หาคำตอบ "สีของดาวตก" เกิดจากอะไร ทำไมจึงมองเห็นแตกต่างกัน

23 มิ.ย. 2564 | 21:00 น.

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ อธิบาย "สีของดาวตก" ปัจจัยใด มีองค์ประกอบอะไรที่ทำให้มองเห็นสีที่แตกต่างกันได้บ้าง

กำลังได้รับความสนใจไม่น้อยกรณีมีรายงานช่วงค่ำของวันที่ 22 มิถุนายน 2564 ว่า ในหลายจังหวัดภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ ลำพูน พะเยา แม่ฮ่องสอน และลำปาง มีผู้พบเห็นลูกไฟคล้ายอุกกาบาตขนาดใหญ่มีแสงสีเขียว ในบางพื้นที่เห็นเป็น แสงสีฟ้า พุ่งจากทิศตะวันตกไปยังทิศตะวันออก ก่อนได้ยินเสียงระเบิดดังสนั่นตามมา อย่างไรก็ดี ไม่มีหลักฐานและไม่มีรายงานความเสียหายเกิดขึ้น โดยเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้อธิบายถึงปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นคาดว่า เป็น ดาวตกชนิดระเบิด (Bolide) ซึ่งแสงสีเขียวที่เห็นนั้นก็มีความหมายที่น่าสนใจ 

ดาวตก คือ อะไร 

ดาวตก เกิดจากเศษหินและฝุ่นของดาวหาง หรือดาวเคราะห์น้อย พุ่งเข้ามาชนกับชั้นบรรยากาศโลกด้วยความเร็วสูงมาก เกิดการเสียดสีและเผาไหม้ ทำให้อะตอมของดาวตกเปล่งแสงออกมาในช่วงคลื่นต่าง ๆ เราจึงมองเห็นสีของดาวตกปรากฏในลักษณะที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสองปัจจัยได้แก่ องค์ประกอบทางเคมี และโมเลกุลของอากาศโดยรอบ ซึ่งชนกับตัวดาวตกอย่างรุนแรงจนเกิดความร้อนสูง

สีของดาวตกแตกต่างกัน

แสงที่เปล่งออกมาจากอะตอมโลหะของดาวตกจะแตกต่างกันไปตามองค์ประกอบทางเคมี เช่น

-อะตอมแคลเซียม ( Ca ) ให้แสงสีออกโทนม่วง

-อะตอมแมกนีเซียม ( Mg ) ให้แสงสีฟ้าเขียว

-อะตอมโซเดียม ( Na ) ให้แสงสีส้มเหลือง

-อะตอมเหล็ก ( Fe ) ให้แสงสีเหลือง

ในขณะที่โมเลกุลในชั้นบรรยากาศโลกจะมีอะตอมของออกซิเจน ( O ) และไนโตรเจน ( N ) เป็นองค์ประกอบ ซึ่งจะให้แสงสีแดง

ดังนั้น สีของดาวตกจึงขึ้นอยู่กับการเปล่งแสงขององค์ประกอบแต่ละชนิด และการเปล่งแสงของอากาศโดยรอบตัวดาวตกที่ร้อนจัด ซึ่งจะให้แสงสีแดงและสีเขียวเป็นหลัก ขึ้นอยู่กับความสูงจากพื้นโลกนั้นเอง

ที่มา : เฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ 

หาคำตอบ "สีของดาวตก" เกิดจากอะไร ทำไมจึงมองเห็นแตกต่างกัน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง