นายกฯ นัดบ่ายวันนี้ ถก“ผู้ว่าฯ 13 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม"คุมโควิด-19 ระบาด

28 ก.ค. 2564 | 06:04 น.

"นายกฯ"นัดบ่ายวันนี้ประชุม “ผู้ว่าฯ 13 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม" ผ่าน zoom ถกแนวทางรับมือการระบาดของโควิด-19  ตั้งรพ.สนามรองรับผู้ป่วย 

มีรายงานข่าวแจ้งว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เรียกประชุมผู้ว่าราชการจังหวัด ในพพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือพื้นที่สีแดงเข้ม 13 จังหวัด ในเวลา 13.00 น. โดยใช้ระบบ zoom จากบ้านพัก ภายในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 


ทั้งนี้ เพื่อหารือถึงแนวทางการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 การให้ความช่วยเหลือผู้ป่วย การตั้งโรงพยาบาลสนามต่างๆ รวมทั้งการสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชน

 

ส่วนเมื่อวานนี้ ที่มีกระแสข่าวโฆษกรัฐบาล ถูกนายกฯ ตำหนิ เรื่องการทำหน้าที่นั้น นายกฯ ได้ขอความร่วมมือจากทุกกระทรวง ทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะทีมโฆษกทุกกระทรวง ให้ช่วยกันสื่อสารทำความเข้าใจข้อมูลและข้อเท็จจริงต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องของมาตรการการแก้ปัญหาโควิด-19 ขอให้ทุกคนช่วยกันสื่อสาร ถ้าไม่อยากทำ ก็ให้ลาออกไป แต่ไม่ได้ตำหนิเป็นรายบุคคล
 

ด้านนางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยศูนย์บริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน ศบค. มีความเป็นห่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่คงความรุนแรงมากขึ้น และต้องการให้ผู้ป่วยถูกคัดแยก กักตัว ให้เร็วที่สุด เพื่อลดโอกาสการแพร่เชื้อภายในครอบครัวและชุมชน 

 

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ออกแนวทางเวชปฏิบัติ โดยประชาชนที่มีการตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจเร็ว Antigen test kit แล้วพบผลเป็นบวก สามารถเข้าระบบแยกกักตัวแบบดูแลตนเองที่บ้าน Home isolation โดยแจ้งสายด่วน โทร 1330 ต่อ 14 หรือเพิ่มเพื่อน สปสช. ในระบบไลน์ @nhso ส่วนกลุ่มที่ไม่สามารถดูแลที่บ้านได้ ก็จะเป็นการดูแลในระบบชุมชน (Community Isolation) ศูนย์พักคอย Hospitel หรือโรงพยาบาลซึ่งจะมีการตรวจ RT-PCR ซ้ำอีกครั้ง เพื่อป้องกันผลบวกลวง ก็ขอให้ติดต่อ สปสช.เช่นกัน

 

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการนี้เป็นการปรับเปลี่ยนแนวทางเพื่อให้ผู้ป่วยโควิดได้เข้าถึงการบริการได้เร็วขึ้น ผู้ที่เข้าข่ายติดเชื้อจากการตรวจด้วย Antigen test kit จัดเป็น “ผู้ติดเชื้อเข้าข่าย (probable case)” ตามนิยามของกรมควบคุมโรค จะได้รับการดูแลรักษาเช่นเดียวกับการตรวจด้วยวิธี RT-PCR ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับเครื่องวัดอุณหภูมิ เครื่องวัดออกซิเจนในเลือดและยาที่จำเป็นในทันที มีคลินิกหรือโรงพยาบาลจะไปดูแล การบริการจะมีการเยี่ยมผ่านระบบ VDO Call วันละ 2 ครั้ง เพื่อติดตามอาการ 

 

ขณะเดียวกัน ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงกระบวนการรักษาที่เร็วขึ้น ลดค่าใช้จ่ายในการตรวจและลดช่วงเวลาที่ต้องรอผลตรวจ 1-2 วัน รวมถึงการแยกผู้ป่วยจากครอบครัวและชุมชนได้รวดร็ว จะลดโอกาสในการแพร่กระจายโรคได้อีกทาง ดังนั้น ขอให้ประชาชนระมัดระวังในการใช้ชุดตรวจเร็ว ATK ที่มีการวางจำหน่ายทั่วไปในขณะนี้ เนื่องจากมีหลายชนิดและมีคุณภาพที่แตกต่างกัน หากผลตรวจออกมาเป็นลบแต่ยังสงสัยก็สามารถตรวจซ้ำใน 3-5 วันได้อีกครั้ง

 

สำหรับการแจกชุดตรวจ ATK ฟรีแก่ประชาชน ทางบอร์ด สปสช. ได้อนุมัติแล้วนั้น คาดว่าภายในต้นเดือนสิงหาคม จะสามารถแจกจ่ายชุด ATK ไปยังสถานพยาบาล โดยเน้นในพื้นที่สีแดง เพื่อให้สถานพยาบาล ส่งชุดตรวจต่อไปยังประชาชนกลุ่มเสี่ยงสำหรับตรวจเองที่บ้านด้วย