สหรัฐฯชื่นชมไทย ย้ำพันธกิจลงทุนใน ‘อินโด-แปซิฟิก’

04 พ.ย. 2562 | 06:57 น.

 

นายวิลเบอร์ รอส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ประกาศกลางเวที “อินโด-แปซิฟิก บิซิเนส ฟอรัม ครั้งที่ 2” ซึ่งจัดโดยหอการค้าสหรัฐอเมริกา (แอมแชม) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย วันนี้ (4 พ.ย.) ว่า สหรัฐฯเป็นผู้ลงทุนโดยตรงรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ซึ่งประกอบด้วย 21 ประเทศรายรอบสองฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก โดยมีมูลค่าการลงทุนสะสมในภูมิภาคนี้สูงถึง 8.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ข้อมูล ณ สิ้นปี 2561) และเม็ดเงินลงทุนส่วนใหญ่ของสหรัฐฯคิดเป็นมูลค่ากว่า 2.7 แสนล้านดอลลาร์ฯ ก็มุ่งมายังอาเซียน นับว่ามากกว่าเม็ดเงินลงทุนของสหรัฐฯทั้งในจีนและญี่ปุ่นรวมกัน

วิลเบอร์ รอส

ทั้งนี้ สหรัฐฯยังคงมุ่งมั่นให้ความสำคัญกับการเพิ่มพูนการค้าและการลงทุนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกต่อไป สะท้อนให้เห็นได้จากจำนวนบริษัทเอกชนของสหรัฐฯราว 9,000 รายที่แสดงความสนใจผ่านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯว่า มีความต้องการเข้ามาลงทุนในภูมิภาคนี้ในอนาคต และมีกว่า 412 รายกำลังอยู่ในระหว่างการทำสัญญา  

 

ในปีที่ผ่านมา (2561) ยังเป็นปีที่มูลค่าการค้าระหว่างสหรัฐฯกับประเทศในอินโด-แปซิฟิกเพิ่มขึ้นราว 6% คิดเป็นมูลค่าเกือบๆ 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สนับสนุนให้เกิดตำแหน่งงานกว่า 3 ล้านตำแหน่งงานในสหรัฐฯ และราว 5.1 ล้านตำแหน่งงานในอินโด-แปซิฟิก  ขณะเดียวกัน ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าของสหรัฐฯ หรือยูเอสเอ็กซิมแบงก์ ก็พร้อมที่จะให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ส่งออกของสหรัฐฯวงเงิน 4,000 ล้านดอลลาร์เพื่อเพิ่มปริมาณการค้ากับภูมิภาคนี้

สหรัฐฯชื่นชมไทย ย้ำพันธกิจลงทุนใน ‘อินโด-แปซิฟิก’

รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐฯกล่าวว่า สหรัฐฯจะยังคงมุ่งหน้าเพิ่มความร่วมมือทั้งด้านการค้า-การลงทุนกับบรรดาประเทศพันธมิตรในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกต่อไป มีการลงนามความร่วมมือในด้านต่างๆกับหลายประเทศมาแล้ว ยกตัวอย่างล่าสุดเร็วๆนี้ สหรัฐฯลงนามในความตกลงร่วมมือทางการค้า 2 ฉบับกับประเทศญี่ปุ่น ครอบคลุมทั้งการค้าแบบดั้งเดิมและการค้าดิจิทัล ซึ่งเชื่อว่าจะยิ่งทำให้เกิดความร่วมมือผลักดันปริมาณการค้ากันมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการค้าบนช่องดิจิทัลนั้นน่าจะเพิ่มมูลค่าได้ถึง 40,000 ล้านดอลลาร์    

 

สหรัฐฯชื่นชมไทย ย้ำพันธกิจลงทุนใน ‘อินโด-แปซิฟิก’

และสำหรับประเทศไทย สหรัฐฯเชื่อมั่นในความเป็นมิตร และเป็นหุ้นส่วนที่ดีต่อกันมายาวนานนับร้อยปีและยังจะมั่นคงต่อไปในอนาคตข้างหน้า นายรอสกล่าวว่า หากจะไม่พูดถึงเรื่องการตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(จีเอสพี)สินค้าบางรายการของไทยบนเวทีนี้คงไม่ได้ แต่ตนมองว่า ประเด็นดังกล่าวนี้ ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย (no big deal) แต่มีการพูดถึงตัวเลขเกินจริงกันไปทำให้มีการวิตกกังวลกันมาก จึงอยากจะอธิบายว่าสินค้าที่จะถูกตัดจีเอสพีของไทยในครั้งนี้ (มีมูลค่าการส่งออกไปยังสหรัฐฯ 1,300 ล้านดอลลาร์) คิดเป็นสัดส่วนเพียงน้อยของสินค้าทั้งหมดของไทยที่ได้รับสิทธิจีเอสพีจากสหรัฐฯ ยังมีเวลาที่ไทยและสหรัฐฯจะเจรจาหารือกันในเรื่องนี้และแก้ไขปัญหาร่วมกัน

นายวิลเบอร์ รอส ยังได้แสดงความชื่นชมประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จในการจัดประชุมอาเซียนซัมมิทและการเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ นอกจากนี้ สหรัฐฯขอแสดงความยินดีกับรัฐบาลไทยที่ในผลการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) จัดทำโดยธนาคารโลก ประเทศไทยทำอันดับได้ดีขึ้น โดยขยับจากอันดับที่ 27 ในปีที่แล้วมาเป็นอันดับที่ 21 ในปีนี้ โดยมีอันดับที่เหนือกว่าประเทศเยอรมนี

 

ทั้งนี้ งานประชุม อินโด-แปซิฟิก บิสิเนส ฟอรัม ครั้งที่ 2  จัดโดยหอการค้าสหรัฐอเมริกา (แอมแชม) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในวันที่ 4 พ.ย. 2562 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพค เมืองทองธานี เป็นเวทีคู่ขนานของการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 และการประชุมอื่นๆที่เกี่ยวข้อง