ทรู แจงปมขายคิวฉีดวัคซีนศูนย์กลางบางซื่อ

30 ก.ค. 2564 | 08:09 น.

ทรู แจงปมขายคิวฉีดวัคซีนศูนย์กลางบางซื่อ ยัน ไม่เกี่ยวข้องระบบเครือข่ายมือถือ ย้ำ ไม่มีการแฮกระบบของ "ทรู" อย่างที่เป็นข่าว แนะ จนท.ส่วนกลางเพิ่มระบบการให้สิทธิ์ผู้เข้าถึงข้อมูลส่วนกลางให้รัดกุมยิ่งขึ้น

30 กรกฎาคม 2564 มีรายงานว่า ตามที่ทรูได้ดำเนินการแจ้งความไปแล้วก่อนหน้านี้คือ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคมและได้มีการแจ้งเจ้าหน้าที่ส่วนกลางให้ตรวจสอบ หลังจากชื่อผู้มาฉีดวัคซีนไม่ตรงกับระบบที่ค่ายมือถือส่งให้

โดยคาดว่า มีการเพิ่มรายชื่อจากระบบส่วนกลางซึ่งแยกส่วนจากระบบการจองของค่ายมือถืออย่างชัดเจน แต่ล่าสุดกลับพบว่า มีรายงานข่าวอ้างว่า มีการแฮ็กระบบของโอเปอเรเตอร์ค่ายมือถือ เพื่อขายคิวจองวัคซีนบางซื่อ รวมทั้งบางรายงานมีการกล่าวถึงว่า เป็นระบบทรู นั้น

บริษัท ฯ ขอเรียนชี้แจงว่า กรณีขบวนการขายคิวจองวัคซีนบางซื่อนี้ไม่เกี่ยวข้องกับ “ระบบ” การจองฉีดวัคซีนของทรู แต่อย่างใด ไม่มีการแฮ็กระบบของทรู อย่างที่มีการรายงานข่าวหรือแชร์ข้อมูลส่งต่อทางอินเทอร์เน็ต

โดยกระบวนการที่เกิดความผิดปกติที่ปรากฎชื่อเพิ่มขึ้นนั้นเกิดขึ้นจากการมีชื่อเพิ่มเติมในระบบส่วนกลางของศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับข้อมูลการลงทะเบียนผ่านค่ายมือถือแต่อย่างใด

ซึ่งข้อมูลจากระบบทรู ที่ส่งให้กรมการแพทย์รายวันล่วงหน้านั้น ถูกต้องตามโควต้าที่ได้รับและเป็นการนำส่งข้อมูลทางเมลไปให้กรมการแพทย์เป็นผู้ตรวจสอบและนำไปลงระบบเอง

สำหรับกรณีนี้ กำลังอยู่ในระหว่างการสอบสวนผู้ต้องสงสัยว่า มีการนำข้อมูลเพิ่มเติมเข้าสู่ระบบส่วนกลางได้อย่างไร เพราะจากการตรวจสอบมีรายชื่อถูกเพิ่มเข้าระบบช่วง 4 ทุ่มซึ่งนำไปเพิ่มในโควต้าทรู ซึ่งการเข้าถึงข้อมูลผ่านดาต้าเบสนั้น ไม่ได้ผ่านจากการเจาะระบบโอเปอเรเตอร์จึงต้องมีการทำความเข้าใจให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้ประชาชนสับสน

และทรู เป็นผู้ที่พบความผิดปกติหน้างาน เนื่องจาก ไม่มีQR Code เหมือนทุกคนที่จองผ่านทรู และตรวจสอบในระบบของทรู อีกครั้งก็ไม่มีรายชื่อ จึงตั้งข้อสังเกตและส่งเรื่องให้ส่วนกลางกรมการแพทย์ตรวจสอบและเข้าแจ้งความ ซึ่งขณะนี้ยังคงอยู่ในกระบวนการสืบสวนสอบสวนเพื่อหาผู้กระทำผิดดำเนินคดี

ทั้งนี้ การดำเนินการที่ทางค่ายมือถือสนับสนุนกรมการแพทย์นั้น มีทั้งการสนับสนุนพัฒนาระบบการจองผ่านเว็บไซต์และมือถือ การจัดทีมดูแลรับเรื่องการจองคิว การส่ง SMS ยืนยันก่อนวันฉีดวัคซีน รวมทั้งการสนับสนุนว่าจ้างบุคลากรค่ายละ 100 คน เพื่อไปช่วยปฏิบัติงานอำนวยความสะดวกกับผู้เข้ามาฉีดวัคซีนในแต่ละวัน

ทรู จึงได้ว่าจ้างจัดหาเจ้าหน้าที่ Outsource เพื่อไปช่วยงานกรมการแพทย์จำนวน 98 คน ตามที่มีการขอสนับสนุน โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ

1.การปฏิบัติหน้าที่หน้างานภายนอก 30 คน (จุดรับรายงานตัวจุดที่ 1 ทรูเป็นผู้ดูแล ) และ 2.การปฏิบัติงานภายในส่วนงานของกรมการแพทย์อีก 70 คน ซึ่ง 70 คนนี้อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของกรมการแพทย์เอง ซึ่งทรู ได้ว่าจ้างและรับผิดชอบค่าใช้จ่าย 100% แต่ไม่ได้บริหารคนกลุ่มนี้ โดยได้ส่งมอบให้กรมการแพทย์ดูแลตั้งแต่ปลายเดือน พ.ค. 2564

ในส่วนของการทำงานของคนที่สามารถลงระบบภายในนั้น กรมการแพทย์จะเป็นผู้กำหนด Username และ Password ให้สำหรับผู้ปฏิบัติงานที่อยู่ด้านในกับกรมการแพทย์ ซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่ Outsource ที่ทรู ส่งมอบไปแล้ว

ดังนั้น เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีก และเป็นการป้องกันเชิงรุก จึงขอให้กรมการแพทย์เพิ่มขั้นตอนการตรวจสอบการมอบหมายสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูลส่วนกลาง รวมทั้งควรมีกระบวนการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ

บริษัทฯจึงขอเรียนว่า ทุกภาคส่วนมีความตั้งใจจริงที่จะเข้าไปช่วยในภาวะวิกฤตด้วยจิตอาสาและบริษัทได้แจ้งความไปแล้ว และจะดำเนินคดีจนถึงที่สุดเพื่อไม่ให้ผู้ที่เอาเปรียบสังคม หลอกลวงประชาชนชาวไทยในสถานการณ์วิกฤตนี้

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้นายพิชิต ธันโยดม ผู้บริหารกลุ่มทรู แจ้งว่า ได้รับทราบรายงานเหตุผิดปกติ เนื่องจากมีผู้แจ้งว่า ได้จองผ่านระบบ แต่ไม่มีการนำ QR CODE มาด้วย

ทางเจ้าหน้าที่หน้างานทรู จึงตรวจสอบกลับไป และไม่พบข้อมูลที่ลงทะเบียนไว้กับทรูแต่อย่างใด ทำให้เห็นพิรุธ พบสิ่งผิดสังเกต จึงได้ดำเนินการแจ้งความ และ แจ้งไปกรมการแพทย์ เพื่อทำการตรวจสอบอีกทางหนึ่ง