วัคซีนโควิดแบบพ่นจมูกของไทยจะป้องกันทั้งสายพันธุ์เดลตา-ไข้หวัดใหญ่

11 ส.ค. 2564 | 03:06 น.

หมอเฉลิมชัยเผยวัคซีนโควิดแบบพ่นจมูกของไทยจะป้องกันทั้งสายพันธุ์เดลตาและไข้หวัดใหญ่ ระบุเตรียมทดลองในมนุษย์ปลายปีนี้

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า  
ไทยสามารถพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิดแบบพ่นจมูก ถ้าสำเร็จจะป้องกันได้ทั้งโควิดและไข้หวัดใหญ่ รวมทั้งไวรัสเดลตา
ไบโอเทค ภายใต้ สวทช. (สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ) ได้รายงานความคืบหน้า การวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิดแบบพ่นจมูก ซึ่งได้ผ่านการทดลองในหนูเรียบร้อยแล้ว
โดยการวิจัยพัฒนาวัคซีนดังกล่าว ได้เริ่มต้นมาตั้งแต่ต้นปี 2563 มีการสังเคราะห์ยีนส์หรือสารพันธุกรรมที่สามารถสร้างส่วนหนาม (Spike) ของไวรัสก่อโรคโควิด ที่เรียกว่าเอสโปรตีน (S-Protein) ได้ และได้นำมาพัฒนา จนเกิดเป็นสามแนวทางด้วยกัน ได้แก่
1.Adenovirus-Based เป็นเทคโนโลยีทำนองเดียวกับวัคซีนที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะ (Viral vector) ของ AstraZeneca และ Johnson & Johnson โดยของไทยได้ใช้ Adenovirus หมายเลข 5 (Ad-5) นำมาทำให้อ่อนกำลังลง สามารถเข้าไปในร่างกายแต่ติดเชื้อได้ครั้งเดียว จะสร้างส่วนหนามแหลมของไวรัสก่อโรคโควิด ทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อโควิดขึ้นมา
ขณะนี้ได้ทดลองทั้งในหลอดทดลองและในหนูทดลองเสร็จเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะยื่นขออนุญาตเพื่อทดลองในมนุษย์เฟสแรกได้ในปลายปีนี้ ร่วมกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และถ้าโชคดี ทุกอย่างเป็นไปตามแผน อาจจะมีโอกาสได้ใช้วัคซีนในกลางปี 2565
2.Influenza-Based เป็นเทคโนโลยีที่ใช้ไวรัสไข้หวัดใหญ่เป็นตัวหลัก แล้วปรับแต่งให้แสดงส่วนหนามแหลมของโควิด เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน กรณีนี้ ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อทั้งไวรัสไข้หวัดใหญ่ และไวรัสก่อโรคโควิด

3.VLP : Virus-like particle ใช้เทคโนโลยีไวรัสเลียนแบบ โดยทำเป็นเปลือกภายนอกเหมือนหนามแหลมของโควิด เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันมาต่อสู้ แต่ภายในไม่มีสารพันธุกรรมของไวรัส จึงปลอดภัย

วัคซีนโควิดแบบพ่นจมูก
ในสามเทคโนโลยีดังกล่าว มีสองเทคโนโลยีคือ ไวรัสเป็นพาหะ และใช้ไวรัสไข้หวัดใหญ่ ที่ประสบความสำเร็จแล้วในเบื้องต้น ที่จะพัฒนามาสู่เทคนิคของการพ่นจมูก
โดยการพ่นเป็นฝอยละออง เข้าไปในจมูก ทำให้มีการสร้างภูมิคุ้มกันในเยื่อเมือกของเยื่อบุทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ไวรัสเข้ามาก่อโรค และยังกระตุ้นให้สร้างภูมิต้านทานชนิด IgA รวมทั้งเป็นการลดความกังวลเกี่ยวกับผลข้างเคียงเรื่องลิ่มเลือดจากวัคซีนชนิดฉีดด้วย
นอกจากนั้น ยังสามารถปรับสายพันธุ์ของไวรัสได้ ซึ่งจะเตรียมใช้ไวรัสสายพันธุ์เดลตา ทำให้วัคซีนมีความสามารถในการต่อสู้กับไวรัสสายพันธุ์เดลตาได้
ทั้งนี้ไบโอเทคของ สวทช. ได้รับงบประมาณสนับสนุนการวิจัยจากรัฐบาล ผ่านทางสถาบันวัคซีนแห่งชาติ
คงจะต้องติดตาม และให้กำลังใจนักวิทยาศาสตร์ไทยต่อไป ถ้าสำเร็จ  ไทยเราจะมีวัคซีนป้องกันโควิดชนิดพ่นจมูกใช้ถึงสองชนิดด้วยกันในกลางปี 2565  ซึ่งจะป้องกันได้ทั้งไวรัสสายพันธุ์เดลตา และยังป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้ด้วย

สำหรับสถานการณ์กาารติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทยวันที่ 11 สิงหาคม 64 นั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลโควิด-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า
ติดเชื้อใหม่ 21,038 ราย
ติดเชื้อในระบบ 16,464 ราย
ติดจากตรวจเชิงรุก 4382 ราย
ติดในสถานกักตัว 19 ราย
ติดในเรือนจำ 173 ราย
สะสมระลอกที่สาม 788,126 ราย สะสมทั้งหมด 816,989 ราย
หายกลับบ้านได้ 22,012 ราย
สะสม 600,371 ราย
รักษาตัวอยู่ 210,042 ราย
โรงพยาบาลหลัก 61,384 ราย
โรงพยาบาลสนาม 74,681 ราย
แยกกักตัว (HI/CI)  65,607 ราย
อาการหนัก 5407 ราย
ใช้เครื่องช่วยหายใจ 1094 ราย
ติดเชื้อเข้าข่าย-ATK  2081 ราย
สะสม 24,000 ราย
เสียชีวิต 207 ราย
สะสมระลอกที่สาม 6701 ราย
สะสมทั้งหมด 6795 ราย
ฉีดวัคซีนสะสม 21.387 ล้านเข็ม
เข็มที่หนึ่ง 16.695 ล้านเข็ม
เข็มที่สอง 4.692 ล้านเข็ม
ฉีดได้เพิ่ม 442,696 เข็ม