"โควิด-19" แพร่กระจายจากการพูดคุย-ร้องเพลงมากกว่าหายใจ 7.5-10.4 เท่า

21 ก.ค. 2564 | 01:09 น.

หมอเฉลิมชัยเผยข้อมูลวิจัยได้มาตรฐานพบการการพูดคุยและการร้องเพลงสามารถแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 ได้มากกว่าการหายใจธรรมดา 7.5-10.4 เท่า ด้านประเทศไทยติดเชื้อใหม่พุ่ง 13,002 ราย

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า 
ชัดเจนแล้ว ไวรัสโคโรนาแพร่กระจายจากการพูดคุยและการร้องเพลง มากกว่าการหายใจธรรมดา  7.5-10.4 เท่า
นับจากมีการแพร่ระบาดของโควิด ซึ่งเชื้อก่อโรคได้แก่ ไวรัสโคโรนาลำดับที่เจ็ด ซึ่งมีขนาดเล็กมาก เล็กกว่า PM 2.5 ถึง 20 เท่า จึงไม่น่าแปลกใจ ที่ไวรัสชนิดนี้ จะติดต่อกันผ่านทางละอองฝอยจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง
ในช่วงมีการระบาดต้นปี 2563 เราพบมีกลุ่มระบาดขนาดใหญ่ ที่เรียกว่า Superspreader ทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ ร้องเพลงประสานเสียงในโบสถ์ ล้วนมีกิจกรรมลักษณะพิเศษ ทำให้เกิดละอองฝอยจำนวนมาก
ในเมืองไทย เช่น ในสนามมวย ผับ-บาร์ และบ่อนการพนัน จะมีการติดเชื้อจำนวนมากซึ่งคาดว่ามาจาก การตะโกน พูดเสียงดัง ร้องเชียร์ ร้องเพลงเสียงดัง ในที่อับทึบ และระบายอากาศไม่ดี มีละอองฝอยมาก ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย
มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ได้ทำวิจัยเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนว่า ไวรัสแพร่ระบาด เมื่อเปรียบเทียบกันระหว่างการหายใจธรรมดา การพูดคุย และการร้องเพลง จะแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

โดยใช้กลุ่มตัวอย่างจาก ผู้ที่ติดเชื้อโควิดจำนวน 22 ราย เก็บละอองฝอย(Droplet) และละอองลอย (Aerosol)
จากการหายใจ 30 นาที
จากการพูด 15 นาที
จากการร้องเพลง 15 นาที
อุปกรณ์เก็บฝอยละออง
โดยใช้อุปกรณ์ที่ออกแบบมาเพื่อเก็บละอองฝอยและละอองลอย แล้วนำไปตรวจวิเคราะห์หาชิ้นส่วนของไวรัสหรือสารพันธุกรรมของไวรัส ได้ข้อมูลที่น่าสนใจคือ
เมื่อเปรียบเทียบปริมาณไวรัสจากการหายใจกับการพูดคุย จะพบว่าไวรัสจากการพูดคุยจะมากกว่า 7.5 เท่า

การเก็บละอองฝอย
ถ้าเปรียบเทียบการหายใจกับการร้องเพลง จะพบไวรัสจากการร้องเพลงมากกว่า 10.4 เท่า
โดยฝอยละอองที่ตรวจพบนั้น จะพบไวรัสในละอองฝอย (ขนาดใหญ่กว่า 5 ไมครอน) 14.6% และในละอองลอย (ขนาดเล็กกว่า 5 ไมครอน) 85.4% โดยในผู้ติดเชื้อ 22 ราย นั้นตรวจพบไวรัสในฝอยละออง 59% หรือ 13 ราย ในผู้ติดเชื้อที่มีอาการในวันแรกแรก จะพบไวรัสได้มากกว่าวันท้ายท้าย

เป็นข้อมูลทางวิชาการที่มีการวิจัยอย่างได้มาตรฐาน สรุปเป็นความจริงที่ชัดเจนว่า
การร้องเพลง การตะโกนพูดเสียงดังในสถานที่อับทึบระบายอากาศไม่ดี จะทำให้เกิดการติดเชื้อได้มาก และง่ายกว่าการหายใจปกติและอยู่ในที่โล่งแจ้งมากทีเดียว
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทยวันที่ 21 กรกฏาคม 64 นั้น จากการติดตามข้อมูลของ "ฐานเศรษฐกิจ" จากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. พบว่า มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นรวม 13,002 ราย มาจาก ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 11,953 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 1,049 ราย  ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 410,614 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 108 ราย หายป่วยเพิ่ม 8,248 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 277,030 ราย 

สถานการฯ์การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย