ศตวรรษแห่งเอเชีย อาร์เซ็ปผลงานชิ้นโบแดง

02 พ.ย. 2562 | 03:05 น.

เอกชนยกนิ้วผลงานชิ้นโบแดง 1 ปี ไทยประธานอาเซียน ดันเจรจาอาร์เซ็ปสำเร็จ แจ้งเกิดเขตการค้าเสรีใหญ่สุดของโลก เพิ่มนํ้าหนักโดดเดี่ยวมะกัน หนุนสู่ศตวรรษแห่งเอเชีย “จุรินทร์” มั่นใจลงนามปีหน้า ดันจีดีพีไทยขยายตัว 3.9% 

 

การประชุมสุดยอดอาเซียน หรืออาเซียนซัมมิทครั้งที่ 35 ที่ไทยในฐานะประธานอาเซียนจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-4 พ.ย. 2562 ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี

 

ไฮไลต์นอกจากจะมีการประชุมผู้นำอาเซียน 10 ประเทศ(อาเซียนซัมมิท)แล้ว ยังมีการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้องกับประเทศคู่เจรจาอีกหลายเวที เช่น อาเซียน-จีน อาเซียน-อินเดีย อาเซียนบวก3 อาเซียน-สหรัฐฯ การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก อาเซียน-ญี่ปุ่น การประชุม สุดยอดความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค(อาร์เซ็ป) และการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหประชาชาติ

 

นอกจากนี้ยังมีเวทีคู่ขนานที่จัดโดยเอกชน ได้แก่การประชุม ASEAN Business and Investment Summit (ABIS)ที่จะมีนักธุรกิจชั้นนำของไทย ของอาเซียนและประเทศคู่เจรจามาร่วมหารือและมีผู้นำจากหลายประเทศมาร่วมแสดงวิสัยทัศน์รวมแล้วกว่า 1,000 คน และการประชุมอินโด-แปซิฟิกบิสิเนสฟอรัมจัดโดยหอการค้าไทยและหอการค้าสหรัฐฯ ที่จะมีรัฐมนตรีหลายคนของสหรัฐฯและนักธุรกิจอเมริกันเข้าร่วมกว่า 400 คน รวม การลงนามเอกสารต่างๆ ของการประชุมสุดยอดแต่ละเวทีรวมกว่า 22 ฉบับ รวมถึงเตรียมส่งมอบตำแหน่งประธานอาเซียนให้แก่เวียดนามแล้ว

 

อาร์เซ็ปผลงานโบแดงไทย

 

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า เวทีอาเซียนซัมมิทครั้งนี้ไฮไลต์หลักอยู่ที่ผู้นำของไทยกับผู้นำอาเซียนจะร่วมกันออกแถลงการณ์ประกาศความสำเร็จของการสรุปผลการเจรจาอาร์เซ็ปที่ใช้เวลามานานเกือบ 7 ปี (เริ่มเจรจาพ.ศ.2556 คาดจะได้ข้อสรุปทั้งหมดใน 20 ข้อบท 4 ภาคผนวก) ภายในปีนี้ตามเป้าหมายผู้นำ

 

ทั้งนี้หากข้อสรุปของอาร์เซ็ปนำไปสู่การลงนามและมีผลบังคับใช้ จะส่งผลให้อาร์เซ็ป 16 ประเทศ(อาเซียนบวกจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์) เป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีสัดส่วนจีดีพีถึง 33% ต่อจีดีพีโลก และมีมูลค่าการค้ารวมกันกว่า 29% ของการค้าโลก จะมีการค้า การลงทุน ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ และอื่นๆ ระหว่างกันมากขึ้น ช่วยให้มีอำนาจต่อรองมากขึ้น ช่วยลดการพึ่งพาตลาดอื่นๆ ที่เวลานี้มีการทำสงครามการค้า และกีดกันการค้ากันมากขึ้น

 

“การประกาศความสำเร็จของการสรุปผลการเจรจาอาร์เซ็ปของไทยในฐานะประธานอาเซียนในปีนี้ถือเป็นผลงานชิ้นโบแดงของรัฐบาล และหากมีผลบังคับใช้จะทำให้จากนี้ทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนจะเป็นศตวรรษแห่งเอเชีย เพราะเมื่ออาเซียนซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจมากที่สุดในโลก และยังมีจีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่มาร่วมด้วย ยิ่งทำให้ภูมิภาคนี้มีโอกาสเติบโตสูงในอนาคต”

 

ศักราชที่รุ่งโรจน์ของเอเชีย

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในวันสุดท้ายของการประชุมระดับรัฐมนตรีอาร์เซ็ป (1 พ.ย.) ว่าข้อสรุปต่างๆ จะถูกนำเสนอเข้าสู่การประชุมสุดยอดอาร์เซ็ป ในวันที่ 4 พฤศจิกายนนี้ เพื่อประกาศความสำเร็จ ทั้งนี้ตั้งเป้าจะได้ข้อสรุปทั้งหมดอย่างสมบูรณ์ภายในปี 2562 และมีการลงนามความตกลงภายในปี 2563

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า จากผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ถึงผลการเจรจาอาร์เซ็ปจะช่วยให้ผลผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)ของไทยจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดิม 3.991% โดยปริมาณการบริโภคครัวเรือนขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.746% ปริมาณการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.934% ปริมาณการบริโภคภาครัฐขยายตัวเพิ่มขึ้น1.368% ปริมาณการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.355% และปริมาณการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.932%

ไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้น ประเทศคู่เจรจา 6 ประเทศ และประเทศในกลุ่มอาเซียน ต่างจะได้รับผลบวกด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน จากอุปสรรคทางการค้า การลงทุนระหว่างกันจะลดลง

ศตวรรษแห่งเอเชีย  อาร์เซ็ปผลงานชิ้นโบแดง

 

 

ตอกยํ้าโดดเดี่ยวมะกัน

 

ผู้สื่อข่าวประมวลจากเว็บไซต์ต่างประเทศ ระบุว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้หลายประเทศในเอเชียต้องเร่งกันผนึกกำลังเพื่อรักษาระดับความสามารถในการแข่งขันและหลีกเลี่ยงแรงกดดันที่กำลังเกิดขึ้นในเวทีการค้าโลก ก็คือการเผชิญหน้ากันระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่ทำให้หลายประเทศที่อยู่ในภาวะ “ได้เปรียบดุลการค้า” สหรัฐฯ ต้องคิดหนักและพยายามเร่งหาทางออก ไม่เช่นนั้นก็จะต้องพบกับแรงบีบคั้นจากสหรัฐฯเหมือนกับที่จีนกำลังเผชิญอยู่ ทั้งนี้ในบรรดาประเทศสมาชิกร่วมภาคีอาร์เซ็ปนั้น ประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐฯอยู่มาก (นอกจากจีน) แล้วยังได้แก่ ญี่ปุ่น อินเดีย มาเลเซีย เกาหลีใต้ และประเทศไทย

 

ในปีที่แล้ว (2561)การเข้าร่วมประชุมอาเซียนซัมมิทของสหรัฐฯมีนายไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีเข้าร่วมประชุมที่ประเทศสิงคโปร์ แต่ปีนี้ที่กรุงเทพ ตัวแทนที่มาร่วมประชุมในฐานะผู้แทนพิเศษ ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะเป็นนายโรเบิร์ต โอไบรอัน ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่ที่มีตำแหน่งอาวุโสสูงสุดในฝ่ายสหรัฐฯที่จะเข้าร่วมการประชุมอาเซียนซัมมิทครั้งนี้ คือ นายวิลเบอร์ รอส รัฐมนตรีพาณิชย์ โดยทั้งคู่จะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ และการประชุม สุดยอดเอเชียตะวันออก จึงเชื่อว่านํ้า หนักความสำคัญของการประชุมจะเทมาที่ความคืบหน้าและความสำเร็จของอาร์เซ็ป อย่างแน่นอน

 

ทั้งนี้ ฝ่ายจีนเองยืนยันว่าจีนให้ความสำคัญกับการเร่งทำความตกลงอาร์เซ็ปให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด ซึ่งนั่นยิ่งหมายถึงการโดดเดี่ยวสหรัฐอเมริกา และการจับกลุ่มกันเหนียวแน่นมากขึ้นของประเทศในภูมิภาคเอเชีย

 

หน้า 1  ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,519 วันที่ 3 - 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562