หน่วยคัดกรองโควิด-19 ปตท.อาคาร EnCo Terminal รับตรวจ 1.5-2 พันคนต่อวัน

12 ส.ค. 2564 | 11:06 น.

หน่วยคัดกรองโควิด-19 ปตท.อาคาร EnCo Terminalรับตรวจ 1.5-2 พันคนต่อวัน ภายใต้โครงการลมหายใจเดียวกัน ระบุหากพบเชื้อเป็นผู้ป่วยสีเขียวจะได้รับมอบกล่องพลังใจ คนไทยไม่ทิ้งกันประกอบด้วยชุดอุปกรณ์การแพทย์ ยาฟาวิพิราเวียร์

นายสุพัฒนพงษ์  พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า หน่วยตรวจคัดกรองโควิด-19 โครงการลมหายใจเดียวกัน กลุ่ม ปตท. ณ อาคาร EnCo Terminal (Enter) ถ.วิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ สามารถรองรับได้ 1,500 -2,000 คนต่อวัน  โดยหากตรวจพบว่าเสี่ยงติดเชื้อจะนำส่งตรวจ RT-PCR และ X-ray ต่อไป  
สำหรับผู้ป่วยที่ตรวจพบเชื้อโควิด-19 (Covid-19) ระดับสีเขียว ที่สามารถดูแลตนเองเบื้องต้นที่บ้านหรือในชุมชน (Home or Community Isolation) จะได้รับมอบกล่องพลังใจ คนไทยไม่ทิ้งกันประกอบด้วยชุดอุปกรณ์การแพทย์ ยาฟาวิพิราเวียร์ ฯลฯ พร้อมระบบติดตามอาการ หากผู้ป่วยยังมีอาการไม่ดีขึ้นจะส่งต่อเพื่อเข้ารับการรักษาต่อในโรงพยาบาลสนามสีเหลือง และสีแดงภายใต้โครงการลมหายใจเดียวกันของ กลุ่ม ปตท. ต่อไป
ทั้งนี้ หน่วยตรวจคัดกรองดังกล่าว เปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถลงทะเบียนล่วงหน้าเพื่อตรวจหาเชื้อโควิด-19 ผ่านแอปพลิเคชัน QueQ

สำหรับหน่วยคัดกรองดังกล่าวเป็นความร่วมมือของ กลุ่ม ปตท. กับกระทรวงสาธารณสุข สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และพันธมิตรทางการแพทย์ ได้แก่ มูลนิธิโรงพยาบาลในเครือบางปะกอกฯ และโรงพยาบาลปิยะเวท จัดตั้งหน่วยคัดกรอง และโรงพยาบาลสนามครบวงจร (End-to-End) ภายใต้โครงการลมหายใจเดียวกันขึ้น โดยถือเป็นครั้งแรกที่ภาคเอกชนร่วมมือกับภาครัฐในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 แบบครบวงจร หวังที่จะมีส่วนช่วยลดการเสียชีวิต บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยเร็วที่สุด โดยประกอบด้วย 4 จุดหลัก ได้แก่

หน่วยตรวจคัดกรองโควิด-19 โครงการลมหายใจเดียวกัน กลุ่ม ปตท.
จุดที่ 1 หน่วยคัดกรอง โครงการลมหายใจเดียวกัน ณ อาคาร EnCo Terminal หรือ Enter ของบริษัท เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ จำกัด กลุ่ม ปตท. ถ.วิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ เพื่อใช้เป็นจุดคัดกรองสำหรับกลุ่มเสี่ยง โดยร่วมมือกับ สปคม. มีการวางระบบดิจิทัลเพื่อลงทะเบียน และตรวจโดยใช้ชุดตรวจ Antigen test kit

ขณะที่จุดที่ 2 , 3 และ 4  จัดเตรียมเป็น โรงพยาบาลสนามครบวงจร โครงการลมหายใจเดียวกัน เพื่อรองรับการรักษาผู้ป่วยที่ตรวจพบเชื้อโควิด-19 ทุกระดับความรุนแรง ภายใต้การดูแลของบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลปิยะเวท อีกทั้งโรงพยาบาลสนามครบวงจรแห่งนี้ เป็นการระดมกำลังของกลุ่ม ปตท. ทั้งด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อแบ่งเบาภาระและบรรเทาปัญหาการขาดแคลนเตียงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร  โดยโรงพยาบาลสนาม สำหรับผู้ป่วยระดับสีเขียวเปิดให้บริการในรูปแบบของ Hospitel กระจายไปในหลายโรงแรมในกรุงเทพฯ จำนวนกว่า 1,000 เตียง  รองรับผู้ป่วยที่ส่งต่อมาจากหน่วยคัดกรองอย่างเป็นระบบ
โรงพยาบาลสนามสำหรับผู้ป่วยระดับสีเหลือง สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการในระดับหนักขึ้น เปิดให้บริการ ณ โรงแรมเดอะบาซาร์ กรุงเทพฯ จำนวน 300 เตียง 
และโรงพยาบาลสนาม สำหรับผู้ป่วยระดับสีแดงจัดสร้างโรงพยาบาลสนามระดับวิกฤต ICU บนพื้นที่ 4 ไร่ โดยปรับพื้นที่โล่งของโรงพยาบาล  ปิยะเวทเป็นสถานที่ก่อตั้ง รองรับผู้ป่วยจำนวน 120 เตียง