ปล่อยทุ่นวัดสึนามิ เพิ่มประสิทธิภาพเตือนภัย

16 พ.ย. 2563 | 08:19 น.

ปภ.ปล่อยเรือวางทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิ เสริมประสิทธิภาพระบบแจ้งเตือนภัย สร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว

วันนี้ (16 พ.ย. 63) ณ ท่าเทียบเรือน้ำลึก ตำบลวิชิต อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต นายเชษฐา โมสิกรัตน์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เป็นประธานพิธีปล่อยเรือวางทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิในทะเลอันดามันและมหาสมุทรอินเดียชุดใหม่ทดแทนทุ่นเดิมที่ครบวงรอบการบำรุงรักษา ทั้งนี้ เพื่อให้ทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิมีความพร้อมในการใช้งานอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ สามารถเตือนภัยได้ล่วงหน้า ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้หน่วยงานภาครัฐและประชาชนมีการเตรียมพร้อมรับมือกับภัยสึนามิและอพยพหนีภัยได้อย่างทันท่วงที รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว

ปล่อยทุ่นวัดสึนามิ เพิ่มประสิทธิภาพเตือนภัย

นายเชษฐา โมสิกรัตน์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 ได้เกิดแผ่นดินไหวใต้ทะเลในมหาสมุทรอินเดีย ทำให้เกิดคลื่นสึนามิทำลายบ้านเรือนและสถานที่ท่องเที่ยวตามแนวชายฝั่งรอบมหาสมุทรอินเดีย มีผู้เสียชีวิตกว่า 230,000 คน มีประเทศที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนั้น ได้แก่ อินโดนีเซีย ศรีลังกา อินเดีย และไทย ภายหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบการป้องกันและกำหนดมาตรการลดผลกระทบจากคลื่นสึนามิให้มีประสิทธิภาพ โดยประเทศไทยได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการในการแจ้งเตือนภัยสึนามิกับองค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (National Oceanic and Atmospheric Administration: NOAA) และได้รับมอบทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิจาก NOAA เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2549 จำนวน 1 ชุด ติดตั้งบริเวณห่างจากเกาะภูเก็ตไปทางทิศตะวันตกประมาณ 965 กิโลเมตร โดยเป็นทุ่นลอยพร้อมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และชุดอุปกรณ์วัดความดันใต้ท้องทะเล เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำและส่งผ่านสัญญาณเสียงไปสู่ทุ่นลอยและส่งข้อมูลไปยังดาวเทียม จากนั้นมีการส่งสัญญาณมาที่สถานีรับสัญญาณภาคพื้นดิน และประมวลผลร่วมกับทุ่นตรวจวัดสินามิอื่นจากนานาประเทศ   แล้วส่งข้อมูลมายังศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเพื่อออกประกาศแจ้งเตือนประชาชน และในช่วงเดือนมกราคม 2560 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ดำเนินการติดตั้งระบบตรวจวัดคลื่นสึนามิเพิ่มเติมเป็นจุดที่ 2 ในทะเลอันดามัน ห่างจากเกาะภูเก็ตไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 290 กิโลเมตร โดยระบบตรวจวัดคลื่นสึนามิทั้ง 2 จุด มีการบำรุงรักษาตามมาตรฐานผู้ผลิตอย่างต่อเนื่องทุก ๆ 2 ปี เพื่อให้ทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิมีความพร้อมใช้งานอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ สำหรับการดำเนินการวางทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิในครั้งนี้ เป็นการวางทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิในมหาสมุทรอินเดียและในทะเลอันดามันชุดใหม่ทดแทนทุ่นเดิมที่ครบวงรอบการบำรุงรักษา ทั้งนี้ เพื่อให้ทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิมีความพร้อมในการใช้งานอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ สามารถส่งต่อข้อมูลไปยังระบบแจ้งเตือนภัยของประเทศ ทำให้หน่วยงานสามารถบูรณาการกับส่วนงานที่เกี่ยวข้องในการวิเคราะห์คาดการณ์ ประเมินแนวโน้มของการเกิดสึนามิ รวมถึงประสานแจ้งเตือนประชาชนผ่านหอเตือนภัยที่ติดตั้งตามชายฝั่งทะเลและพื้นที่เสี่ยงได้อย่างทันท่วงที

“ปภ. ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบวิเคราะห์คาดการณ์คลื่นสึนามิและระบบแจ้งเตือนภัยของประเทศให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าที่มีความรวดเร็ว เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องจากหน่วยงานภาครัฐ สามารถเตรียมความพร้อมในการอพยพได้อย่างทันท่วงที สร้างความปลอดภัยแก่ชีวิตประชาชน ระบบตรวจวัดคลื่นสึนามิที่ดำเนินการติดตั้งครั้งนี้เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ถ้าหากสามารถช่วยลดความสูญเสียแก่ชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนได้ อย่างไรก็ตาม ขอฝากหน่วยงานภาครัฐ องค์กรต่าง ๆ สถานประกอบการ อาสาสมัคร/เครือข่าย ชาวประมง และพี่น้องประชาชนช่วยสอดส่องดูแลรักษาระบบตรวจวัดคลื่นสึนามิ รวมทั้งหอเตือนภัยในพื้นที่ เพื่อให้ระบบและอุปกรณ์ดังกล่าวสามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่องเพื่อจะได้แจ้งเตือนภัยล่วงหน้าให้กับพวกเราได้อย่างมีประสิทธิภาพ” รองอธิบดี ปภ. กล่าว

ปล่อยทุ่นวัดสึนามิ เพิ่มประสิทธิภาพเตือนภัย

 

ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ผลักดันให้มีนโยบายและกรอบการทำงานในทิศทางเดียวกัน โดยมุ่งเน้นบูรณาการการปฏิบัติงานให้การจัดการสาธารณภัยเป็นไปอย่างมีระบบ มีหน่วยเผชิญเหตุอย่างครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยมีหน่วยปฏิบัติระดับพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน ได้แก่ พื้นที่ติดชายฝั่งทะเลอันดามันในความดูแลของศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 12 สงขลา (สตูล) และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 18 ภูเก็ต ได้แก่ (ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ และตรัง) ที่มีความพร้อมในการบริหารจัดการภัยสึนามิในพื้นที่เสี่ยง โดยการติดตั้งระบบตรวจวัดคลื่นสึนามิในมหาสมุทรอินเดียและทะเลอันดามันถือเป็นกลไกในการป้องกันและลดผลกระทบจากภัยสึนามิ เพื่อให้สามารถเตือนภัยได้ล่วงหน้าได้อย่างรวดเร็ว หน่วยงานภาครัฐและประชาชนมีการเตรียมพร้อมรับมือกับภัยสึนามิและอพยพหนีภัยได้อย่างทันท่วงที อันเป็นการสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว