“หมอบุญ” จี้ 3 ปมร้อนรัฐบาลนายกตู่  “ไวรัสกลายพันธุ์-วัคซีน-เปิดประเทศ”

23 มิ.ย. 2564 | 09:56 น.

“หมอบุญ” ชี้ไวรัสกลายพันธุ์ปัญหาใหญ่ เมื่อไทยจะเปิดประเทศใน 120 วันแต่นักท่องเที่ยวเชื่อมั่นแค่ไหน  วัคซีนมาเมื่อไร 3 จุดบกพร่องที่รัฐบาลต้องแก้ด่วนคืออะไร  

นายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)หรือ THG  เปิดเผยผ่านรายการ “ฐานทอล์ค” ว่า ไวรัสกลายพันธุ์เป็นปัญหาใหญ่ ตอนนี้อังกฤษ การระบาดเป็นสายพันธุ์เดลต้าทั้งนั้น ขณะที่อังกฤษเองใช้วัคซีนดีกว่าไทย ส่วนใหญ่ฉีดแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็ม 1 และเข็ม 2 ก็ยังเอาสายพันธุ์นี้ไม่อยู่ และตอนนี้กำลังศึกษาดูว่าสาเหตุเกิดจากอะไร

การที่รัฐบาลจะเปิดประเทศใน 120 วัน ต้องดูว่านักท่องเที่ยวมีความเชื่อมั่นและอยากมาหรือไม่ ขณะที่จีนเองก็ยังปิดประเทศ ไม่ยอมให้คนจีนออกเดินทาง และนักท่องเที่ยวหลักที่มาไทยก็คือจีน  ขณะที่ยุโรปและอเมริกาไม่มาไทยแน่นอน เพราะฉะนั้นการเปิดประเทศต้องถามก่อนว่าใครจะมา

“การที่รัฐบาลประกาศเป้าหมายที่จะเปิดประเทศใน 120 วัน ดีใจที่นายกทุบโต๊ะ คือมีความตั้งใจที่ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย เพราะเคยพูดหลายครั้งแล้วว่าจังหวัดที่ควรทำคือกรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ พัทยา กระบี่ แต่การที่เราตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะเปิดประเทศ ต้องถามก่อนว่าใครจะมา ถ้าได้สัก 3 แสนคนก็ยังดี”

แต่ปัญหาก็คือ 1. วัคซีนที่เราฉีดได้ผลแค่ไหน ต่างชาติไว้ใจเราแค่ไหน 2. เขาจะมามั้ย เรามีอะไรที่จะเรียกว่าสร้างความมั่นใจ ว่าเข้ามาแล้วจะไม่ติดเชื้อกลับไป เพราะว่าถ้าหากว่าประเทศที่เปิด เมื่อมาแล้วถ้ากลับไปเขาต้องโดนกักตัวอีก เขาก็ไม่อยากมา อย่างจีนห้ามเด็ดขาดเลยถ้าเขามาเที่ยว 5 วัน กลับไปโดนกักตัวอีก 21 วันหรือ 14 วัน

นายแพทย์บุญ วนาสิน

ถ้าเราทำได้ดีอย่างที่เราทำตอนที่แบดมินตัน ถึงจะเป็น 3 คนแต่เราก็เอาไว้อยู่ พูดง่ายๆเราตรวจทุก 3 วัน ส่งออกทุก 3 วัน เป็นแล้วแยกตัวออกมา แต่ว่านักท่องเที่ยวเราทำแบบนั้นไม่ได้ คลุมยาก ตอนนี้ผมได้รับติดต่อเพราะเรามีโรงพยาบาลที่ภูเก็ต ผมบอกว่าถ้าจะให้เราทำ เราทำค่อนข้างเข้มงวดนะ

“เราขอตรวจวันเว้น 3 วันนะ คุณจะเดินไปได้จะไปว่ายน้ำเราไม่ว่า แต่เราขอตรวจ เพราะว่าบางคนก่อนขึ้นเครื่องบิน negative เคสนี้เกิดขึ้นที่ญี่ปุ่น เขาก็รับเชื้อมาแล้ว 2 วันยังไม่แสดง พอมาถึงญี่ปุ่นตรวจเจอ เพราะฉะนั้นต้องเข้มงวดมากๆ แล้วต้องได้รับความร่วมมือจากนักท่องเที่ยวด้วย”

โดยส่วนตัวการที่รัฐบาลจะเปิดประเทศใน 120 วัน  ผมอยากให้เปิดเป็นการทดลองความสามารถของเรา แต่เราพร้อมหรือไม่เท่านั้นเอง

ตอนนี้เราต้องอยู่กับไวรัสตัวนี้อีกอย่างน้อย 4 ปี ถ้าเราไปกลัว เราก็ไม่ไหวเหมือนกัน การควบคุม การดูแลวัคซีน ยังเป็นโจทย์ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ยกตัวอย่าง สัปดาห์ก่อน ฟิลิปปินส์ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ 40 ล้านโดส อินโดนีเซียได้วัคซีนไฟเซอร์ 50 ล้านโดส

“ไฟเซอร์” ที่ไทยสั่งไปจะส่งเดือนหน้าแต่เลื่อนไปอีกแล้ว เหตุผลคืออะไร เลื่อนไปถึงไตรมาส 4 เดือนก.ย. จะได้หรือไม่ หรือจะถึงเดือนพ.ย.  ตอนนี้หน้าที่ผมก็คือช่วยประเทศอย่างเดียว เมื่อคืนนี้ ทางกทม.โทรมาบอกว่ามีผู้ป่วยที่ไม่สามารถที่จะเข้าโรงพยาบาลได้ 1,600 คนเฉพาะในกรุงเทพฯ”

ผมบอกว่าถ้ามีผู้ติดเชื้อเกิน 2,000 คนติดต่อกัน 3 สัปดาห์ ระบบสาธารณสุขในกรุงเทพฯรับไม่ได้ ถ้าสีเขียวก็โอเค เมื่อคืนคืนเดียวตัวเลขล่าสุด 1,600 คน ที่ไม่มีเตียงรองรับ กลุ่มสีเหลืองสำคัญที่สุด สีเหลืองตอนนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รพ.บุษราคัมก็รับไม่ไหวแล้ว กทม.เต็มหมด ทุกรพ.เต็มหมด อย่าไปพูดถึงสีแดง สีแดงหรือผู้ป่วยวิกฤติ แทบจะไม่มีสิทธิ์

“วันนี้ห้อง ICU อาจจะต้องใส่ไปสองเตียง แล้วแชร์เครื่องหายใจเครื่องเดียวกัน สถานการณ์นี้ เกิดขึ้นมา 1 เดือนแล้ว”   

โรงพยาบาลธนบุรี  ดูแลผู้ป่วยสีเขียวกว่า 700 คน สีเหลือง 150 คน และสีแดงอีก 60 คน เราทำในฐานะหน้าที่เรา ถ้าจำได้เมื่อมี.ค. 63  14 เดือนที่แล้ว ผมมาพูดเรื่องเครื่องมือเครื่องไม้การสร้างห้องความดันลบ แล้วก็เรื่องเครื่องหายใจ แล้วโรงพยาบาลสนามด้วย ว่าคุณจะเตรียมพร้อมอย่างไร มีตัวอย่างในบราซิล เปรู อังกฤษ ฝรั่งเศส เราจะรับมือกับเรื่องนั้นอย่างไร ก็ต้องดูตัวอย่างเขา

โรงพยาบาลเอกชนสั่งซื้อวัคซีนทางเลือก “โมเดอร์นา” ไปแล้ว โดยองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นผู้ดำเนินการให้ แต่กระบวนการ ขั้นตอน ยังต้องส่งให้อัยการสูงสุด คำถามคือ ทำไมต้องส่งไปที่อัยการสูงสุด กระทรวงสาธารณสุขเขาตัดสินใจได้กว่าจะนำเข้าได้แทนที่จะเป็นเดือนก.ย. เลื่อนไปต้นเดือนต.ค. ทั้งที่ทั่วโลกยอมรับแล้วไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันเพิ่มเป็น 10 – 70 เท่าและป้องกันสายพันธุ์เดลต้าได้

วัคซีนโมเดอร์นา

“องค์การเภสัชฯ ให้ความร่วมมือดีมาก เคลียร์ให้เราทุกอย่าง แต่ผมงงว่าทำไมระหว่างที่พูดเมื่อเดือนที่แล้วกับเดือนนี้  กระบวนการที่มันยาวโดยทุกคนไม่เข้าใจ จริงๆมันเป็นภาวะฉุกเฉิน ทุกคนต้องยอมรับว่าขั้นตอนไหนที่มันล่าช้า ก็ควรทำให้เร็วขึ้น อย่างเราต้องการโมเดอร์นา 5 ล้านโดส สั่งเพิ่มเป็น 10 ล้านโดส ใช้เงินประมาณกว่า 1 หมื่นล้านบาท เราก็เตรียมพร้อมคุณส่งมาเมื่อไหร่ ผมก็ส่งเงินไปให้คุณเลย”

ตอนนี้เนี่ยทั้งไฟเซอร์ โมเดอร์นา มีคนต้องการมากเพราะว่าทุกคนก็อยากได้หมด แต่ว่าเขามีโควต้าสำหรับประเทศ เหมือนเมียนมาร์ได้ไปแล้วตั้งเยอะ ฟิลิปปินส์ได้ อินโดนีเซียก็ได้ เขาต้องการกระจายวัคซีนออกไปยังประเทศต่างๆ

นายแพทย์บุญ กล่าวอีกว่า มีการพิสูจน์แน่นอนแล้วว่าถ้าคุณฉีดไฟเซอร์ โมเดอร์นา เป็นบูสเตอร์ ภูมิคุ้มกันของคุณจะขึ้น 10 - 70 เท่า เพราะว่าที่คุณฉีดซิโนแวค มันป้องกันเดลต้าไม่ได้เลย เพราะตอนนี้เปอร์เซ็นผู้ติดเชื้อของสายพันธุ์เดลต้าในเมืองไทยเพิ่มเป็น 20% แล้ว

ข้อบกพร่องของไทยคือ 1. การตรวจเชิงรุกน้อยมาก  2.  ไม่ล็อกดาวน์ ปล่อยให้กระจายไปทั่ว ที่ประเทศจีน ติดเชื้อ 30 คน เขาตรวจเชิงรุกเป็นล้านคน สั่งล็อกดาวน์ใช้ทหารถือปืน ไม่ให้ออกเลยบริเวณนั้น คุมโรคให้อยู่ในที่ตรงนั้นให้ได้ ปิดทั้งเมือง

“ผมเตือนแล้วว่าที่เสี่ยงคือคลัสเตอร์ ตอนนี้มี 95 คลัสเตอร์ ตอนนั้นเราพูดกันกว่า 10 คลัสเตอร์ ตอนนี้ปัญหาคลัสเตอร์ก็ยังแก้ไม่ออก”

เรื่องที่ 3. คือวัคซีน กลับมาเรื่องเดิม พูดไรก็วนๆกลับมาที่เดิม ว่าคุณฉีดให้ครบ 70% ให้เร็วที่สุด สำหรับกรุงเทพฯ แล้วผมก็พูดว่าคนชรา กลุ่มโรคเสี่ยงเห็นด้วย แต่ว่าที่สำคัญกว่านั้นคือ “คนทำงาน” เช้า-เย็น ขับมอเตอร์ไซค์ออกไปข้างนอก ไปคุย ไปกิน บางคนนี้ต้องฉีดให้เขาก่อนหรือพร้อมกัน

คนสูงอายุเราบอกได้ว่าอยู่บ้านนะ ห้ามไม่ใครเยี่ยม ยังพอพูดได้ แต่คนที่ทำงานประจำ โดยเฉพาะคนที่หาเช้ากินค่ำ เขาไม่ออกมาก็ไม่มีกิน ซึ่งเราไม่สามารถจะไปนั่นเขาได้ ก็ต้องรีบฉีด ทางเดียวคือฉีดวัคซีน

การแก้ปัญหากลับมาที่การเรียกกักตัว ต้องเข้มงวดมากๆ คือล็อกดาวน์เป็นจุดๆ แต่ตอนล็อกดาวน์จะต้องเรียกว่าไม่ให้ใครออกใครเข้าเลย คลัสเตอร์ต่างๆ แต่เจ้าของโรงงานก็พยายามต่อรองว่าให้เขาทำงานอยู่ตรงนั้น แล้วก็อย่าให้เขาอยู่ในหอ กิจการเขาจะเจ๊ง

ฉีดวัคซีนโควิด

เรื่องใหญ่คือว่าเวลาพวกนี้ออกมาทำงานอะไรแล้วเนี่ย มันไม่กลับไปที่เดิม ไม่กลับไปหอพัก เราไม่มีตำรวจหรือทหารที่จะไปคุมเขา เพื่อให้เจ้าของบริษัทเป็นคนจัดการหรือกระทรวงสาธารณสุขกำลังคน อย่างกทม.เนี่ยถ้าเป็น 95 คลัสเตอร์เนี่ยจะเอาคนที่ไหนไปคุมเขา ถึงคุมเขาก็ถ้าเขาไม่เชื่อแอบๆไป จะไปรู้ได้ไงกลางคืน วิ่งไปไหน

นอกจากปัญหาเรื่องไวรัส ปัญหาเศรษฐกิจก็ยังสาหัสสากรรจ์ อุตสาหกรรมบ้านเรายังไม่ได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจมา 20 ปีแล้ว จนถึงปัจจุบันด้านการผลิตไม่มีอะไรใหม่ ทั้งๆที่ทั่วโลกเปลี่ยนแปลงไปสู่ อินโนเวชั่น ไอที ดิจิตอลอีโคโนมี แต่โครงสร้างทางเศรษฐกิจไทยไม่เคยเปลี่ยน วันนี้เราต้องกล้าเปลี่ยน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :