“คกก.โรคติดต่อ”ส่งหนังสือถึงผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด ย้ำแนวทางฉีดวัคซีนโควิด 19

28 ก.ค. 2564 | 08:06 น.

“คกก.โรคติดต่อแห่งชาติ” ส่งหนังสือถึงผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด ย้ำแนวทางฉีดวัคซีนโควิด 19 ให้บุคลากรการแพทย์ด่านหน้า เข็มที่ 3 และให้วัคซีนแบบสลับชนิดกับผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป-ผู้ป่วยเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค-หญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป

วันนี้( 28 ก.ค.64) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้ลงนามในหนังสือคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เรื่อง แจ้งแนวทางการฉีดวัคซีนโควิด 19 ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงเพิ่มเติม โดยส่งถึง ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ลงวันที่ 27 ก.ค. 2564 มีสาระสำคัญ คือ 

 

ด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ในปัจจุบันที่ยังคงระบาดต่อเนื่อง ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยมีโอกาสสัมผัสเชื้อไวรัสโควิด 19 เพิ่มสูงขึ้น ตามจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่เพิ่มมากขึ้น

 

ผู้ป่วยส่วนหนึ่งต้องสูญเสียชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้มีโรคเรื้อรัง และ หญิงตั้งครรภ์ ที่เมื่อป่วยด้วยโรคโควิด 19 จะมีความรุนแรงของโรค และมีโอกาสเข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤตเพิ่มขึ้น มีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าคนปกติ เพื่อบริบาลระบบสาธารณสุขของประเทศไทย และเพิ่มประสิทธิภาพการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคด้วยวัคซีนโควิด 19 ทุกชนิดที่มีให้บริการในประเทศไทยขณะนี้

 

ในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2564 มีมติให้ฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้นให้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า เป็นเข็มที่ 3 และ การให้วัคซีนโควิด 19 แบบสลับชนิด 

 

ประกอบกับในการประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2564 มีมติเห็นชอบให้กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ เป็นกลุ่มเสี่ยงเพิ่มเติมที่ควรได้รับวัคซีนโควิด 19 

 

และจากการประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคโควิด 19 เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2564 และข้อสั่งการวันที่ 18 ก.ค. 2564 ให้จัดระบบการฉีดวัคซีนสลับชนิดในกลุ่มประชากรกลุ่มเสี่ยงทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ได้แก่

 

ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค และ หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป โดยฉีดวัคซีนซิโนแวคเป็นเข็มที่ 1 และ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เป็นเข็มที่ 2 กรณีจังหวัด ที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดในระดับควบคุมสูงสุดและเข้มงวดให้พิจารณาฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ครบทั้ง 2 เข็ม

 

กรมควบคุมโรค ขอสรุปสาระสำคัญจากมติการประชุมและข้อสั่งการที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด 19 แก่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ดังนี้ 


1.วัคซีนที่จัดสรรในช่วงเดือนก.ค.-ส.ค. 2564 ขอให้เร่งรัดในกลุ่มเป้าหมายทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ แบ่งเป็น 3 ประเภท ประกอบด้วย 

 

ประเภทที่ 1 กลุ่มเป้าหมายที่มีความเสี่ยงป่วยรุนแรงและเสียชีวิต ได้แก่ ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค รวมถึง หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป 

 

ประเภทที่ 2 บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าที่ดูแลผู้ป่วยโควิด 19 โดยได้รับวัคซีนซิโนแวคไปแล้ว 2 เข็ม อย่างน้อย 4 สัปดาห์ขึ้นไป และ ต้องการฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกัน 

 

ประเภทที่ 3 กลุ่มเป้าหมายที่ฉีดวัคซีนซิโนแวค เข็มที่ 1 และครบกำหนดนัดรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 2
 

2.การจัดบริการฉีดวัคซีนโควิด 19 สำหรับกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ให้ฉีดวัคซีนเมื่ออายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ณ คลนิกรับฝากครรภ์ของสถานพยาบาล หรือ จุดให้บริการวัคซีนปกติ (หากมีความจำเป็น) ซึ่งสามารถรับวัคซีนโควิด 19 ทุกชนิดที่มีให้บริการในประเทศไทยขณะนี้ 

 

3.การให้วัคซีนโควิด 19 สลับชนิดในพื้นที่ ขอให้ถือแนวทาง ดังนี้ 

 

3.1 สำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 13 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ชลบุรี สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา สมุทรสาคร นครปฐม สงขลา ยะลา ปัตตานี และ นราธิวาส แบ่งเป็น 

 

3.1.1 กลุ่มผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค รวมถึงหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ให้รับวัคซีนแอสตร้าฯ 2 เข็ม โดยฉีดห่างกัน 12 สัปดาห์ ทั้งนี้ สามารถฉีดวัคซีนด้วยชนิดหรือวิธีอื่นใดตามดุลยพินิจของแพทย์ ขึ้นอยู่กับชนิดของวัคซีนและปริมาณที่มี 

 

3.1.2 กลุ่มเป้าหมายอื่น อาจให้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม หรือให้รับวัคซีนซิโนแวค เป็นเข็มที่ 1 และวัคซีนแอสตร้าฯ เป็นเข็มที่ 2 ขึ้นอยู่กับชนิดของวัคซีนและปริมาณที่มี 

 

3.2 สำหรับจังหวัดอื่น นอกเหนือจากข้อ 3.1 ให้ทุกกลุ่มเป้าหมายรับวัคซีนซิโนแวค เป็นเข็มที่ 1 และวัคซีนแอสตร้าฯ เป็นเข็มที่ 2 โดยให้ฉีดห่างกัน 3-4 สัปดาห์