโนโลยีดังกล่าวมาบ้างแล้ว พบว่าได้ผลดี
รายงานครั้งนี้ เป็นของเยอรมัน เก็บข้อมูลในช่วงวันที่ 27 ธันวาคม 2563 ถึง 14 มิถุนายน 2564

โดยกลุ่มที่ฉีดวัคซีน เป็นบุคลากรทางสาธารณสุขของเยอรมัน แบ่งออกเป็นสามกลุ่มดังนี้
กลุ่มที่หนึ่ง ฉีดวัคซีน Astra สองเข็มห่างกัน 10-12 สัปดาห์ มีจำนวน 38 คน
กลุ่มที่สอง ฉีดวัคซีน Pfizer ทั้งสองเข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์ มีจำนวน 174 คน
กลุ่มที่สาม ฉีดเข็มแรกด้วย Astra และเข็มสองด้วย Pfizer ห่างกัน 10-12 สัปดาห์ มีจำนวน 104 คน

ฉีดแอสตร้าเซนเนก้าตามด้วยไฟเซอร์สร้างภูมิได้ดี
จากการศึกษาพบว่า
ทั้งสามกลุ่มมีผลข้างเคียงที่เกิดจากวัคซีนพอๆกัน ไม่ว่าจะเป็นผลข้างเคียงที่เป็นเล็กน้อย หรือปานกลาง ซึ่งมีความแตกต่างจากรายงานก่อนหน้านี้ ที่พบว่าการฉีดวัคซีนแบบสลับเข็มมีผลข้างเคียงเพิ่มขึ้น (อาจจะเป็นความแตกต่างที่เกิดขึ้นจาก รายงานนี้ฉีดวัคซีนห่างกัน 10-12 สัปดาห์ แต่รายงานก่อนหน้านี้ฉีดห่างกันเพียง 4 สัปดาห์)

ผลการกระตุ้นภูมิคุ้มกันพบว่า การฉีดวัคซีนแบบสลับได้ระดับภูมิคุ้มกันที่สูงกว่า และพบว่าระดับต่อสายพันธุ์อัลฟ่าจะดีกว่าสายพันธุ์เบต้า
ส่วนการกระตุ้นภูมิคุ้มกันแบบเซลล์ที่เรียกว่า T-cell ก็พบว่าการฉีดวัคซีนแบบสลับให้ผลดีกว่าเช่นกัน คือ 4762 mIU/mL ต่อ 2026 ( PZ-PZ) และ 1061 (AZ-AZ) ตามลำดับ
การศึกษาวิจัยคงจะมีทยอยออกมา และมีแนวโน้มที่เชื่อได้ว่า การฉีดวัคซีนสลับบริษัทโดยเฉพาะสลับเทคโนโลยี น่าจะมีความปลอดภัยใกล้เคียงกับการฉีดวัคซีนแบบไม่สลับ และมีแนวโน้มที่จะกระตุ้นภูมิคุ้มกันทั้งแบบแอนตี้บอดี้และแบบทีเซลล์ได้ดีกว่า   
สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 (Covid-19)ในประเทศไทยนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลการายงานจากศูนย์ข้อมูลโควิด-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ตี้งแต่วันที่ 18 ก.พ.-13 ส.ค. 64 พบว่า มีการฉีดสะสมแล้ว 23,192,491 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 17,696,114 ราย ฉีดครบ 2 เข็มจำนวน 5,033,568 ราย และเข็มที่ 3 จำนวน 464,809 ราย