คนกทม. เกินครึ่งไม่เชื่อ "ล็อกดาวน์" ลดจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้จริง

30 ก.ค. 2564 | 12:22 น.

บ้านสมเด็จโพลล์ ชี้คน กทม 68.6 % ไม่เชื่อว่าล็อกดาวน์จะทำให้ผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ลดลง และเกินครึ่งเชื่อ โครงการเราชนะ สามารถเยียวยาด้านเศรษฐกิจให้กับประชาชนได้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 เดือนกรกฏาคม 2564 

 

โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,119 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 17 – 23 กรกฏาคม 2564 กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง

ผลการสำรวจในครั้งนี้มีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

  • กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความรู้สึกไม่ปลอดภัยจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ในการใช้ชีวิตประจำวัน 76.5 %
  •  คิดว่าการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19  จะทำให้มีการปรับตัวและเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้ชีวิต 83.5  %
  • เห็นด้วยกับการห้ามออกจากเคหะสถาน(เคอร์ฟิว)  47.9 %
  • คิดว่ามาตรการล็อกดาวน์ 10 จังหวัด จะทำให้ผู้ติดเชื้อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ไม่ลดลง 68.6 %
  • ในส่วนของการเปิดประเทศที่ให้ชาวต่างชาติสามารถเดินทางเข้ามาในประเทศไทย ทำให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 เพิ่มมากขึ้น 82.6 %
  • ไม่เห็นด้วยกับการให้ชาวต่างชาติสามารถเดินทางเข้ามาในประเทศไทย 75.9 %

ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ยังคิดว่ามาตรการช่วยเหลือของรัฐ มาตรการที่คิดว่าสามารถเยียวยาด้านเศรษฐกิจให้กับประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรม อันดับหนึ่งคือ โครงการ เราชนะ 60.2 %อันดับสองคือ โครงการ ม.33 เรารักกัน49.0 %อันดับสามคือ โครงการ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 41.6 %อันดับสี่คือ โครงการ คนละครึ่ง 38.6  %และอันดับห้าคือ โครงการ มาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน 35.1 %

 

และอยากให้รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือของรัฐ มาตรการที่คิดว่าสามารถเยียวยาด้านเศรษฐกิจให้กับประชาชน อันดับหนึ่งคือ โครงการ เราชนะ 55.6%  อันดับสองคือ โครงการ มาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน 45.9% อันดับสามคือ โครงการ ม.33 เรารักกัน 45.0 % อันดับสี่คือ โครงการ มาตรการพักหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 44.8 % และอันดับห้าคือ โครงการ มาตรการสินเชื่อสู้ภัยโควิด-19 37.8%