ทำไมต้องมีแอป "หมอชนะ" ช่วยแยกตัวเองจากพื้นที่เสี่ยง-คนเสี่ยง

05 ม.ค. 2564 | 05:46 น.

โหลดแอป "หมอชนะ" บันทึกข้อมูลการเดินทางของตัวเอง ประเมินความเสี่ยง ทั้งผู้ใกล้ชิดและเส้นทาง ช่วยตีกรอบแยกตัวเองจากพื้นที่เสี่ยง-คนเสี่ยง เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อ

วันนี้ (5 ม.ค.2564) นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ​ หรือ ศบค. เน้นย้ำอีกครั้งว่า ทุกคนต้องมีแอปพลิเคชั่น หมอชนะ เพื่อบันทึกข้อมูลการเดินทางของผู้ใช้งาน และยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กรมควบคุมโรคและบุคลากรทางการแพทย์ ในการสอบสวนโรคได้อย่างรวดเร็ว

แอป หมอชนะ เป็นส่วนหนึ่งของการร่วมมือระหว่าง “ทีมพัฒนาร่วมประชาชน เอกชนและภาครัฐ”  โดยกรมควบคุมโรคทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เป็นผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล นอกจากนั้น โครงการนี้ยังได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากสถาบันการศึกษา เครือข่ายโรงพยาบาลและองค์กรสาธารณสุข หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรธุรกิจจำนวนมาก

"สมโภชน์ อาหุนัย" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ในฐานะองค์กรเอกชนที่ร่วมพัฒนาแอป "หมอชนะ" ได้อธิบายถึงแอป "หมอชนะ" ไว้อย่างน่าสนใจ เขาบอกว่า ในสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด -19 คนที่มีความเสี่ยง มีจำนวนน้อยกว่า แต่ถ้าทุกอย่างต้องหยุดหมด เพราะไม่ต้องการให้เกิดการแพร่ระบาด ก็จะส่งผลทันทีต่อเศรษฐกิจทั้งของประชาชน และของประเทศ

แอป "หมอชนะ" จึงถูกคิดค้นและพัฒนาขึ้น. เพื่อเป็นเครื่องมือที่ช่วยตีกรอบความเสี่ยงไว้ เพื่อให้คนส่วนมากของประเทศได้ออกมาใช้ชีวิตปกติ และเพื่อให้ประเทศได้เดินหน้าต่อ 


แอป "หมอชนะ" ได้ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยในการเปิดเมือง ทำให้ผู้ใช้ได้ทราบความเสี่ยงของตนเองจากกิจกรรมและบุคคลที่ใกล้ชิดในช่วงเวลา 14 วันที่ผ่านมา เป็นเหมือน eHealth Passport หรือ COVID VISA ใช้แสดงหรือตรวจสอบก่อนเข้าไปยังสถานที่ต่างๆ ได้ โดยยังคงต้องปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเข้มงวดเพื่อความปลอดภัย 

การใช้งาน แอป "หมอชนะ" 

ดาวน์โหลดแอป "หมอชนะ" บนสมาร์ทโฟน และตอบคำถามประเมินอาการของตัวเอง โดยแอปจะแบ่งระดับของความเสี่ยงเป็น 4 ระดับคือ

• สีเขียว สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยงต่ำมาก ซึ่งเป็นคนที่ไม่มีอาการ ไม่มีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา

• สีเหลือง สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยงน้อย ซึ่งอาจจะมีอาการไข้หวัด แต่ไม่มีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา

• สีส้ม สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยง เพราะเป็นคนที่มีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา แต่ไม่แสดงอาการ หรือมีอาการไม่เด่นชัด คนในกลุ่มนี้ต้องกักตัวอยู่กับบ้านจนครบ 14 วัน พร้อมทั้งเฝ้าระวัง ถ้ามีอาการควรรีบไปโรงพยาบาลทันที

• สีแดง สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงมาก เพราะทั้งมีอาการ และมีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา จะต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที

เมื่อตอบคำถามครบถ้วนแอปจะรายงานพิกัดของผู้ใช้งานเข้าไปในระบบ แต่ผู้ใช้จะไม่สามารถดูได้ว่า ผู้ใช้คนอื่นอยู่ตรงไหนบ้าง ทำได้แค่เพียงอนุญาตให้แอปแจ้งเตือนผ่าน notification หากเข้าไปยังพื้นที่ที่มีความเสี่ยง ซึ่งจะเช็คข้อมูลด้วย GPS และ Bluetooth ของตัวโทรศัพท์มือถือ

แอป "หมอชนะ" ถูกพัฒนาขึ้นตั้งแต่ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 รอบแรก แต่ไม่มีการประชาชาสัมพันธ์ที่แพร่หลายมากนัก จนะกระทั่งเกิดการแพร่ระบาดรอบสอง จึงมีการนำแอป "หมอชนะ" มาประชาสัมพันธ์เพิ่มมากขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"หมอธีระ"ชี้"โควิด"ในไทยคุมดีก็จบเร็ว-คุมไม่ได้ก็ยาวนาน

อัปเดต ปิดแล้ว 80 แหล่งท่องเที่ยว ใน 36 จังหวัดคุมโควิด

“หมอธีระ”ชี้มาตรการ 8 ข้อ เหมือน"สล็อธติด THC" วิ่งไม่ไหว เชื่องช้า