GISTDA เปิดภาพจำลอง 3 มิติวิเคราะห์น้ำท่วมเพชรบุรี

13 ต.ค. 2563 | 07:14 น.

GISTDA จำลองภาพสามมิติจากภาพดาวเทียม พร้อมวิเคราะห์หาพื้นที่น้ำท่วมขังในจังหวัดเพชรบุรี พบท่ายาง -ชะอำ -บ้านลาดอ่วม

จากเหตุการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี โดยวัดปริมาณฝน 24 ชั่วโมง ช่วงวันที่ 9 ตุลาคม 2563 สูงถึง 282.2 มิลลิเมตร (โดยค่ามาตรฐานหากมีฝนตกหนักมากกว่า 90.1 มิลลิเมตร จะทำให้เกิดน้ำท่วมขัง) ทำให้น้ำจากคลองแม่ประจันต์มีปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง


นอกจากนี้ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี (เขื่อนเพชร) ได้ปล่อยน้ำจากเขื่อนเพชรลงสู่แม่น้ำเพชรบุรีปริมาณ 216 ลบ.ม./วินาที ทำให้ชุมชนและหมู่บ้านที่อยู่ท้ายเขื่อนประสบปัญหาน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่เทศบาลเมืองเพชรบุรี 


ประกอบกับปัจจุบันมีโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ เป็นอุปสรรคกีดขวางทางไหลของน้ำทำให้เกิดน้ำท่วมขังเป็นบริเวณกว้าง โดยเฉพาะจุดเสี่ยงบริเวณหลังจวนผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งอาจทำให้พื้นที่เศรษฐกิจของจังหวัดเพชรบุรีได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมครั้งนี้


จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ได้ทำการจำลองภาพสามมิติจากภาพดาวเทียม Landsat-8 ซ้อนทับกับข้อมูลแบบจำลองระดับความสูงภูมิประเทศ (DEM) ทำให้เห็นภาพลักษณะภูมิประเทศที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ผวจ.เพชรบุรีกำชับทุกหน่วยเร่งติดตามสถานการณ์น้ำห้ามวางมือ

ด่วน“เพชรบุรี” ประกาศเตือนปชช.ขนย้ายสิ่งของหนีน้ำท่วม ภายในบ่ายวันนี้ 11 ต.ค.

โรงเรียนในเมืองเพชรบุรี สั่งหยุดเรียน 12 ต.ค.นี้

โดยจังหวัดเพชรบุรีนั้น ตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรี มีพื้นที่ลุ่มน้ำประมาณ 6,255 ตร.กม. ลักษณะลุ่มน้ำเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าวางตัวในแนวตะวันตก - ตะวันออก มีแม่น้ำเพชรบุรีเป็นแม่น้ำสายหลักของลุ่มน้ำ มีต้นกำเนิดที่เทือกเขาตะนาวศรีทางด้านตะวันตกของลุ่มน้ำ บริเวณอำเภอแก่งกระจาน ซึ่งเป็นเทือกเขากั้นเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับสหภาพพม่าพื้นที่จะค่อยๆ ลาดเทลงมาทางทิศตะวันออก บริเวณอำเภอท่ายาง และมีที่ราบสลับภูเขา 


ทางด้านตะวันตกของลุ่มน้ำจะเป็นเทือกเขาสูงซึ่งเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำสาขาสายสำคัญของลุ่มน้ำเพชรบุรี ถัดเข้ามาทางตอนกลางของลุ่มน้ำจะมีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ ซึ่งแม่น้ำเพชรบุรีจะไหลผ่านอ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจานและเขื่อนเพชร 


ส่วนพื้นที่ตอนล่างทางด้านตะวันออกของลุ่มน้ำมีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มชายฝั่งทะเล มีลำน้ำสายสั้นๆ กระจายอยู่ทั่วไป โดยห้วยแม่ประจันต์เป็นหนึ่งในลำน้ำสาขาที่สำคัญ


GISTDA วิเคราะห์พื้นที่น้ำท่วมขังจากภาพถ่ายดาวเทียมระบบเรดาร์ เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2563 พบพื้นที่น้ำท่วมขังโดยประมาณในอำเภอท่ายาง อำเภอเมืองเพชรบุรี อำเภอชะอำ และอำเภอบ้านลาด รวมทั้งสิ้นกว่า 47,543 ไร่ พบมากสุดที่อำเภอท่ายาง ประมาณ 20,000 ไร่ พบพื้นที่ปลูกข้าวที่ได้รับผลกระทบในจังหวัดเพชรบุรีจำนวนรวมทั้งสิ้น 18,570 ไร่ 
 

แบบจำลองภาพสามมิติจากภาพดาวเทียม

 

GISTDA ยังใช้ดาวเทียมติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่างต่อเนื่องพื่อส่งต่อข้อมูลไปให้กับหน่วยปฏิบัติเพื่อได้ใช้วางแนวทางในการดำเนินงาน ทั้งนี้ ประชาชนทั่วไปสามารถ ตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าวจากแผนที่น้ำท่วมจากข้อมูลจากดาวเทียมที่เว็บไซต์ http://flood.gistda.or.th