สุดารัตน์ ฉะ รบ. สั่ง ' ล็อกดาวน์' แนะ 4 เรื่องใหญ่ ต้องเร่งบริหารจัดการ

27 มิ.ย. 2564 | 10:41 น.

คุณหญิงสุดารัตน์ ฉะรัฐบาลสั่ง ' ล็อกดาวน์' ปิดช่องทางทำกิน แนะแนวทางแก้ไข 360 องศา 4 เรื่องใหญ่ ต้องเร่งบริหารจัดการวิกฤติ

27 มิถุนายน 2564 - คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์  ประธานพรรคไทยสร้างไทย โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุ ถึง คำสั่ง ล็อกดาวน์ พื้นที่สีแดง สกัดการแพร่ระบาดโควิด19 ของรัฐบาล ว่า ป้องกันโรคไม่ได้ และยังทำลายเศรษฐกิจ โดยมีใจความสำคัญว่า ....

“การบริหารแบบตามยถากรรม”  การล็อกดาวน์ โดยล็อกคน ปิดการทำมาหากินเพียงอย่างเดียว  โดยไม่ล็อกโรค จะไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ในเร็ววัน คนจะตายเพราะโรคและพิษเศรษฐกิจอีกมากมาย 

การแก้ไขปัญหาต้องคิดให้รอบด้าน 360 องศา ไม่ใช่บริหารตามยถากรรมแบบนี้ สิ่งที่นายกในฐานะประธาน ศบค. ต้องเร่งบริหารจัดการ คือ 

1) เรื่องเตียงขาดแคลน ที่ดิฉันได้เคยเสนอมาตั้งแต่กลางเดือนเมษายน ให้นายกเร่งดำเนินการ 2 เรื่อง คือ สร้างเตียงสนาม (เตียงเขียว) เพิ่มทุกเขตใน กทม. โดยใช้วัด, โรงเรียนที่ปิดอยู่ หรือเช่าโรงแรม 3 ดาวที่ว่างเต็มไปหมด เพื่อเร่งนำผู้ติดเชื้อออกจากชุมชน เพื่อลดการระบาด 

อีกเรื่องคือ การบริหารจัดการเตียงผู้ป่วย (เตียงเหลือง) และผู้ป่วยหนัก ICU (เตียงแดง) ให้บริหารจัดการเตียงในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ร่วมกับจังหวัดใกล้เคียง ที่มีการระบาดน้อย เตียงยังเหลือ ซึ่งถ้าทำตั้งแต่เมษายนตามที่แนะนำ ก็จะไม่เกิดเหตุเศร้าในวันนี้ ที่หมอต้องเลือกให้คนไหนได้อยู่ต่อ และต้องปล่อยคนไปตายคาบ้าน

2) เมื่อเร่งเตรียมเตียงได้แล้ว ต้องเร่งระดม “ตรวจเชิงรุก” เพื่อนำผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อเข้าระบบเร็วที่สุด

3) เรื่องวัคซีน ในขณะนี้สายพันธุ์ Delta (อินเดีย) กำลังกลายเป็นสายพันธุ์หลัก ที่ระบาดอยู่ในกรุงเทพและอีกหลายจังหวัด ซึ่งกระจายเร็วกว่า Alpha (อังกฤษ) และป่วยหนัก เสียชีวิตมากกว่า  ขณะที่วัคซีนเชื้อตาย ทำจากสายพันธุ์จีน จึงมีข้อจำกัด  เห็นว่า ปัญหาขณะนี้เป็นผลจากนโยบายที่ผิดพลาด choice of vaccine ที่เลือกไม่สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดในขณะนี้ 

ต้องเร่งนำเข้าวัคซีน mRNA ที่ต่อสู้กับเชื้อกลายพันธุ์ อย่างสายพันธุ์อินเดีย และแอฟริกา ที่กำลังระบาดในประเทศไทยได้  ไม่ใช่ยังดื้อดึงซื้อวัคซีนที่ไม่มีประสิทธิภาพต่อเชื้อกลายพันธุ์ต่อไป ซึ่งล่าสุดวันนี้เข้า กทม มาแล้ว 1 ราย 

4) การล็อกดาวน์ ต้องมาพร้อมกับการเยียวยา ผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด ตั้งแต่ลูกจ้างจนไปถึงเจ้าของกิจการ รัฐจะอ้างไม่ได้ว่า ไม่ได้ห้ามขาย แต่เมื่อล็อกดาวน์ เขาไม่สามารถขายได้อยู่แล้ว จึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องชดเชยค่าเสียหาย ที่เกิดจากการบริหารงานผิดพลาดของรัฐบาลเองที่บริหารงานตามยถากรรม จนควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไม่ได้  ส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจและลูกจ้างต้องได้รับความเดือดร้อนเพราะขาดรายได้

การบริหารแบบตามยถากรรม ของรัฐบาล หลับหูหลับตากำหนดนโยบายที่ผิดพลาด ป้องกันโรคไม่ได้ แต่ทำลายเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่ก็ดื้อดึงไม่ยอมเปลี่ยนนโยบาย ได้ส่งผลกระทบอย่างแสนสาหัสให้กับคนไทยทั้งประเทศ