IMH ดีเดย์ฉีด“ซิโนฟาร์ม” 25 มิ.ย.นี้

18 มิ.ย. 2564 | 11:55 น.

IMH คว้าสิทธิลงทะเบียน เป็นสถานพยาบาลให้บริการฉีดวัคซีนตัวเลือก “ซิโนฟาร์ม” ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เตรียมฉีดเข็มแรก 25 มิ.ย.นี้ เผยมีลูกค้าเลือกขอรับบริการแล้วกว่า 35,000 ราย มั่นใจภายในไตรมาส 3 ปี 64 ครบ 100,000 โดส

นายสิทธิวัตน์ กำกัดวงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาลอินเตอร์เมดิคัลแคร์ แอนด์ แล็บจำกัด (มหาชน) (IMH) และประธานกรรมการบริหาร โรงพยาบาลประชาพัฒน์ เปิดเผยว่า บริษัทได้ลงทะเบียนเป็นสถานพยาบาลให้บริการฉีดวัคซีนตัวเลือก “ซิโนฟาร์ม” ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่งผลให้บริษัทมีความพร้อมในการเปิดให้บริการฉีดวัคซีนดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป ซึ่งขณะนี้มีลูกค้าลงทะเบียนเลือกขอรับบริการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มกับทางIMH เข้ามาแล้วกว่า 35,000 ราย โดยตั้งเป้าที่จะฉีดวัคซีนดังกล่าวให้ครบ 50,000 ราย หรือประมาณ100,000 โดส ภายในไตรมาส 3 ปี 2564

ทั้งนี้ สาเหตุหลักที่มีกลุ่มลูกค้าเลือกเข้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง เพราะ IMH เป็นโรงพยาบาลเอกชนเฉพาะทางด้านอาชีวเวชศาสตร์ ที่มุ่งเน้นด้านบริการทางการแพทย์แบบเชิงรุกนอกสถานที่ (Mobile Checkup) ด้านการตรวจสุขภาพ ที่มีประสบการณ์มากกว่า 20 ปี รวมถึงมีประสบการณ์และเป็นที่ยอมรับในวงกว้างด้านการให้บริการฉีดวัคซีน ให้กับลูกค้าองค์กร และลูกค้าบุคคล เป็นระยะเวลาที่ยาวนาน โดยIMH มีจุดเด่นที่สำคัญคือ การมี Mobile Checkup ที่สามารถบริการถึงสถานที่ และสามารถตรวจสุขภาพรวมถึงเข้ารับการฉีดวัคซีนได้เฉลี่ยสูงถึง 10,000 คนต่อวัน

“คาดว่าจะลูกค้าให้ความสนใจเลือกใช้ IMH เป็นสถานพยาบาลในการให้บริการฉีด วัคซีนตัวเลือก “ซิโนฟาร์ม” มากถึง 50,000 คน ซึ่งจะส่งผลให้ในไตรมาส 3 จะมีสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง  ทั้งนี้ IMH มีศักยภาพในการให้บริการฉีดวัคซีน ได้มากถึง 10,000 คน ต่อวัน ทั้งแบบ walkin และนอกสถานที่”

ขณะเดียวกัน IMH  ยังเปิดให้บริการตรวจหาภูมิคุ้มกันโควิดแบบละเอียด (IgG ll Quanti) เพื่อเจาะกลุ่มผู้ที่ได้รับฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยเป็นการตรวจวิเคราะห์ด้วยเครื่องตรวจวิเคราะห์ทางภูมิคุ้มกันวิทยา ของบริษัท แอ๊บบอต ลาบอแรตอรีส (ABBOTT) ซึ่งเป็นบริษัทเครื่องมือแพทย์ชั้นนำระดับโลก ทั้งนี้เชื่อว่าการให้บริการดังกล่าว จะสามารถรองรับผู้เข้ารับบริการได้มากกว่า 100,000 คน  ซึ่งเป็นการสอดรับ นโยบายการเร่งระดมฉีดวัคซีนโควิด-19 รวมถึงนโยบายการเปิดประเทศ ของภาครัฐบาลที่ให้ทันภายในช่วงไตรมาส 3 ปี 2564

นอกจากนี้ IMH ยังให้บริการตรวจเชิงรุก สำหรับการตรวจไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นการตรวจเชื้อแบบAntigen swab ที่สามารถให้บริการได้ถึง 3 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาล อินเตอร์เมดฯ, โรงพยาบาลประชาพัฒน์ และ ศูนย์สุขภาพ IMH ASOKE  (ชั้น 4 รพ.ผิวหนังอโศก) อีกด้วย อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบันนี้IMH มีกลุ่มลูกค้าเข้ามาใช้บริการในการตรวจเชื้อโควิด และตรวจสุขภาพ อย่างต่อเนื่องโดยเฉลี่ย 500 – 1,000 ต่อวันต่อคน ซึ่งการให้บริการในรูปแบบดังกล่าว สามารถตอกย้ำให้เห็นว่า IMH ก้าวสู่การเป็นผู้นำในการตรวจโควิด-19 แบบครบวงจร ส่งผลให้คาดว่าภายในปีนี้ IMH จะมีรายได้รวมแตะระดับ 600 ล้านบาท จากปีก่อนที่มีรายได้รวม 247.75 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นการเติบโตแบบก้าวกระโดด  

ด้าน บล.หยวนต้า ประเมินภาพรวม IMH  คาดการณ์รายได้ทั้งปี ไม่ต่ำกว่า 600 ล้านบาท และปรับเพิ่มประมาณการกำไรปี 2564 เป็นนิวไฮ 62 ล้านบาท พลิกจากขาดทุนปีก่อนที่ 17 ล้านบาท เป็นผลบวกจากการให้บริการตรวจโควิด ซึ่งทำได้ดีกว่าที่คาดไว้ จึงให้ราคาเป้าหมายใหม่ 7.15 บาท สะท้อนการปรับตัวของกำไรที่เพิ่มขึ้น