ส่องความคืบหน้า "วัคซีนโควิดของไทย" ถึงไหนเเล้ว

31 ก.ค. 2564 | 21:30 น.

สถานการณ์โควิดเข้าขั้นวิกฤติ สิ่งหนึ่งที่หลายฝ่ายเรียกร้องก็คือ เร่งฉีดวัคซีนโควิดให้ทุกคน ไทยก็มีความพยายามพัฒนาวิจัยวัคซีนโควิด ฐานเศรษฐกิจพาไปส่องความคืบหน้างานวิจัย 3  โครงการว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง

"วัคซีนโควิด"หนึ่งในความหวังของคนไทยและคนทั่วโลก เพื่อต่อสู้และหวังจะก้าวผ่านสถานการณ์วิกฤติที่ยืดเยื้อในครั้งนี้ โดยเฉพาะที่ในตอนนี้โควิดสายพันธุ์เดลตาแพร่ระบาดอย่างหนัก

ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศไทยพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และไม่มีทีท่าว่าจะลดลง  ผู้ป่วยล้นเกินมือแพทย์จะรับไหว

สิ่งเดียวที่หลายฝ่ายออกมาเรียกร้องก็คือ เร่งฉีดวัคซีนให้ทุกคน และ นักวิจัยทั่วโลกเร่งพัฒนาเพื่อให้ได้วัคซีนที่ดีมีประสิทธิภาพ ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้นที่กำลังพัฒนาวิจัยวัคซีนป้องกันโควิด

ฐานเศรษฐกิจ จะพาไปส่องความคืบหน้างานวิจัยวัคซีนป้องกันโควิด 3  โครงการ

Chula-Cov19

วัคซีนชนิด mRNA จากความร่วมมือของศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับ ศ.ดรูว์ เวสแมน จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐฯ

ภายในเดือนสิงหาคมนี้ จะทดลองในคนระยะที่ 2 ตั้งเป้าทดลองกับอาสาสมัครจำนวน 150-300 คน และทดลองกับคนกลุ่มใหญ่ต่อไป ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผน วัคซีน Chula-Cov19 จะเริ่มฉีดให้คนไทยได้ในช่วงเดือน มี.ค. - เม.ย.ของปี 2565

ย้อนกลับไประยะเวลาการทดลองในสัตว์ทดลอง (หนูและลิง) 15 เดือน พบว่า การทดลองในหนูมีประสิทธิภาพกระตุ้นภูมิคุ้มกันสูงมาก เมื่อทดสอบในลิง ซึ่งมีความใกล้เคียงมนุษย์ ผลทดลองก็ยังอยู่ในระดับน่าพอใจ

มิถุนายนที่ผ่านมา ทีมนักวิจัยได้ทดลองฉีดวัคซีนให้กลุ่มควบคุมจำนวน 72 ราย เพื่อหาปริมาณโดสวัคซีนที่เหมาะสมที่สุด โดยแบ่งอาสาสมัครออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่และ 3 กลุ่มย่อย

- กลุ่มแรก อาสาสมัครผู้ที่มีอายุ 18-55 ปี จำนวน 36 คน

- กลุ่มที่สอง อาสาสมัครผู้ที่มีอายุ 65-75 ปี จำนวน 36 คน

- ในทั้งสองกลุ่มข้างต้นจะแบ่งเป็นกลุ่มย่อยที่ฉีดวัคซีน 10  ไมโครกรัม, 25 ไมโครกรัม และ 50 ไมโครกรัม

ผลทดลอง 10 ไมโครกรัม ไม่มีผลข้างเคียง

วัคซีนใบยา

โดยทีมวิจัยจาก บริษัทใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด นำโดย ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ และ รศ.ดร.วรัญญู พูลเจริญ จากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬา

เป็นชนิดโปรตีนซับยูนิต เช่นเดียวกับวัคซีนไวรับตับอักเสบบี ไข้หวัดใหญ่  อีโบลา รวมถึงวัคซีน Novavax )

เตรียมทดลองในคนครั้งแรก รับอาสาสมัครที่มีอายุระหว่าง 18-59 ปี สุขภาพแข็งแรง และไม่เคยได้รับวัคซีนโควิด จำนวน 50 ราย ในเดือนสิงหาคมนี้ และเริ่มทดลองเดือนกันยายน อาสาสมัครจะได้รับวัคซีนจำนวน 2 เข็ม ระยะห่างกัน 3 สัปดาห์

จากนั้นจะทดสอบวัคซีนกับอาสาสมัครกลุ่มอายุ 60–75 ปีต่อไป และเชื่อว่าจะเริ่มใช้ในไทยได้ราวกลางปี 2565 ในราคาโดสละไม่เกิน 500 บาท

ทีมผู้วิจัยกำลังทดลองวัคซีนใบยารุ่น 2 สำหรับรับมือกับโควิดกลายพันธุ์ โดยจะเริ่มมีการทดลองในคนตั้งแต่ปลายปีนี้เป็นต้นไป

ในระยะทดลองกับสัตว์ทดลอง (หนูขาวและลิง) ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบว่าสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ในระดับน่าพอใจ ในลิงไม่เกิดผลข้างเคียงใดๆ

HXP-GPOVac

เป็นวัคซีนที่ใช้เชื้อตายผลิต จากความร่วมมือระหว่างคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล และองค์การเภสัชกรรมของไทย

ผู้วิจัยเริ่มทดลองเฟส 1 ในอาสาสมัครจำนวน 210 ราย ที่มีอายุระหว่าง 18-59 ปี ตั้งแต่เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แบ่งอาสาสมัครออกเป็น 6 กลุ่มที่ได้รับวัคซีนในปริมาณที่แตกต่างกัน

เดือนสิงหาคมนี้ ทีมผู้วิจัยเตรียมทดลองเฟส 2 โดยจะเลือกวัคซีนสองสูตรจากการทดลองในเฟส 1 แล้วลองฉีดในอาสาสมัครจำนวน 250 คน เพื่อทดลองในเฟส 3 ในอาสาสมัครจำนวน 4,000-10,000 ราย

คาดการณ์ว่าวัคซีน HXP-GPOVac จะสามารถฉีดให้กับคนไทยได้ภายในเดือนเมษายน ปี 2565 โดยจะมีกำลังผลิตที่ 25-30 ล้านโดส/ ปี