‘ไทยไฟท์’ทะลวงตลาดโลก ต่อยอดแบรนด์สู่ 5 กลุ่มธุรกิจโกยรายได้หมื่นล้านใน 3 ปี

25 ม.ค. 2559 | 04:00 น.
"นพพร วาทิน" ต่อยอดแบรนด์"ไทยไฟท์" สู่ 5 กลุ่มธุรกิจ บริหารสินทรัพย์/ฟิตเน็ตแอนด์ยิม/อาหาร/เครื่องดื่ม/ค้าปลีก ชูกลยุทธ์คอนเน็คชั่นจับมือพันธมิตรสร้างเครือข่ายธุรกิจแข็งแกร่ง ประเดิมเข้าถือหุ้นคอมมูนิตี้มอลล์ย่านรามคำแหง พลิกโฉมเป็น"ไทยไฟท์ สเตชั่น" และจับมือโอสถสภาล้อนซ์ "TF" เครื่องดื่มชูกำลังน้องใหม่ พ.ค. นี้ ตั้งเป้าเข้าตลาด MAI ไตรมาส 2/2560 พร้อมสร้างอาณาจักร "Thai Fight Empire" ก่อนดันรายได้ทะลุหมื่นล้านบาทใน 3 ปี

นายนพพร วาทิน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยไฟท์ จำกัด ผู้จัดการแข่งขันมวย "ไทยไฟท์" (Thai Fight) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า บริษัทเดินหน้าสร้างแบรนด์ไทยไฟท์ ให้เป็นแบรนด์สินค้าของคนไทย พร้อมเตรียมแตกไลน์สินค้าให้มีความหลากหลายเพื่อทำตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยอาศัยจุดแข็งของแบรนด์ไทยไฟท์ ซึ่งเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก จากการจัดการแข่งขันชกมวยไทยตลอด 6 ปีที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ MAI ในไตรมาส 2 ปี 2560 พร้อมเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 800 ล้านบาท เป็น 1 พันล้านบาท เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนในการขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ

ทั้งนี้โครงสร้างธุรกิจของบริษัทจะแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มหลักได้แก่ 1.ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ รับบริหารพื้นที่อาคาร, คอมมูนิตี้ มอลล์ และโรงแรม เป็นต้น 2.ธุรกิจฟิตเน็ตแอนด์ยิม ให้บริการด้านฟิตเน็ต ภายใต้ชื่อ Thai Fight Physique Sport การออกกำลังกายรูปแบบใหม่ที่ผสมผสานมวยไทยกับเวท เทรนนิ่ง ,และ Thai Fight Clinic คลินิกความงาม ฯลฯ 3.ธุรกิจอาหาร เปิดบริการ Thai Fight Cafe  ร้านอาหารเพื่อสุขภาพ 4.ธุรกิจเครื่องดื่ม "TF" เครื่องดื่มชูกำลังอัดแก๊ส และ5.ธุรกิจค้าปลีก Thai Fight Shop ร้านจำหน่ายสินค้าต่างๆ จำนวน 200-300 รายการ อาทิ เสื้อผ้า รองเท้า อุปกรณ์กีฬา สมุนไพร ฯลฯ ภายใต้แบรนด์ไทยไฟท์ ขณะที่ธุรกิจหลักยังคงเป็นการจัดอีเว้นท์ การแข่งขันชกมวยไทย ซึ่งในอนาคตจะมีความหลากหลายเพิ่มขึ้น

ด้านกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ จะเป็นการร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ผ่านคอนเน็คชั่นที่มีอยู่ในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ โดยอาศัยจุดแข็งของแต่ละฝ่าย พร้อมต่อยอดไปยังธุรกิจอื่นๆ เพิ่มขึ้นในอนาคต โดยในปีนี้บริษัทมีแผนเปิดตัวโครงการต่างๆรวมทั้งสิ้น 16 โครงการ ซึ่งนอกจากที่กล่าวมาข้างต้น ยังมีโครงการ Thai Fight Sports Model การประกวดหาคนรุ่นใหม่ที่มีบุคคลิกดี รักการออกกำลังกายจาก 30 ประเทศทั่วโลก , การจัดงาน Thai Fight Festival , ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดหลักสูตรการบริหารจัดการเกี่ยวกับการกีฬา (Thai Fight Institute of Sports Administration : TISA) และ Proud to be THAI รายการทีวี เพื่อส่งเสริมให้คนไทยภาคภูมิใจในความเป็นไทย เป็นต้น

นายนพพร กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการไฮไลท์ที่จะเกิดขึ้นในครึ่งปีแรก ได้แก่ การจัดตั้งบริษัทร่วมกับ A-link รามคำแหง พร้อมพลิกโฉมจากคอมมูนิตี้ มอลล์เป็นออฟฟิตบิวดิ้งและร้านค้าปลีกภายใต้ชื่อ "Thai Fight Station" ด้วยคอนเซปท์ Station of Brave โดยที่นี่ถือเป็นทำเลทองที่มีความพร้อมด้านการขนส่งสาธารณะ เพราะเชื่อมต่อกับแอร์พอร์ตลิงค์ สถานีรามคำแหง ท่าเรือ และสถานีรถไฟ หัวหมาก นอกจากนี้ยังมีรถโดยสารส่วนบุคคลและรถสาธารณะสัญจรผ่านไปมาอีกกว่า 8 แสนคันต่อวัน ทำให้เชื่อว่าจะเป็นแหล่งจัดอีเว้นท์และอาคารสำนักงานที่สะดวก สบาย โดยจะเปิดให้บริการในไตรมาส 2 ปีนี้

"นอกจากไทยไฟท์ สเตชั่นแล้ว บริษัทยังได้สิทธิ์บริหารโรงแรมนาซ่าเวกัส ขนาด 700 ห้อง โรงแรมนิราศ บางกอก บูทีคโฮลเทล ขนาด 79 ห้อง และนาซ่า เวกัส เซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์ ขนาด 400 ห้อง ซึ่งในปีแรกคาดว่าจะมีรายได้รวมไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท นอกจากนี้ยังเตรียมเปิดตัวเครื่องดื่มชูกำลังอัดแก๊สสำหรับคนรุ่นใหม่ ภายใต้แบรนด์ "TF" ออกวางจำหน่ายในเดือนมิถุนายนนี้ โดยมีบริษัท โอสถสภา จำกัด เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายด้วย" นายนพพรกล่าวและว่า

ปัจจุบันบริษัทยังได้จดลิขสิทธิ์แบรนด์ไทยไฟท์ในประเทศต่างๆทั่วโลก และพร้อมเป็นต้นแบบให้ผู้ประกอบการคนไทยได้เรียนรู้ที่จะสร้างแบรนด์ให้มีความแข็งแกร่ง เพื่อสร้างโอกาสในการทำธุรกิจ โดยเป้าหมายของบริษัทในอนาคต คือ การสร้างอาณาจักรภายใต้ชื่อ "Thai Fight Empire" โดยตั้งเป้าที่จะมีรายได้กว่า 1 หมื่นล้านบาทใน 3 ปีนับจากนี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,125 วันที่ 24 - 27 มกราคม พ.ศ. 2559