วิชั่น - มิชชั่น สีเขียว ผู้นำ ธพส.

28 ต.ค. 2563 | 03:09 น.

สิ่งที่เราทำ ไม่ต้องรอให้เขาร้องขอ เราให้ก่อนเลย เราสามารถช่วยต่อชีวิตให้กับผู้ประกอบการได้ แค่เอากำไรให้น้อยลง ไม่ใช่ผลักภาระ ให้รัฐบาลอย่างเดียว

งานบริหารและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ หรือ ดีเวลอปเปอร์ ไม่ได้มีเพียงบริษัทเอกชนเท่านั้น แต่ภาครัฐก็มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่เช่นนี้เหมือนกัน นั่นก็คือ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด หรือธพส.องค์กรรัฐวิสาหกิจ ที่จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี ตั้งแต่ปี 2547 โดยมีกระทรวงการคลังถือหุ้น 100% ซึ่งมี "ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท" กรรมการผู้จัดการ คนล่าสุด ที่นั่งเป็นแม่ทัพใหญ่ ตั้งแต่1 มีนาคม 2562

วิชั่น - มิชชั่น สีเขียว ผู้นำ ธพส.

"ดร.นาฬิกอติภัค" บอกเล่าถึงพันธกิจของ ธพส.ว่า มีหน้าที่พัฒนาทรัพย์สินของภาครัฐให้มีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคม โดยกรมธนารักษ์จะมอบหมายว่า ธพส. จะไปบริหารจัดการทรพย์สินตรงไหนของภาครัฐบ้าง และหนึ่งในโครงการที่ ธพส.ได้รับมอบหมายดูแล ก็คือ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 บนที่ราชพัสดุ ถนนแจ้งวัฒนะ เนื้อที่ 449 ไร่ ที่รวมหน่วยงานราชการ 46 หน่วยงาน นอกจากนี้ ยังมีศูนย์ประชุมเชียงใหม่ และสนามกอล์ฟบางพระ 

ที่ผ่านมา ทุกที่ที่ ธพส.บริหาร สามารถสร้างสินทรัพย์ทำกำไร โดยสามารถสร้างรายได้เชิงพาณิชย์และค่าเช่าต่อปีประมาณ 3,000 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากพื้นที่เชิงพาณิชย์ประมาณ 600 ล้านบาทหรือคิดเป็นสัดส่วน 20% ขณะที่มีรายได้จากค่าเช่า 2,400 ล้านบาท หรือคิดเป็น 80% โดยปี 2562 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 321 ล้านบาท 

 

ความท้าทาย คือ ปีนี้ ซึ่งประเมินว่ากำไรจะลดลงราว 25-26% จากศูนย์ประชุมเชียงใหม่ และสนามกอล์ฟบางพระ ที่ต้องปิดชั่วคราว ในช่วงโควิด -19 ที่มีการล็อคดาวน์ รวมไปถึงการลดค่าเช่าและค่าบริการ ที่ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ ในกรณีที่ลูกค้าเปิดกิจการจะได้รับส่วนลดค่าเช่าและค่าบริการ 50% หากลูกค้าปิดกิจการชั่วคราว ก็จะไม่คิดเงินเลย 6 เดือน 

วิชั่น - มิชชั่น สีเขียว ผู้นำ ธพส.

"ช่วงล็อคดาวน์คือ ปิดเกือบหมด แต่ตอนนี้ก็กลับมาปิดแล้ว สิ่งที่เราทำ ไม่ต้องรอให้เขาร้องขอ เราให้ก่อนเลย เราสามารถช่วยต่อชีวิตให้กับผู้ประกอบการได้ แค่เอากำไรให้น้อยลง ไม่ใช่ผลักภาระให้รัฐบาลอย่างเดียว แค่ร่วมมือกันทำ"

 

อีกหนึ่งภารกิจ ที่ผู้นำคนนี้กำลังเดินหน้า คือ การพัฒนาพื้นที่สีเขียวที่บริเวณศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะจากที่บริหารจัดการพื้นที่โซน เอ และบีให้มีจุดขาย มากกว่าแค่มีส่วนราชการมารวมๆ กัน ขณะนี้ยังสร้างที่จอดรถใหม่ที่โซน ซี อีก 4,500 คัน ซึ่งจะมีการออกแบและปรับภูมิทัศน์โดยรบอ โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และสังคมเป็นแกนหลัก

"เราต้องทำเรื่องสิ่งแวดล้อมไปด้วย พอรถไฟฟ้าสายสีชมพูมาลง ตรงนี้ก็เหมือนหน้าบ้านของเราลานจอดรถจะเป็นแลนด์สเคป เป็นปอดแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ เป็นสวน มีพื้นที่เชิงพาณิชย์ด้วย" 

 

ผู้บริหาร ธพส. บอกอีกว่า พื้นที่รวม 22 ไร่ เมื่อทำลานจอดรถแล้ว ก็จะพัฒนาพื้นที่โดยรอบ ปลูกต้นไม้ สร้างเป็นคอมมูนิตี้ เพื่อให้คนในศูนย์ฯ กว่า 3.5 หมื่นคน คนในพื้นที่โดยรอบ และผู้สัญจรไปมา ได้แวะพัก ใช้เป็นสวนพักผ่อนหย่อนใจ หรือเข้ามาออกกำลังกาย จะปรับภูมิทัศน์ ตรงถนนแกนกลาง จะขึ้นเป็นต้นราชพฤกษ์อีก 1,200 ต้น ทำให้เป็นจดุเช็คอินหรือแลนด์มาร์คแห่งใหม่ ตึกโซนซีก็จะมีต้นรวงผึ้ง เยอะที่สุดที่นี่

นอกจากให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมแล้ว "ดร.นาฬิกอติภัค" ยังเน้นการตัดถนนใหม่เพิ่มเติม โดยร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ที่เสร็จเรียบร้อยไปแล้วคือถนนหมายเลข 8 ที่ตัดจากศูนย์ราชการไปเชื่อมต่อกับโลคัลโรด เพื่อระบายรถจากศูนย์ราชการไปออกโลคัลโรด และเตรียมขยายเส้นทางเพื่อให้สามารถเชื่อมต่อไปยังถนนวิภาวดีรังสิต และยังมีถนนหมายเลข 10 ตัดผ่านการประปานครหลวง ไปออกประชาชื่น ขยายถนนประชาชื่นจาก  2 เลน เป็น 4 เลน 

 

"เรามองว่าเป็นความรับผิดชอบของเรา เราจับส่วนราชการมารวมกัน 46 หน่วย ก็ต้องทำให้เขาเดินทางสะดวก เป็นการทำงานเพื่อสังคม"

วิชั่น - มิชชั่น สีเขียว ผู้นำ ธพส.

การบริหารจัดการทรัพย์สินของรัฐ ทุกอย่างดำเนินการภายใต้ประสิทธิภาพ ที่มีความโปร่งใส และมีธรรมาภิบาล "ดร.นาฬิกอติภัค" บอกว่า ที่ผ่านมา บริหารสินทรัพย์ได้กำไรทุกแห่งอยู่แล้ว แต่การทำงาน ก็ต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพ ที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกฝ่าย ซึ่งนั่นคือ แนวทางที่จะทำให้ ธพส. ได้รับมอบหมายให้พัฒนาโครงการระดับครีมๆ มากขึ้น และสร้างรายได้ให้มากขึ้น แต่ส่วนที่จำเป็นต้องลงทุนก็ต้องดำเนินต่อไป

 

"กำไรเราลดลง เงินไม่ได้ตามเป้า ผมว่าไม่ใช่ปัญหา ...ผมรับสภาพได้ ไม่เป็นไร ถ้าความพึ่งพอใจคุณภาพชีวิตของคน 3 หมื่นกว่าคนจะดีขึ้น สังคมดีขึ้น"

 

นี่คือ วิชั่น - มิชชั่น ของผู้นำ ธพส. "ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท"

 

หน้า 24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 3,620 วันที่ 21 - 24 ตุลาคม พ.ศ. 2563