“ปริญญ์”แนะคลังใช้“พรก.กู้เงิน 5 แสนล้าน”สู้โควิดตรงจุด-โปร่งใส 

26 พ.ค. 2564 | 06:59 น.

“ปริญญ์”แนะคลังใช้ “พรก.กู้เงิน 5 แสนล้าน” สู้วิกฤติโควิด ตรงจุด-โปร่งใส ลดคอขวดในการเบิกจ่าย เน้นสร้างภูมิคุ้มกันชีวิต ช่วยแก้ปัญหายั่งยืน

วันนี้(26 พ.ค.64) นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย และ นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงข้อเสนอแนะถึงรัฐบาล หลังมีการประกาศพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด-19 วงเงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท

นายปริญญ์  กล่าวว่า การกู้เงินเพิ่มเป็นเรื่องที่ควรทำในตอนนี้ เพราะสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่รุนแรงกว่าที่ผ่านมา แต่รัฐบาลควรดำเนินการอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และใช้งบประมาณฟื้นฟูให้ตรงจุด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนว่าเงินทุกบาททุกสตางค์จะถูกนำไปใช้อย่างคุ้มค่า เกิดประสิทธิภาพสูงที่สุด พร้อมมีข้อเสนอต่อภาครัฐ 5 ประเด็น ดังนี้ 

1. กู้เงินอย่างมีประสิทธิภาพ-ประสิทธิผล  รัฐบาลควรนำงบประมาณมาใช้โฟกัสให้ตรงจุด โดยมุ่งเน้นการฟื้นฟูเยียวยากลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบเชิงลบจากวิกฤติโควิดและเพิ่มงบประมาณให้ทัพหน้าด้านสาธารณสุข ฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชน ช่วย SMEs อุตสาหกรรมท่องเที่ยว 

รวมถึงมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะนำงบประมาณไปใช้กับโครงการใดบ้างก่อนที่จะกู้เงินออกมา การแจกเงินเป็นเรื่องง่ายและได้ทำไปแล้วพอควร ทางกระทรวงคลังต้องใช้เงินกู้สร้างผลผลิต productivity ที่สูงขึ้นให้กับเศรษฐกิจไทย 

2. ลดคอขวดในการเบิกจ่าย: จากวิกฤติโควิด-19 ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ทำให้เราได้เรียนรู้แล้วว่าอุปสรรคของการเบิกจ่ายงบประมาณ คือ มีคอขวด การกลั่นกรองและอนุมัติโครงการล่าช้า ทำให้กระบวนการเบิกจ่ายติดขัดและประชาชนได้รับการเยียวยาช้ามาก ทางกระทรวงคลังและสภาพัฒน์ ต้องเรียนรู้จากประสบการณ์เหล่านั้น เพื่อเร่งการเบิกจ่ายอย่างทันท่วงที โครงการที่เสนอมาจากชุมชน โดยเฉพาะจากวิสาหกิจเพื่อสังคม (SE) ควรได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ

 

3. มีการวัดผลชัดเจน: กระทรวงคลังต้องชี้แจงถึงผลลัพธ์ใน การเบิกจ่ายงบประมาณให้รัฐสภาและประชาชนได้รับทราบว่านำเงินกู้ไปใช้ทำอะไรบ้าง ได้ผลอย่างไร มีประสิทธิภาพ – ประสิทธิผลจริงหรือไม่ และเพราะเหตุใดถึงต้องกู้เงินเพิ่ม เพื่อความโปร่งใส ตรวจสอบได้ สร้างความไว้วางใจให้ประชาชน สภาวะดอกเบี้ยต่างประเทศมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เราจึงควรล็อคเรทเงินกู้ในข่วงที่ต้นทุนการเงินยังถูก แต่ต้องชี้แจงความคุ้มค่าให้ชัดเจน 

4. ติดตามผลอย่างใกล้ชิดและอำนวยความสะดวกให้ประชาชน: รัฐบาลควรติดตามผลแต่ละโครงการอย่างจริงจัง เพื่อให้แต่ละโครงการถูกขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด และช่วยให้ประชาชนเข้าถึงความช่วยเหลือต่าง ๆ ได้อย่างแท้จริง 

เช่น การเจรจากับธนาคารพาณิชย์เพื่อพักต้นพักดอกเบี้ยเงินกู้ที่ได้ทำไปแล้ว แต่ปัจจุบันกลับพบว่ายังมีประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากภาระดอกเบี้ยที่สูงอยู่ ต้องหันไปพึ่งการกู้เงินนอกระบบ ทำให้หนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่เป็นไปตามจุดประสงค์ที่รัฐบาลวางไว้ 

                                                “ปริญญ์”แนะคลังใช้“พรก.กู้เงิน 5 แสนล้าน”สู้โควิดตรงจุด-โปร่งใส 

ด้านนางดรุณวรรณ กล่าวเสริมว่า นอกจากการบริหารจัดการเรื่องวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว การให้วัคซีนชีวิตเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในระยะยาวถือเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง และไม่เห็นด้วยที่จะแก้ปัญหาโดยการแจกเงินตลอดไป เพราะไม่ยั่งยืน อยากให้มีมาตรการที่ชัดเจนเรื่องการจัดหางาน การช่วยคนตกงาน ลดวิกฤตทางสังคม 

หลังจากที่ประเทศไทยเจอวิกฤติทางสาธารณสุข และวิกฤติทางเศรษฐกิจไปแล้ว ปัจจุบันกำลังเจอกับภาวะคนตกงาน ที่กำลังจะเกิดเป็น “วิกฤติทางสังคม” ครั้งใหญ่ รัฐบาลควรผลักดันปัญหาดังกล่าวให้เป็นวาระแห่งชาติ เร่งใช้เงินกู้นี้เยียวยาให้ถูกจุด 
เช่น ช่วยสมทบเงินเดือนบางส่วนให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และสตาร์ทอัพ หรือ ยกระดับแรงงานให้มีฝีมือ productivity เพิ่มช่องทางให้คนเข้าถึงงานยุคใหม่ได้มากขึ้นผ่านการเทรนอบรมเชิงปฏิบัติการและโครงการฝึกงาน apprenticeship อย่างที่ทีมเศรษฐกิจทันสมัย ปชป. ได้นำร่องโครงการ “เรียนจบ พบงาน” มาแล้วนั้น เพื่อช่วยพัฒนาทักษะให้คนตกงานสามารถอยู่รอดได้ในยุควิกฤต และเสริมสมรรถนะให้เขาหางานที่ดีขึ้นได้หลังวิกฤติอีกด้วย  

“ทุกวิกฤติมาพร้อมกับโอกาสเสมอ เชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจสถานการณ์วิกฤติรุนแรงขึ้นจึงต้องกู้เงินเพิ่มเพื่อนํามาแก้ปัญหา แต่เงินกู้ทุกบาททุกสตางค์เป็นภาระที่คนไทยทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกัน ดังนั้นการใช้เม็ดเงินนี้ต้องเร่งดำเนินการอย่างทันท่วงทีเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนจริงๆ ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง” นายปริญญ์ กล่าวทิ้งท้าย