SET รับตลาดหุ้นเดือนพ.ค. ร่วง 4% หลังบรรยากาศไม่เอื้อลงทุน

09 มิ.ย. 2568 | 10:57 น.
อัปเดตล่าสุด :09 มิ.ย. 2568 | 11:04 น.

ตลาดหลักทรัพย์ฯ เผยภาพรวมภาวะตลาดหุ้นเดือนพ.ค.68 ร่วง 4% หดตัวหนักกว่าตลาดหุ้นภูมิภาค รับปัจจัยทั้งในและต่างประเทศกดดันบรรยากาศการลงทุน พร้อมชูผลงาน บจ. ไตรมาส 1/68 กำไรยังโตดี

ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า สรุปภาพรวมภาวะตลาดหุ้นไทยในเดือนพฤษภาคม 2568 เริ่มเห็นพัฒนาการด้านการเจรจาการค้าโดยสหรัฐฯ และจีนได้เห็นพ้องที่จะระงับการเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (reciprocal tariffs) เป็นเวลา 90 วัน ทำให้ผู้ลงทุนคลายความกังวลจากสงครามการค้าและเงินทุนไหลเข้าสินทรัพย์เสี่ยงอีกครั้ง

ขณะที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ซึ่งควบคุมโดย พรรครีพับลิกัน ได้ลงมติอนุมัติร่างกฎหมายลดภาษีและการใช้จ่ายขนาดใหญ่ ที่เสนอโดยประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งมีชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า "One Big Beautiful Bill" ที่มีบางมาตราอาจกระทบกับการ จัดเก็บภาษีผู้ลงทุนต่างชาติในสหรัฐฯ 

พร้อมกันนี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาสที่ 1/2568 ขยายตัว 3.1% จากการส่งออกที่เร่งตัวขึ้นจากการเร่งส่งมอบสินค้าก่อนการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของ สหรัฐฯ และการลงทุนภาครัฐที่ฟื้นตัวอย่างโดดเด่น

ส่งผลให้บริษัทจดทะเบียน (บจ.) รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2568 โดยภาพรวมมีกำไรสุทธิเติบโตต่อเนื่องจากการขยายตัวของภาคการส่งออก และภาคบริการ เช่น อาหาร และเครื่องดื่ม สินค้าอุปโภคบริโภค ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ค้าปลีก ขนส่ง และโทรคมนาคม

นอกจากนี้ บจ. กว่าครึ่ง รายงานกำไรสุทธิเท่ากับหรือสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ สาเหตุหลักมาจากการรับได้อานิสงส์จากราคาน้ำมันดิบโลกซึ่งเป็นต้นทุนหลักที่ปรับลดลง อีกทั้งรายจ่ายดอกเบี้ยของ บจ. ในไตรมาสล่าสุดยังสะท้อนถึงต้นทุนทาง การเงินที่ลดลงสอดคล้องกับการลดดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

สรุปภาวะตลาดหุ้นไทยเดือนพ.ค.68

ภาวะตลาดหุ้นเดือนพ.ค. 68 

ณ วันที่ 30 พฤษภาคม 2568 SET Index ปิดที่ 1,149.18 จุด ปรับลดลง 4.0% จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการ ปรับลดลงมากกว่าตลาดหลักทรัพย์ส่วนใหญ่ในภูมิภาค ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 30 พฤษภาคม 2568 ปรับ ลดลง 17.9%

เนื่องจากความผันผวนจากปัจจัยลบทั้งในและต่างประเทศยังคงรบกวนบรรยากาศการลงทุนทั้งใน ระยะสั้น และระยะกลางผู้ลงทุนอาจหันมาสนใจกลยุทธ์การลงทุนที่เน้นผลตอบแทนที่มั่นคงจากเงินปันผล ที่ บริษัทจดทะเบียนไทยมีการจ่ายปันผลที่ค่อนข้างสูงและสม่ำเสมอ โดยหากกระจายหุ้นในพอร์ตโฟลิโอไปในกลุ่ม ธุรกิจที่หลากหลายจะยิ่งช่วยบริหารความเสี่ยงในยามที่ความไม่แน่นอนสูงอีกด้วย 

ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า SET Index เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2567 ได้แก่ กลุ่มการเงิน กลุ่มเกษตรและ อุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม กลุ่มทรัพยากร กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค และ กลุ่มเทคโนโลยี มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยรายวันรวมของ SET และ mai อยู่ที่ 43,327 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 9.9% 

โดยผู้ลงทุนต่างชาติมีสถานะเป็นผู้ขายสุทธิ 16,182 ล้านบาท และยังคงมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดที่ ระดับ 55.37% ของมูลค่าการซื้อขายรวม ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการปรับพอร์ตการลงทุนตาม MSCI Rebalance ที่มีด้วยกันสองรอบต่อปีในเดือนพฤษภาคมและพฤศจิกายน ตามลำดับ 

ด้าน Forward P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นพฤษภาคม 2568 อยู่ที่ระดับ 12.5 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด หลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 12.1 เท่า และ Historical P/E อยู่ที่ระดับ 13.7 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด หลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 13.6 เท่า 

ขณะที่อัตราเงินปันผลตอบแทน ณ สิ้นพฤษภาคม 2568 อยู่ที่ระดับ 4.28% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ใน เอเชียซึ่งอยู่ที่ 3.34%

สำหรับภาวะตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) เดือนพฤษภาคม 2568 นั้น มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 356,872 สัญญา ลดลง 17.7% จากเดือนก่อน ที่สำคัญจากการลดลงของ Single Stock Futures และ SET50 Index Futures ทำให้ในปี 2568 มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 437,620 สัญญา ลดลง 9.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่สำคัญจากการลดลงของ Single Stock Futures และ Gold Online Futures