"วัคซีนโควิดไฟเซอร์" กระจายไปแล้ว 10 จว.มีที่ไหนบ้าง เช็คที่นี่

05 ส.ค. 2564 | 09:29 น.

กระทรวงสาธารณสุข เผยความคืบหน้า วัคซีนโควิดไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส ล่าสุดลอตแรกกระจายไปถึงโรงพยาบาล 69 แห่งในพื้นที่ 10 จังหวัด และเริ่มฉีดตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป พร้อมตั้งเป้าฉีดให้ครบภายในเดือนนี้

ภายหลังจากที่กระทรวงสาธารณสุข ได้รับมอบวัคซีนโควิดไฟเซอร์(Pfizer)จากสหรัฐอเมริกา จำนวน 1.5 ล้านโดส ล่าสุดก็มีความคืบหน้า โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศว่ากำลังเร่งดำเนินการตามแผนงานที่ได้วางเอาไว้ เริ่มตั้งแต่การเตรียมพร้อมบุคลากรที่จะทำหน้าที่ให้บริการฉีด ทั้งด้านเทคนิคและวิธีการฉีดวัคซีนให้เป็นไปตามมาตรฐานของวัคซีนไฟเซอร์


รวมทั้งระบบการติดตามเฝ้าระวังอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้น  เนื่องจากเป็นวัคซีนชนิดอาร์เอ็นเอ (RNA base vaccine) มีความเข้มข้นสูง  ต้องเก็บรักษาในอุณหภูมิที่กำหนด เพื่อคงประสิทธิภาพวัคซีน ซึ่งได้ให้สถาบันบำราศนราดูรจัดอบรมออนไลน์ให้แก่ทีมบุคลากรของสถานพยาบาลกว่า 600 คนทั่วประเทศ  เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจขั้นตอนต่างๆ ที่จะต้องดำเนินการ 


สำหรับวัคซีนไฟเซอร์ลอตแรกนี้ จะเร่งรัดฉีดให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทั่วประเทศที่ปฏิบัติหน้าที่ดูแลผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อโควิด 19 ให้เป็นไปตามที่สถานพยาบาล หรือสถานบริการพิจารณา เพื่อลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต


นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์  อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า สิ่งสำคัญคือการจัดส่งวัคซีน  เนื่องจากวัคซีนไฟเซอร์จะเก็บรักษาอยู่ในความเย็นอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส  มีอายุได้เพียง 1 เดือน ดังนั้นจึงแบ่งการจัดส่งออกเป็น 2 ช่วง คือช่วงที่ 1 คือวันที่ 4 - 7 สิงหาคม ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด

 

 โดยในวันที่ 4 - 5 สิงหาคม นี้ ดำเนินการส่งไปถึงปลายทางแล้ว 10 จังหวัด ได้แก่ กทม., จันทบุรี, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ระยอง, สมุทรปราการ, นครนายก, ปทุมธานี, พระนครศรีอยุธยา และสระบุรี รวมสถานพยาบาล 69 แห่ง  ซึ่งพื้นที่สามารถแจ้งขอเพิ่มเติมได้ตามจำนวนและความต้องการ  ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการส่งให้ช่วงที่ 2

"วัคซีนโควิดไฟเซอร์"

ทั้งนี้ โรงพยาบาลที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์แล้วทั้ง กทม. และต่างจังหวัด อาทิ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, โรงพยาบาลศิริราช, โรงพยาบาลรามาธิบดี, โรงพยาบาลราชวิถี, โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์, สถาบันบำราศนราดูร, โรงพยาบาลพุทธโสธร จ.ฉะเชิงเทรา, โรงพยาบาลพระปกเกล้า จ.จันทบุรี, โรงพยาบาลชลบุรี, โรงพยาบาลสมุทรปราการ, โรงพยาบาลนครนายก,โรงพยาบาลสระบุรี, โรงพยาบาลระยอง เป็นต้น 


โดยโรงพยาบาลบางแห่งเมื่อได้รับวัคซีนไปแล้ว ก็ได้เริ่มฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์ฯ แล้วในบ่ายวันนี้ และคาดว่าจะฉีดให้ครบตามเป้าหมายภายในเดือนสิงหาคมนี้ จากนั้นก็จะเร่งดำเนินการในกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ ต่อไป
 

อนึ่งแนวทางการฉีดวัคซีนสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุขหน้าด่าน ที่ได้กำหนดไว้มีดังนี้


1.ผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวค(Siovac) หรือ ซิโนฟาร์ม (Sinopharm) ครบ 2 เข็ม ให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer)กระตุ้น 1 เข็ม  (จำนวนที่ได้รับการจัดสรร 600,000 โดส)


2.ผู้ที่ฉีดวัคซีนใดใดแล้ว 1 เข็ม ให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer)เป็นเข็มที่ 2 (จำนวนที่ได้รับการจัดสรร 50,000 โดส)


3.ผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนใดใดมาก่อน ให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) 2 เข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์ (จำนวนที่ได้รับการจัดสรร 47,700 โดส)


4.ผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 และไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อน ให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) 1 เข็ม ห่างจากวันที่พบการติดเชื้ออย่างน้อย 1 เดือน (จำนวนที่ได้รับการจัดสรร  2,300 โดส)

แนวทางการฉีดวัคซีนสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุขหน้าด่าน

ขณะที่แผนการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ ทั้ง 1,503,450 โดส ที่ได้รับการบริจาคมา มีดังนี้


กลุ่มที่ 1 บุคลากรการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าครอบคลุมทั้งผู้ปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยโควิด 19 โดยตรง และผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด 19 ทั่วประเทศ จำนวน 7 แสนโดส

 

กลุ่มที่ 2 ประชาชนกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรังตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป และหญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ที่อยู่ในจังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 13 จังหวัด 645,000 โดส


กลุ่มที่ 3 ชาวต่างชาติ ที่เป็นผู้สูงอายุ 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไปที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย รวมถึงคนไทยที่มีความจำเป็นต้องเดินทางไปต่างประเทศ เช่น นักเรียน นักศึกษา 150,000 โดส

 

กลุ่มที่ 4 เพื่อการศึกษาวิจัย 5,000  โดส 

 

กลุ่มที่ 5 สำรองส่วนกลางสำหรับควบคุมการระบาดจากสายพันธุ์เบต้า 3,450 โดส  
 

แผนจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์