"โควิด-19 ระลอก 3" ภาคพิสดาร หมอธีระวัฒน์ สรุปสถานการณ์ 10 ข้อจบที่เดียว

21 ก.ค. 2564 | 01:57 น.

หมอธีระวัฒน์เผยสถานการณ์การระบาดเวลานี้น่าจะเรียกว่าโควิด-19 ระลอก 3 ภาคพิสดารยังไม่ใช้ระลอก 4 ระบุสายพันธุ์เดลตาชุกชุมมากขึ้น พร้อมสรุปสถานการณ์ในประเทศเกี่ยวกับโควิด 10 ประการ

รายงานข่าวระบุว่า ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา (หมอธีระวัฒน์) ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha)โดยมีข้อความว่า 
โควิด-19 ระลอก 3 ชุดใหญ่ไฟกระพริบ
ถึงเวลาแล้วที่ต้องยอมรับความจริงของสถานการณ์และต้องพึ่งตนเองให้มากที่สุด ทั้งนี้ ประเทศไทยไม่น่าจะเรียกว่าระลอกสี่ เพราะสามยังไม่ทันจบสิ้นและคนติดเชื้อลุกลามไปทั่วโดยยังควบคุมไม่ได้ เราคงไม่น่าเรียกสี่ เราคงเรียกระลอกสามภาคพิสดาร หรือที่เด็กๆที่ฝึกอบรมเป็นผู้เชี่ยวชาญทางสมองที่ทำงานอยู่ด้วยกันชอบเรียกกันว่าเป็นชุดใหญ่ไฟกะพริบมากกว่า
ตอนนี้ ที่ป่วยหนัก หาเตียงไม่ได้ เข้าไอซียูไม่ได้ ไม่ใช่เดลตา ทั้งหมดตามที่คิด แม้สายอัลฟาบ้านๆก็หนัก เอาไม่อยู่ และไม่นานก็แทรกด้วยเดลตา และจ่อด้วย เอปซิลอน B.1.429 (S13I, W152C, L452R ที่ spike) ที่กลายเป็นสายที่ต้องวิตกกังวลแล้ว
และสายเดลตา ก็แน่นอนชุกชุมขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก็ได้รับการขยายความอธิบายสรรพคุณได้มากขึ้น
โดยมีการไขความลับสายเดลตา โดยการที่ไวรัสดึงให้เซลล์ที่ติดเชื้อให้ไปแนบชิดกับเซลล์อื่น โดยไม่ต้องหลุดออกมาจากเซลล์เดิม เพื่อทะยานไปหาเซลล์ใหม่ ดังนั้น ระบบภูมิคุ้มกันในน้ำเหลือง หรือที่ในเยื่อบุ ทั้งจากสร้างในร่างกายและจากวัคซีนเองเช่นจาก mRNA จะไม่เห็นและขัดขวางไม่ได้
ดังนั้น อาจจะเป็นเครื่องอธิบายว่าทำไมถึงติดต่อได้เร็ว และทำไมถึงอาการของโรคจึงรุนแรงกว่าสายพันธุ์อื่นแต่คณะผู้รายงานยังเชื่อว่าวัคซีนก็ยังลดความรุนแรงได้ (รายงานจาก Markus Hoffman of Georg-August-University Göttingen in Germany) แต่คงไม่นานก็คงจะมีเดลตาพลัส ซึ่งบรรจุลักษณะเด่นของสายแอฟริกาเข้าด้วย

สรุป...มันจะสายพันธุ์อะไรก็แล้วแต่
ประการที่หนึ่งการรักษา ขณะนี้วิกฤติแล้ว มาระยะหนึ่งแล้ว
ประการที่สอง ขณะนี้การระบาดของโควิดเพิ่งเงยหัว ตัวยังไม่มาเลย ที่ยังไม่ได้ตรวจ และตัวเลขที่ต้องรอที่บ้าน ทั้งที่รู้ว่าตัวเองติดแล้ว (จากการตรวจ) และที่รู้ว่าตัวเองติดแน่ เพราะคนรอบตัวและทั้งบ้านติดไปหมดแล้วแต่ยังไม่ได้ตรวจ เพราะไม่มีที่ไหนรับตรวจ ยังมีอยู่มาก

โควิด-19 ระลอกสามภาคพิสดาร
ประการที่สาม วัคซีนที่ใช้ขณะนี้ประสิทธิภาพจำกัดคือ ซิโนแวค มีจำนวนมากที่ระดับภูมิในการยับยั้งไวรัสไม่ให้ติดสูงไม่มากพอ และหมอพยาบาล เจ้าหน้าที่หลังฉีดวัคซีนแล้ว ครบหนึ่งเดือน ติดไปแล้ว แม้อาการอาจไม่มาก แต่ที่น่ากลัวกลับกลายเป็นคนแพร่เชื้อที่ทรงประสิทธิภาพ ไปยังเพื่อนร่วมงานและไปยังผู้ป่วยได้
ประการที่สี่ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่เรียกร้องวัคซีนยี่ห้ออื่นซ้ำต่อจากที่ฉีดไปแล้ว ไม่ได้หมายความว่าเราเป็นคนไทยที่มีอภิสิทธิ์ แต่เพราะเรากลัวจะแพร่ไปหาคนอื่นอย่างกว้างขวาง และนี่เป็นเหตุผลที่เราเรียกร้องให้มีวัคซีนหลากหลายและมีจำนวนพอเพียง และไม่ใช่แต่เราที่เรียกร้อง แต่จากคนไทยทั้งประเทศ
ประการที่ห้า การให้ไปรักษาที่บ้าน ต้องทำให้เป็นรูปธรรม “โดยด่วน” ทั้งนี้ จำเป็นหรือไม่ที่ต้องได้รับการพิสูจน์ก่อนว่าติดและมีเชื้อ เนื่องจากหาที่ตรวจไม่ได้และถ้าสัมผัสกับคนที่ติดจริงหรือติดกันทั้งบ้าน น่าจะอนุโลมให้เข้าข่ายนี้ด้วย
ประการที่หก ทั้งนี้ จ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ ฟ้าทะลายโจรให้เลย ส่วนประชาชนจะหายาฆ่าพยาธิมาใช้วันละหนึ่งเม็ดขนาด 12 มิลลิกรัมไปห้าวัน ใช้เมื่อมีอาการแล้ว ก็ไม่น่าผิด และจะควบกับน้ำมันกัญชาของ อาจารย์เดชาที่ถูกกฎหมายก็ไม่น่าผิดเช่นกันเพราะช่วยลดการอักเสบและการปวดทรมานของร่างกาย
ประการที่เจ็ด เรื่องยาฆ่าพยาธิ ไอเวอเมคติน ได้เคยเขียนในไทยรัฐ ตั้งแต่ 14 กุมภาพันธ์ 2564 และจนปัจจุบันมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากขึ้นเรื่อยๆจากการใช้จริง และประเทศอังกฤษเริ่มบรรจุเข้าในการวิจัยจริงจัง
แต่...จะรอสรุป และโต้เถียงกันอีกกี่เดือน ทั้งนี้ ยาปลอดภัย และถูก สามารถใช้ตั้งแต่เริ่มอาการเล็กๆน้อยๆ แบบฟ้าทะลายโจร
นี่คือภาวะสงคราม ไม่ใช่วิจัยตีพิมพ์ก่อนแล้วค่อยประกาศ
ไปแอบดูห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลไหนก็ได้ แล้วจะเห็นความจริงว่าคนป่วยที่รอเตียงจนอาการหนักขึ้นต้องบากหน้ามาที่ห้องฉุกเฉินหวังว่าจะได้รับการรักษามีจริงหรือไม่

ประการที่แปด ถ้าปล่อยให้ประชาชนอยู่ร่วมกันโดยไม่รู้ว่าใครติด ใครไม่ติด คงไม่มีทางระงับการแพร่กระจายของโรคระบาดนี้ได้ ชุมชนแรงงาน แคมป์แรงงาน ไม่ใช่เป็นขุมรังโรคอย่างเดียวตามที่คิด เพราะเชื้อแพร่ไปตามบ้านเรือนไปนานพอสมควรแล้ว ที่สมาชิกในครอบครัวต้องทำงานนอกบ้าน และ...ในที่สุดกลับมาแพร่เชื้อในบ้านต่อ การตรวจคัดกรองที่เข้าถึงได้ยังไม่มี
ประการที่เก้า ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทยได้ทำการเรียกร้องการจัดการ รวมทั้งการจัดหาวัคซีนหลากหลายไปแล้ว คงไม่ต้องทำวิจัยหรืออ่านตำรามาแสดงดูสถานการณ์ที่เป็นอยู่ขณะนี้ซึ่งเป็นโรคและโลกแห่งความเป็นจริงคงจะทำให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น
ประการที่สิบ ชัดเจนแล้วเด็กเล็ก เด็กโตติดกันหนาแน่นในประเทศไทย จนพ่อแม่อยู่ในห้องความดันลบ ลูกน้อยที่ติดเชื้อต้องนอนอยู่ในห้องเดียวกัน ถึงเวลาแล้วหรือไม่ ที่จะใช้วัคซีนเชื้อตายที่ถึงแม้ประสิทธิภาพจะไม่สูงเยี่ยมเทียมเท่ากับวัคซีนชนิดอื่นมาให้เด็กทั้งหมด
โดยที่ประเทศจีนใช้วัคซีนแล้วในเด็กตั้งแต่อายุสามขวบจนถึงผู้ใหญ่ เนื่องจากวัคซีนเชื้อตายก็เป็นเหมือนเช่นวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าที่สามารถฉีดได้ตั้งแต่เด็กจนถึงแก่ แม้กระทั่งคนที่กำลังตั้งท้อง
เวลานี้ไม่ใช่เวลาที่จะมานั่งเพ่งพินิจ พิจารณาอยู่บนภูเขาหรือชายหาดโก้เก๋ ลองใช้เวลาหนึ่งสัปดาห์มานั่งอยู่ในห้องฉุกเฉิน ลงมาตรวจ ลงมาพูดคุยกับผู้ป่วยและครอบครัวคงจะทำให้เห็นสถานการณ์ได้ดีขึ้นเป็นแน่แท้
ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" รวบรวมตัวเลขสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19)ในประเทศไทย วันที่ 21 กรกฏาคม 64 จากศูนย์ข้อมูล COVID-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า 
ติดเชื้อเพิ่ม 13,002 ราย พบจาก
ตรวจในระบบ    9012 ราย 
ตรวจเชิงรุก        2910 ราย
ในเรือนจำ          1049 ราย
ในสถานกักตัว    31 ราย
สะสมระลอกที่สาม 410,614 ราย
สะสมทั้งหมด         439,477 ราย
รักษาในโรงพยาบาล 131,411 ราย
โรงพยาบาลหลัก        81,570 ราย
โรงพยาบาลสนาม     49,841 ราย
อาการหนัก               3786 ราย
ใช้เครื่องช่วยหายใจ 879 ราย
หายกลับบ้านได้ 8248 ราย
สะสม                 304,675 ราย
เสียชีวิต                 108 ราย
สะสมระลอกที่สาม 3516 ราย
สะสมทั้งหมด         3610 ราย