"Rapid Test" หมออนุตตรชี้หากผลเป็นบวกค่อนข้างแน่ติดเชื้อโควิด-19

14 ก.ค. 2564 | 02:13 น.

หมออนุตตรเผยข้อมูลการแปลผล Rapid Antigen Test ชี้หากผลเป็นบวกค่อนข้างแน่ติดเชื้อโควิด-19 ระบุจะมีผลบวกลงต่ำมาก ยันได้ผลเป็นลบกรณีที่มีอาการหรือไม่มีอาการยังประมาทไม่ได้

รายงานข่าวระบุว่า พล.อ.ท.อนุตตร จิตตินันทน์ (หมออนุตตร) ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (Anutra Chittinandana) โดยมีข้อความว่า    
การแปลผล Rapid Antigen Test (Ag) for SARS-CoV-2
หมออนุตตร ระบุว่า วันนี้ขอเอาข้อมูลรายงาน Morbidity Mortality Weekly Report (MMWR) เมื่อเดือนมกราคม 2021 จากศูนย์ควบคุมโรค (Center of Disease Control, CDC) ของสหรัฐอเมริกา ที่แสดงงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิลในประชากร 1,098 คน ที่ทดสอบ Ag ชนิด Sofia SARS Antigen Fluorescent Immunoassay (FIA) (Quidel Corporation) เปรียบเทียบกับการตรวจมาตรฐาน real-time reverse transcription–polymerase chain reaction (RT-PCR) สำหรับ SARS-CoV-2 
สรุปผลการตรวจ Ag เมื่อเทียบกับ RT-PCR 
ในคนที่มีอาการ มีความไว (sensitivity) 80.0% และความจำเพาะ (specificity) 98.9%  
ในคนที่ไม่มีอาการ ความแม่นยำจะลดลง มีความไว 41.2% และความจำเพาะ 98.4%

ความจำเพาะดีมาก หมายความว่า ถ้าตรวจ Ag ได้ผลบวก แทบจะบอกได้ว่ามีเชื้อก่อโควิด-19 (Covid-19) ค่อนข้างแน่ มีผลบวกลง (false positive) ต่ำมาก
ความไวลดลงมากในผู้ที่ไม่มีอาการ  หมายความว่า ถ้าตรวจ Ag ได้ผลลบ เมื่อมีอาการ โอกาสพลาดเป็นผลลบเท็จ (false negative) 1 ใน 5 คน แต่ถ้าไม่มีอาการโอกาสพลาดถึง 3 ใน 5 คน ดังนั้นหากตรวจได้ผลลบไม่ว่าจะมีอาการหรือไม่ต้องอย่าประมาท ยิ่งมีอาการ มีประวัติเสี่ยงยิ่งต้องกักตัว ป้องกันการติดต่อผู้อื่น เพื่อลดการกระจายเชื้อเช่นกันนะ

"Rapid Test" หมออนุตตรชี้หากผลเป็นบวกค่อนข้างแน่ติดเชื้อโควิด-19
ขอเน้นว่าความไวและความจำเพาะของชุดทดสอบ Ag แต่ละชนิดมีความแตกต่างกัน ที่แสดงเป็นเพียงรายงานผลของชุดทดสอบ Ag ชนิดเดียวเท่านั้น
สำหรับประเด็นเรื่องของการใช้ Rapid Antigen Test นั้น จากการตรวจสอบล่าสุด "ฐานเศรษฐกิจ" พบว่า วันที่ 13 กรกฏาคม 2564 เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชุดตรวจและน้ำยาที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยการติดเชื้อ SARS-CoV-2 (เชื้อก่อโรค COVID-19) แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (COVID-19 Antigen test self-test kits) พ.ศ.2564 ประกาศโดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2564.

มีใจความสำคัญว่า  เพื่อให้มีการเข้าถึงการตรวจคัดกรองที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยการติดเชื้อ SARS-CoV-2 (เชื้อก่อโรค COVID-19) ด้วยตนเอง อันจะทำให้ประชาชนได้รับทราบถึงสถานการณ์ติดเชื้อก่อโรค COVID-19 ของตนเองตั้งแต่ในระยะเริ่มแรก นำไปสู่กระบวนการตรวจวินิจฉัย ยืนยัน รักษา และป้องกันที่เหมาะสมโดยเร็ว
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง มาตรา 6 (4) (6) (8) (10) (13) (18) และมาตรา 45 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551 และมาตรา 6 (1) (ก) และมาตรา 44 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551 (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2562 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยคำแนะนำของคณะกรรมการเครื่องมือแพทย์ออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป