ปอท. เปิด 4 กลโกง "แก๊งปล่อยกู้ออนไลน์"

12 ม.ค. 2564 | 02:15 น.

ปอท.เตือนภัย แก๊งมิจฉาชีพ ฉวยโอกาสประชาชนเดือดร้อน ใช้เฟซบุ๊ก สร้าง 4 กลโกง ปล่อยกู้ออนไลน์ แนะควรใช้บริการกู้ยืมจากสถาบันการเงินที่น่าเชื่อถือเท่านั้น

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สร้างผลกระทบวงกว้าง จนทำให้รายได้ของประชาชนลดลง เนื่องจากรัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้มาตรการคุมเข้ม บางส่วนปิดห้างร้าน ลูกจ้างถูกลดเวลาการทำงานและเลิกจ้าง นำไปสู่การเกิดปัญหากลุ่มอาชญากรรมฉวยสถานการณ์ดังกล่าว ใช้เป็นโอกาสหลอกลวงประชาชน โดยมีการปล่อยเงินกู้ออนไลน์ ซึ่งวิธีหนึ่งที่มิจฉาชีพนิยมใช้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น คือ การเปิดเพจให้ “กู้เงินนอกระบบด่วน” ในเฟซบุ๊ก ในรูปแบบการหลอกลวงแตกต่างกันออกไป  เช่น คนที่ติดแบล็คลิสต์ก็กู้ได้โดยไม่ต้องมีหลักประกัน หรือสามารถพิจารณาอนุมัติเงินกู้ให้เสร็จได้ภายใน 1 ชั่วโมง 

จากนั้นเมื่อมีประชาชนสนใจ ก็จะให้เหยื่อติดต่อผ่านโปรแกรม Facebook , Messenger และส่งหลักฐานต่างๆไปประกอบการพิจารณาอนุมัติเงินกู้ ซึ่งแท้จริงแล้วมิจฉาชีพเหล่านี้มีเจตนาเพียงแค่ต้องการหลอกให้เหยื่อโอนเงินมัดจำหรือเงินดอกเบี้ยก่อนเท่านั้น 

ล่าสุด  กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) รวบรวมขั้นตอนกลโกงดังกล่าว เพื่อย้ำเตือนมิให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อ หลงเชื่อ ดังนี้
 

1. เปิดเพจปลอม
- อาจมีการใช้ชื่อเพจให้เหมือนกับบริษัทเงินกู้ใหญ่ๆ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ
- มีการโฆษณาเพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมาย และใส่ข้อความชวนเชื่อ เช่น ดอกเบี้ยต่ำ ติดแบล็คลิสต์ก็กู้ได้ เพื่อให้เหยื่อรู้สึกสนใจ

2. ขอข้อมูลส่วนตัว – ขอเงิน
- มิจฉาชีพจะขอเอกสารจากเหยื่อ เช่น บัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน
- และขอให้เหยื่อ "จ่ายเงิน" ให้โดยอ้างว่าเป็นค่าธรรมเนียมดำเนินการ อาจคิดเป็นร้อยละ ** ของเงินกู้ จึงจะได้เงินกู้ตามจำนวนที่ต้องการ

3. ปลอมเอกสาร
- มิจฉาชีพจะทำเอกสารปลอม และมักใส่ QR Code หรือ Barcode เพื่อทำให้ดูน่าเชื่อถือ กว่าเหยื่อจะรู้ตัว ก็ถูกโกงไปเรียบร้อยแล้ว

4. หลบหนีเมื่อได้เงิน
- เมื่อมิจฉาชีพได้เงินจากเหยื่อแล้ว จะบล็อกบัญชีและหนีหายทันที
- นอกจากนี้ เหยื่อบางรายอาจโดนนำข้อมูลไปแอบอ้าง กระทำการฉ้อฉลอื่นๆ อีกด้วย

ทั้งนี้ ปอท. ยังเตือนประชาชนอีกว่า หากมีความเดือดร้อนทางการเงินจริงๆ แนะนำให้ใช้บริการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินที่มีมาตรฐานจะปลอดภัยเท่านั้น แม้ขั้นตอนการกู้ยืมอาจต้องมีการตรวจสอบมาก ใช้เวลา แต่มั่นใจได้ว่าจะไม่ถูกหลอกอย่างแน่นอน