ตลาดหลักทรัพย์ฯ จี้ ACC-BYD แจงงบการเงิน ก่อน 17 มิ.ย.68 นี้

11 มิ.ย. 2568 | 05:45 น.
อัปเดตล่าสุด :11 มิ.ย. 2568 | 05:57 น.

ตลาดหลักทรัพย์ฯ เร่ง ACC-BYD ชี้แจงข้อมูลงบการเงิน หลังผู้ตรวจสอบบัญชีพบข้อสังเกต การลงทุน-การดำเนินงานขาดทุนต่อเนื่อง 3 ปี ก่อน 17 มิ.ย.68 นี้

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ขอให้ บริษัท แอดวานซ์ คอนเนคชั่น คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ACC ชี้แจงข้อมูลในงบการเงินไตรมาสที่ 1/2568 โดยผู้สอบบัญชีมีเงื่อนไขและข้อสังเกตเกี่ยวกับการลงทุนใน บจก. อาร์ ที เอส (2003) (RTS) ซึ่งบริษัทพบความผิดปกติในการจดทะเบียนเพิ่มทุนของ RTS ที่เกิดก่อนที่บริษัทเข้าลงทุน

นอกจากนี้ ในงบการเงินยังมีข้อมูลเกี่ยวกับเงินให้กู้ยืมและลูกหนี้ที่ไม่ได้รับชำระเงินคืนตามกำหนด ซึ่งกรณีข้างต้นอาจเกี่ยวข้องกับระบบควบคุมภายใน รวมถึงอาจกระทบต่อฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัท

โดยขอให้บริษัทชี้แจงข้อมูลผ่านระบบเผยแพร่ข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในวันที่ 17 มิถุนายน 2568 ในส่วนความเห็นของคณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการตรวจสอบขอให้ชี้แจงภายในวันที่ 24 มิถุนายน 2568 นอกจากนี้ ขอให้ผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลงบการเงินและติดตามคำชี้แจงของบริษัท

ตลาดหลักทรัพย์ฯ จี้ ACC-BYD แจงงบการเงิน ก่อน 17 มิ.ย.68 นี้

จากข้อมูลข้างต้น บริษัทพบความผิดปกติหลังจากตัดสินใจเข้าลงทุนในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งอาจมีประเด็นเกี่ยวกับระบบการควบคุมภายใน จึงขอให้บริษัทชี้แจงกระบวนการและขั้นตอนในการตรวจสอบสถานะกิจการและผู้ขาย (Due Diligence) และข้อมูลที่ทำให้พบความผิดปกติ ผลกระทบต่อบริษัทและการกำกับดูแล RTS (บริษัทย่อย) นโยบายการลงทุนในอนาคต

2. เงินให้กู้ยืมและลูกหนี้ที่ยังไม่ได้รับชำระเงินคืนตามกำหนด ซึ่งอาจกระทบต่อฐานะการเงินของบริษัท จึงขอให้บริษัทชี้แจงการพิจารณาการให้กู้ยืมรวมถึงความสามารถของผู้กู้ ประโยชน์ต่อบริษัท และความสมเหตุสมผลของเงื่อนไขการให้กู้  มาตรการและความคืบหน้าในการติดตามหนี้ในรายการดังต่อไปนี้ 

  • เงินให้กู้ยืมกับกรรมการและผู้ถือหุ้นบริษัทย่อยโดยไม่คิดดอกเบี้ยและไม่มีหลักประกัน 245 ล้านบาท ทยอยครบกำหนดชำระตั้งแต่ 9 เม.ย. 68 จนถึง 9 ต.ค. 71
  • เงินให้กู้ยืมกับบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง 176 ล้านบาท ซึ่งได้บันทึกค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิต ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นแล้ว 51% 
  • ลูกหนี้จากการขายหุ้น บจก.เอซีซี แคนนาบิส (อดีตบริษัทย่อย) โดยเมื่อ 5 ก.ค. 67 บริษัทขายหุ้นดังกล่าวเป็นเงิน 34 ล้านบาท ซึ่งผู้ซื้อจะทยอยชำระ 5 งวดให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 27 มิ.ย. 68 ทั้งนี้ชำระแล้ว 2 งวด รวม 6 ล้านบาท คงเหลืออีก 28 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ผู้ซื้อไม่ได้ชำระเงินงวด ธ.ค. 67 และมี.ค. 68

3. ความเห็นของคณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการตรวจสอบ

  • ความเพียงพอและเหมาะสมของระบบควบคุมภายในของบริษัทจากกรณีพบความผิดปกติใน RTS รวมทั้งกลไกการติดตามดูแลและปรับปรุงระบบความควบคุมภายในของคณะกรรมการตรวจสอบและมาตรการกำกับดูแลเรื่องดังกล่าว
  • มาตรการกำกับดูแลความเสี่ยงจากการลงทุนในธุรกิจต่างๆ การให้เงินกู้ยืม ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินผลการดำเนินงาน และการขยายธุรกิจของบริษัท

ทั้งนี้ หากผลการตรวจสอบความผิดปกติของ RTS ยังไม่แล้วเสร็จหรืออยู่ระหว่างดำเนินการ และต้องมีการปรับปรุงระบบควบคุมภายในที่เกี่ยวข้อง ขอให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว

รวมถึงความคืบหน้าในการรับชำระหนี้เงินให้กู้ยืมและลูกหนี้จากการขายบริษัทย่อย พร้อมกับการนำส่งงบการเงินทุกไตรมาสหรือเมื่อมีความคืบหน้าในการดำเนินการใดๆ ที่สำคัญ

BYD ขาดทุน 3 ปีซ้อน

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอให้ บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BYD ชี้แจงข้อมูลในงบการเงินไตรมาสที่ 1/2568 โดยผู้สอบบัญชีมีข้อสังเกตเกี่ยวกับผลการดำเนินงานของบริษัทที่ขาดทุนต่อเนื่อง 3 ปี และมีส่วนผู้ถือหุ้นน้อยกว่า 100% ของทุนชำระแล้ว เป็นเหตุให้ถูกขึ้นเครื่องหมาย CB

รวมทั้งไตรมาสนี้บริษัทขาดทุนสุทธิ 241 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 677% โดยมีสาเหตุหลักจากการบันทึกค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น 315 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นค่าเผื่อของเงินให้กู้ยืมกับบริษัทร่วมที่บริษัทให้เงินกู้ยืมในไตรมาสนี้

โดยขอให้บริษัทชี้แจงข้อมูลผ่านระบบเผยแพร่ข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในวันที่ 17 มิถุนายน 2568 ในส่วนความเห็นของคณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการตรวจสอบขอให้ชี้แจงภายในวันที่ 24 มิถุนายน 2568 นอกจากนี้ขอให้ผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลงบการเงินและติดตามคำชี้แจงของบริษัท

สรุปข้อมูลสำคัญในงบการเงินไตรมาสที่ 1/2568 

  1. ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ค่าเผื่อฯ) จำนวน 272 ล้านบาท สำหรับให้เงินกู้ยืมกับบริษัทร่วม (44% ของเงินให้เงินกู้ยืมสุทธิ) ซึ่งบริษัทให้กู้ยืมในไตรมาสที่ 1 นี้  
  2. ค่าเผื่อฯ สำหรับเงินให้กู้ยืมกับบริษัท ไทยสมายบัส จำกัด (TSB : บริษัทร่วมทางอ้อม) ซึ่งบริษัทให้กู้ยืมเมื่อปี 2566 และเริ่มตั้งด้อยค่าในไตรมาสที่ 4/2567 และเพิ่มอีก 73 ล้านบาท ในไตรมาสที่ 1 นี้  รวมเป็น 48% ของเงินให้กู้ยืม 

ตลาดหลักทรัพย์ฯ จี้ ACC-BYD แจงงบการเงิน ก่อน 17 มิ.ย.68 นี้

ข้อมูลที่ให้บริษัทชี้แจงเพิ่มเติม จากข้อมูลข้างต้น ในไตรมาสที่ 1 นี้ บริษัทมีการบันทึกค่าเผื่อฯ 131% ของขาดทุนสุทธิ โดยเป็นการบันทึกในระยะเวลาอันสั้นเป็นจำนวนที่มีนัยสำคัญ หรือมีความต่อเนื่อง ประกอบกับในงบการเงินประจำปี 2567 บริษัทมีผลขาดทุน 4,577 ล้านบาท ซึ่งมีสาเหตุหลักจากการบันทึกค่าเผื่อฯ จากเงินให้กู้ยืมและดอกเบี้ยค้างรับของ TSB 

ดังนั้น การพิจารณาการให้กู้ยืมเงินและการตั้งค่าเผื่อฯ จึงมีผลกระทบต่อฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงขอให้ชี้แจงข้อมูล ดังนี้ 

1. รายการที่ 1 

  • กระบวนการพิจารณาและผู้อนุมัติการให้กู้ยืม ซึ่งรวมถึง ชื่อผู้กู้ สัดส่วนการถือหุ้นและสัดส่วนการให้กู้ ความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ วัตถุประสงค์ของการให้กู้ ประโยชน์ต่อบริษัท เงื่อนไขการให้กู้และความสมเหตุสมผล แหล่งเงินที่ใช้เพื่อให้กู้ยืม รวมถึงการปฏิบัติตามเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง 
  • ข้อมูลฐานะการเงินและผลการดำเนินงาน ณ วันที่อนุมัติการให้กู้ และวันที่ตัดสินใจบันทึกค่าเผื่อฯ การวิเคราะห์ความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ในอนาคตและผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดต่อบริษัท มาตรการและความคืบหน้าในการติดตามหนี้

2. รายการที่ 2

  • ตามที่บริษัทเคยชี้แจงถึงเหตุผลที่ตั้งค่าเผื่อฯ TSB จำนวน 4,909 ล้านบาท ว่าเป็นไปตามสถานการณ์ ข้อมูลที่ปรากฏและปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ที่สามารถคาดการณ์ได้อย่างน่าเชื่อถือ ณ ช่วงเวลาดังกล่าวนั้น ขอทราบข้อบ่งชี้ที่ทำให้บริษัทต้องตั้งด้อยค่าเพิ่มเติม 73 ล้านบาท การวิเคราะห์ความสามารถในการชำระหนี้ของ TSB ในอนาคต ผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดต่อบริษัท มาตรการและความคืบหน้าในการติดตามหนี้

3. นโยบายของคณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการตรวจสอบต่อธุรกรรมการให้กู้ยืมเงินของบริษัท ความเหมาะสมของกระบวนการพิจารณาอนุมัติและมาตรการกำกับดูแล