เมื่อจีนสั่งสอน "แจ๊ก หม่า" ดับฝัน IPO แอ๊นท์กรุ๊ป

15 พ.ย. 2563 | 11:38 น.

เมื่อรัฐบาลจีน สั่งสอน "แจ๊ก หม่า" ดับฝัน IPO แอ๊นท์กรุ๊ป

 

วันที่ 15 พ.ย. จากกรณีที่ ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน และ ได้เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อาณาจักรแอ๊นท์กรุ๊ป ในตลาดหลักทรัพย์จีน (1) 

อาณาจักรแอ๊นท์กรุ๊ป ในตลาดหลักทรัพย์จีน (จบ) 

 

อย่างไรก็ตาม “ฐานเศรษฐกิจ” ได้รวบรวมบทความทั้ง 3  ตอน ของ ดร.ไพจิตร มาถ่ายทอดอีกครั้งหนึ่ง  ดร.ไพจิตร บอกว่า เมื่อพูดถึง แจ็ก หม่า (Jack Ma) ที่โด่งดังจากการนำเอากลุ่มอาลีบาบา (Alibaba Group) เข้าตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กเมื่อหลายปีก่อน ก็ดูเหมือนจะไม่มีใครรู้จัก วันนี้เขากำลังจะสร้างความฮือฮาครั้งใหม่ด้วยการนำเอาแอ๊นท์กรุ๊ป (Ant Group) เจ้าแห่งฟินเทคของโลกเข้าตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ และฮ่องกงคู่ขนานกันไปอีกแล้ว วันนี้เราจะไปสำรวจธุรกิจของมดตัวน้อยที่เปี่ยมด้วยพลังของแอ๊นท์กัน ...

 

การเติบใหญ่ของการค้าออนไลน์และด้านดิจิตัลอย่างรวดเร็ว การผ่อนคลายกฎระเบียบของอุตสาหกรรมการเงิน และความเก่งกาจของผู้ประกอบการจีน ทำให้ธุรกิจฟินเทค (Fintech) ในจีนขยายตัวโดยลำดับ

 

อันที่จริง ธุรกิจฟินเทคของแอ๊นท์ที่เป็นแชมป์โลกอยู่ในปัจจุบันก็ก่อกำเนิดจากการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มอาลีบาบา โดยในปี 2004 กลุ่มอาลีบาบาได้เปิดบริการการเงินออนไลน์ภายใต้ชื่อ “อาลีเพย์” (Alipay) หรือ “จือฟู่เป่า” (Zhifubao) ซึ่งทำหน้าที่เป็นบุคคลที่ 3 รับฝากเงินของผู้ซื้อ เก็บรักษา และโอนเงินชำระค่าสินค้าแก่ผู้ขายออนไลน์เมื่อผู้ซื้อพึงพอใจกับสินค้า โดยไม่เรียกเก็บค่าบริการ

 

อาลีเพย์พัฒนาบริการชำระเงินออนไลน์ที่มีความเสถียรและน่าเชื่อถือผ่านแอ็พกระเป๋าตังค์ บริการโอนเงินดิจิตัล และบริการชำระค่าสาธารณูปโภค รวมทั้งการชำระเงินในร้านค้าออฟไลน์ ซึ่งครอบคลุมกว่า 50 ประเทศทั่วโลกใน 27 สกุลเงิน ช่วยให้ชาวจีนเกิดความมั่นใจ ได้รับความสะดวก และประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายเป็นอย่างมาก จนชาวจีนหลายร้อยล้านคนติดใจในบริการ และส่งผลให้อาลีเพย์กลายเป็นแพล็ตฟอร์มโอนเงินที่ใหญ่ที่สุดในโลกในเวลาต่อมา

 

ในปี 2011 แจ็ก หม่าได้ตัดสินใจแยกอาลีเพย์ออกจากบริษัทแม่ โดยจัดตั้งสำนักงานใหญ่ที่นครหังโจว (Hangzhou) เมืองเดียวกับของอาลีบาบากรุ๊ป 

 

ทั้งนี้ ข่าววงในระบุว่า ในช่วงนั้นยาฮู อิงค์ (Yahoo! Inc.) และซอฟท์แบ้งค์ คอร์ป (SoftBank Corp) ถือหุ้นใหญ่ในอาลีบาบากรุ๊ป ขณะเดียวกัน แจ็ก หม่า ก็มีแผนจะนำเอากลุ่มอาลีบาบาเข้าไปลิสต์ในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก ทำให้หลายฝ่ายเห็นว่า สภาพการณ์เช่นนี้ซ่อนไว้ซึ่งความเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากระบบการชำระเงินดังกล่าวตกอยู่ในมือของธุรกิจต่างชาติ เพราะนั่นจะกระทบต่อเสถียรภาพความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การเงิน และอื่นๆ ของจีน

 

ในปี 2013 อาลีเพย์ได้ตั้ง “ยู่เอ๋อเป่า” (Yu’ebao) แพล็ตฟอร์มรับฝากเงินออนไลน์ที่เปิดให้ประชาชนได้รับดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าของธนาคารพาณิชย์ทั่วไป โดยสามารถเปิดวงเงินฝากต่ำสุดเพียงแค่ 1 หยวนเท่านั้น ไม่นานหลังจากนั้น สินทรัพย์ของหน่วยธุรกิจนี้ก็พุ่งขึ้นเป็นราว 1.2 ล้านล้านหยวน กลายเป็นบริการรับฝากเงินออนไลน์ที่ใหญ่สุดในโลก 

 

อย่างไรก็ดี บริษัทต้องเผชิญกับข้อจำกัดด้านกฎระเบียบทางการเงินใหม่เมื่อรัฐบาลจีนเริ่มกังวลใจกับการเติบโตอย่างรวดเร็วของธนาคารออนไลน์ดังกล่าว และกระโดดเข้ามากำกับควบคุมปริมาณเงินสูงสุดที่แต่ละคนสามารถฝากได้ ทำให้ตลาดในส่วนนี้ชะลอตัวลงในระดับหนึ่ง 

ในปีต่อมา กลุ่มอาลีบาบาได้ขึ้นทะเบียนในตลาด หลักทรัพย์นิวยอร์กด้วยมูลค่า IPO ที่สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หลังจากนั้น แจ๊ก หม่า ก็กลับมาซื้อ 33% ของหุ้นของอาลีเพย์โดยรวม 

ในวันที่ 16 ตุลาคม 2014 แจ็ก หม่า ได้เปลี่ยนชื่อบริษัทอาลีเพย์เป็น “แอ๊นท์ไฟแนนเชียลเซอร์วิส” (Ant Financial Services) และปรับเปลี่ยนให้กระชับขึ้นเป็น “แอ๊นท์กรุ๊ป” ในเวลาต่อมา 

 

แอ๊นท์เลือกใช้มดซึ่งเป็น “แมลงตัวน้อย” เป็นโลโก้ และใช้มีมาสก็อตเป็นมดสวมชุดที่มีสีสันคล้ายซุปเปอร์แมน เพื่อสะท้อนว่าธุรกิจของกลุ่มเปี่ยมด้วยพลังและพร้อมจะให้บริการแก่ “คนตัวเล็ก” ที่อาจขาดโอกาสในการขอรับบริการสินเชื่อจากสถาบันการเงินของรัฐ 

 

ธุรกิจของแอ๊นท์ไม่ได้หยุดเพียงแค่เพียงบริการชำระเงินออนไลน์ของอาลีเพย์ หน่วยธุรกิจใหม่อื่นๆ เติบโตอย่างรวดเร็ว ในปี 2015 แอ๊นท์สร้างความตื่นตะลึงด้วยการนำเสนอนวัตกรรมการชำระเงินผ่านระบบการจดจำใบหน้า (Facial Recognition) เป็นรายแรกของโลก 

 

และตามด้วยระบบการประเมินสินเชื่อดิจิตัล (Credit Scoring) ภายใต้ชื่อว่า “จือหม่าเครดิต” (Zhima Credit) ที่นำเอาข้อมูลขนาดใหญ่เกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้จ่ายในอดีตที่บริษัทมีอยู่และจากกิจการภายนอกมาใช้ในการวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือของผู้กู้ยืมแบบเป็นปัจจุบันบนระบบคลาวด์ของอาลีบาบา (Alibaba Cloud) 

ผู้อ่านคงเคยได้ยินบริการนี้มาบ้างแล้วว่า ลูกค้าทั่วไปสามารถใช้บริการนี้ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และหากได้รับคะแนนการประเมินที่สูงมากพอ คนเหล่านั้นก็สามารถได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษ อาทิ การยกเว้นการเรียกเก็บค่ามัดจำการเช่าจักรยาน  และการใช้บริการห้องพักตามโรงแรม ซึ่งก็ยิ่งเพิ่มประวัติการใช้ธุรกรรมออนไลน์เข้าสู่ระบบมากขึ้น  

เท่านั้นไม่พอ แจ็ก หม่า ยังอาศัยเครื่องมือด้านดิจิตัลที่มีอยู่ในการต่อยอดธุรกิจการปล่อยสินเชื่อออนไลน์ในชื่อ “มายแบ้งค์” (MYbank) เปิดหน้าชกกับคู่แข่งอย่างวีแบ้งค์ (WEbank) ของเท็นเซ้นต์โฮลดิ้งส์ (Tencent Holdings) ไปเลย

 

มายแบ้งค์ใช้หลักการ “310” ในการให้บริการ กล่าวคือ หลังจากโหลดแอพมายแบ้งค์แล้ว ลูกค้าก็สามารถกรอกข้อมูลประกอบการขอสินเชื่อที่ใช้เวลาเพียง 3 นาที หลังจากนั้นระบบก็จะทำการประเมินสินเชื่อภายในเสี้ยวนาที ประการสำคัญ ลูกค้าสามารถยื่นขอสินเชื่อได้ตลอด 24 ชั่วโมง 365 วันโดยไม่ต้องเดินทางไปพบผู้จัดการฝ่ายสินเชื่อแต่อย่างใด 

ปัจจุบัน แอ๊นท์ถือหุ้น 30% ในมายแบ้งค์ และด้วยบริการที่สะดวกและรวดเร็วทันใจ ทำให้โดนใจและเข้าถึง SMEs จีนเป็นอย่างมาก หลังจากเปิดบริการนี้ไปไม่ถึง 5 ปี มายแบ้งค์ก็มีลูกค้าถึงราว 20 ล้านราย และสามารถปล่อยสินเชื่อได้กว่า 300,000 ล้านหยวน โดยไม่ต้องมีการจัดตั้งสำนักงานสาขาในทางกายภาพเลย

 

ผลจากการผ่อนคลายกฎระเบียบทางการเงินและปลดล็อกสัดส่วนการถือหุ้นของกิจการต่างชาติในจีน เปิดโอกาสให้ยู่เอ๋อเป่าสามารถขยายขอบข่ายทางธุรกิจและพัฒนาความร่วมมือกับพันธมิตรต่างชาติที่มีศักยภาพได้ในวงกว้าง ส่งผลให้ยู่เอ๋อเป่ากลายเป็นแพล็ตฟอร์มด้านการลงทุนออนไลน์ที่ใหญ่สุดในโลก โดยสามารถสร้างรายได้ในสัดส่วนราว 15% ของรายได้โดยรวมของแอ๊นท์ในปัจจุบัน

 

การเปิดแพล็ตฟอร์มยู่เอ๋อเป่าให้บุคคลที่ 3 เข้ามามีส่วนร่วมในปี 2018 ทำให้แอ๊นท์สามารถจับมือกับอินเวสโก้ (Invesco Ltd.) ผู้จัดการกองทุนรายใหญ่ที่เก่าแก่ของสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันมีเครือข่ายสำนักงานสาขากระจายอยู่ในกว่า 20 ประเทศได้ ประการสำคัญ ความร่วมมือดังกล่าวเติบใหญ่อย่างรวดเร็ว

 

ขณะเดียวกัน ยู่เอ๋อเป่ายังร่วมมือกับแวงการ์ดกรุ๊ป (Vanguard Group) ที่ปรึกษาด้านการลงทุนชั้นนำของสหรัฐฯ ที่ดูแลทรัพย์สินทั่วโลกถึงราว 6.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในการพัฒนาบริการให้คำปรึกษาด้านการลงทุนด้วยหุ่นยนต์ (Robo Adviser) 

 

อีกหนึ่งนวัตกรรมทางการเงินของแอ๊นท์ที่เติบโตแรงอยู่ภายใต้หน่วยธุรกิจ “เครดิตเทค” (CreditTech) บริการสินเชื่อผู้บริโภคแบบ “นาโนเครดิต” ซึ่งมีบริการการเงิน 2 ประเภท อันได้แก่ “ฮวาเป่ย” (Huabei) ซึ่งแปลว่า “แค่ใช้” และ “เจี้ยเป่ย” (Jiebei) ซึ่งแปลว่า “แค่ยืม”

ฮวาเป่ย ทำหน้าที่เป็นเสมือนบัตรเครดิตออนไลน์เพื่อใช้ในการหาซื้ออาหาร เครื่องสำอางค์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านผ่านเถาเป่า (Taobao) หรือแพล็ตฟอร์มการค้าออนไลน์อื่น ขณะที่เจี้ยเป่ยเป็นบริการปล่อยสินเชื่อเพื่อซื้อหาสินค้าและบริการ 

 

ในระยะแรก การให้บริการของเจี้ยเป่ยมุ่งเน้นไปที่สินเชื่อเพื่อการซื้อหาสินค้า อาทิ โทรศัพท์มือถือ และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน และขยายไปครอบคลุมบริการด้านการท่องเที่ยว การศึกษา และอื่นๆ ในเวลาต่อมา โดยบริษัททำหน้าที่เป็นเพียงเกตเวย์ และใช้แหล่งเงินสินเชื่อส่วนใหญ่จากธนาคารพาณิชย์จีน ทำให้ระดับความเสี่ยงทางการเงินในมุมมองของบริษัทมีอยู่ต่ำมาก

 

ในรอบปีที่ผ่านมา บริการนี้ปล่อยสินเชื่อแก่ลูกค้าถึงราว 500 ล้านคน โดยคิดดอกเบี้ยในอัตรา 15% ต่อปี และจากการวิเคราะห์ของกลุ่มโกลแมนซาคส์ (Goldman Sachs Group) คาดว่ายอดการปล่อยสินเชื่อนี้จะพุ่งขึ้นเป็นเกือบ 2 ล้านล้านหยวนในปี 2021

 

นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างการขอใบอนุญาตประกอบการด้านการเงินผู้บริโภค ซึ่งหากได้รับการอนุมัติ ก็จะช่วยให้บริษัทสามารถขยายบริการสินเชื่อได้ถึง 10 เท่าของเงินทุน ซึ่งสูงกว่าใบอนุญาตที่มีอยู่ในปัจจุบันที่ได้รับเพียง 2-3 เท่าตัว

 

ในชั่วพริบตาหลังออกสู่ท้องตลาด แอพทั้งสองได้กลายเป็นบริการสินเชื่อผู้บริโภคออนไลน์ที่ใหญ่ในโลก จากสถิติในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ธุรกิจทั้งสองส่วนสามารถสร้างรายได้ก้อนใหญ่ที่สุดให้กับกลุ่มในสัดส่วนถึงเกือบ 40% ของรายได้โดยรวม

 

ในปี 2019 แอ๊นท์กระโดดเข้าสู่ตลาดประกันสุขภาพภายใต้หน่วยธุรกิจ “อินชัวร์เทค” (InsureTech) โดยนำเสนอ “เซียงฮู่เป่า” (Xianghubao) ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเอาประกันจากโรคนับ 100 ประเภท ซึ่งครอบคลุมถึงโรคร้ายที่ผู้คนหวาดกลัว อาทิ มะเร็ง อัลไซม์เมอร์ และอีโบล่า ด้วยระบบการประกันสุขภาพระหว่างกัน (Mutual Insurance) ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่น้อยมาก 

 

แผนประกันสุขภาพออนไลน์ของบริษัทมีเงื่อนไขที่ไม่ยุ่งยาก และไม่ต้องเผชิญกับค่าเบี้ยประกันที่สูงดังเช่นของบริษัทประกันทั่วไป โดยเปิดโอกาสให้คนที่มีอายุตั้งแต่ 30 วันจนถึง 59 ปีและผ่านเกณฑ์สุขภาพและความเสี่ยงพื้นฐาน สามารถเข้าร่วมได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าสมัครและเงินล่วงหน้าแต่อย่างใด 

 

เพื่อเพิ่มความถูกต้องและรวดเร็วในการเคลมเงินและแชร์ค่าใช้จ่าย ลดปัญหาด้านเอกสาร และการฉ้อโกงที่อาจเกิดขึ้น บริษัทยังได้นำเอาระบบบล็อกเชน (Blockchain) เข้ามาช่วยอีกด้วย

 

หากเจ็บป่วย เงินชดเชยที่ผู้เอาประกันได้รับอยู่ที่ราว 100,000-300,000 หยวนขึ้นอยู่กับช่วงอายุ โดยบริษัทคิดค่าบริหารจัดการเพียง 8-10% ของเม็ดเงินโดยรวม ขณะที่ผู้เข้าร่วมกลุ่มจ่ายเงินที่เป็นเสมือนเบี้ยประกันเพียงปีละ 100 หยวนเศษเท่านั้น

 

ด้วยบริการที่โดนใจเช่นนี้จึงทำให้เซียงฮู่เป่าใช้เวลาไม่ถึงหนึ่งปีสร้างลูกค้าถึง 100 ล้านคน ในจำนวนนี้ ราว 2 ใน 3 มีรายได้ต่ำกว่า 100,000 หยวนต่อปี ส่วนที่เหลือส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในชนบท จึงนับว่าเป็นบริการที่ครอบคลุมถึงผู้มีรายได้น้อยและผู้ด้อยโอกาส จึงไม่น่าแปลกใจที่เซียงฮู่เป่ากลายเป็นแพล็ตฟอร์มประกันภัยออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้อย่างรวดเร็ว

 

จากสถิติผลประกอบการของแอ๊นท์ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้พบว่า บริษัททำรายได้โดยรวม 72,500 ล้านหยวน และทำกำไรสูงถึง 21,200 ล้านหยวน โดยแจ็ก หม่าถือหุ้นแอ๊นท์อยู่มากกว่า 50% ผ่านบริษัทจุนฮั่น (Junhan) และจุนอ้าว (Junao) และมีกิจการต่างชาติรายใหญ่หลายรายเข้ามาร่วมถือหุ้นอยู่ด้วย  

 

 

 

มองย้อนกลับไป ธุรกิจของอาลีเพย์ บริการฟินเทคแรกเริ่มที่ก่อกำเนิดจนทำให้มีแอ๊นท์ในวันนี้ ก็ยังคงเติบโตอย่างมีเสถียรภาพโดยมีจำนวนผู้ใช้รวมมากกว่า 1,300 ล้านคนทั่วโลก โดยเป็นชาวจีนที่ใช้ประจำรวมถึง 900 ล้านคน แต่คู่แข่งอย่างวีแชตเพย์ก็เป็น “ภัยคุกคาม” ที่น่ากลัวเช่นกัน

 

ในปี 2019 มีลูกค้าใช้บริการโอนเงินผ่านอาลีเพย์เฉลี่ยวันละ 630 ล้านธุรกรรม ขณะที่วีแชตเพย์ให้บริการกว่า 1,500 ล้านครั้งต่อวัน อย่างไรก็ดี ลูกค้าใช้บริการโอนเงินผ่านอาลีเพย์ในมูลค่าต่อธุรกรรมที่สูงกว่าของวีแชตเพย์มาก โดยให้บริการโอนเงินถึง 17 ล้านล้านหยวนต่อปี คิดเป็นสัดส่วนราว 55% ของตลาดโอนเงิน

แอ๊นท์ได้รับประโยชน์มหาศาลจากการใช้อาลีเพย์เป็นสะพานเชื่อมไปยังแพล็ตฟอร์มบริการทางการเงินอื่นได้อย่างยอดเยี่ยม จากข้อมูลในปีที่ผ่านมาระบุว่า 80% ของผู้ใช้บริการของอาลีเพย์จะเลือกใช้อย่างน้อย 3 ใน 5 ของบริการทางการเงินอื่นที่มีอยู่ ขณะที่ราว 40% จะใช้บริการทางการเงินทั้งหมดของแอ๊นท์ จึงไม่น่าแปลกจที่เราเห็นธุรกิจของแอ๊นท์ในวันนี้ก้าวไปไกลมากกว่าเพียงธุรกิจการโอนเงินทางดิจิตัลของอาลีเพย์ 

 

 

 

ลองจินตนาการดูว่า ในขณะที่รายได้ของอาลีเพย์ก็ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง หน่วยธุรกิจอื่นของแอ๊นท์ต้องเติบโตขึ้นด้วยความเร็วขนาดไหน จึงทำให้รายได้ของอาลีเพย์ต่อรายได้โดยรวมของกลุ่ม ซึ่งแต่เดิมเคยมีสัดส่วนมากกว่า 50% เมื่อปี 2018 ลดลงเหลือเพียง 36% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2020

 

ในความพยายามที่จะนำแอ๊นท์เข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์นั้น จากข้อมูลพบว่า ก่อนหน้านี้ แจ็ก หม่าก็วางแผนนำเอาธุรกิจนี้เข้าตลาดหลักทรัพย์ชั้นนำของโลกอยู่หลายครั้ง แต่ก็ติดปัญหาน้อยใหญ่จนต้องเลื่อนแผนมาเป็นระยะ 

 

 

 

ยกตัวอย่างเช่น การพลาดท่าสูญเสียสัดส่วนทางการตลาดให้แก่วีแช็ตเพย์ทำให้ต้องเลื่อนแผนในปี 2017 ขณะที่ผลจากความขัดแย้งทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างจีนและสหรัฐฯ ก็ทำให้ต้องยกเลิกแผนการนำเอาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กในปี 2018

 

 

 

 

นับแต่นั้นมา แจ็ก หม่า ได้ปรับกลยุทธ์ของแอ๊นท์โดยหันมาขยายฐานลูกค้าอาลีเพย์ที่ต้องการใช้บริการในต่างประเทศ และการลงทุนในหลายโครงการ รวมทั้งกับธุรกิจสตาร์ตอัพทางการเงินจำนวน 9 รายในเอเซียเป็นหลัก อาทิ อินเดีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ 

 

แจ็ก หม่า คงประเมินก่อนหน้านี้แล้วว่า สถานการณ์การเข้าตลาดหลักทรัพย์ของอาณาจักร “สุดยอดฟินเทคโลก” สุกงอมเต็มที่แล้ว จึงได้ผลักดันให้แอ๊นท์เข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์อีกครั้ง พร้อมกับเปลี่ยนแนวมาที่ตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้และฮ่องกงแทน 

 

แอ๊นท์หวังว่าจะได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการกำกับตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงภายในกลางเดือนตุลาคมเพื่อเข้าเทรดได้ภายในวันที่ 3 พฤศจิกายนก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพื่อหลีกเลี่ยงความผันผวนของตลาดที่อาจเกิดขึ้น เพราะก็มีกระแสความกดดันที่ต้องการกีดกันการขยายบริการโอนเงินออนไลน์จากนักการเมืองอเมริกัน

 

อย่างไรก็ดี นักลงทุนส่วนใหญ่กลับไม่กังวลใจ เพราะมากกว่า 95% ของรายได้โดยรวมของแอ๊นท์มาจากตลาดจีน และสัดส่วนน้อยมากที่มาจากตลาดสหรัฐฯ กอปรกับความเชื่อมั่นว่าธุรกิจของแอ๊นท์จะสามารถขยายตัวเข้าสู่ตลาดอาเซียน อินเดีย และประเทศอื่นในเอเชียได้ในอนาคต

 

ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า หากแอ๊นท์เข้าเทรดในสองตลาดหลักทรัพย์ดังกล่าว มูลค่า IPO เป้าหมายน่าจะอยู่ที่ 250,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์ เพิ่มขึ้นจากราคาปัจจุบันถึง 35,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และทำให้แอ๊นท์มีมูลค่าแซงแบ้งค์ออฟอเมริกา คอร์ป (Bank of America Corp) และก้าวขึ้นเป็นธุรกิจการเงินที่ใหญ่สุดในโลก ซึ่งนั่นเท่ากับว่า แจ็ก หม่า และทีมงานของแอ๊นท์ใช้พลังความคิด ทุ่มเทกำลังกาย และใช้เวลาไม่ถึง 20 ปีก่อร่างสร้าง “รังมด” จนเติบใหญ่กลายเป็นอภิมหาอาณาจักรฟินเทคของโลก ซึ่งใหญ่กว่าขนาดเศรษฐกิจของหลายประเทศในโลก