"เฮียหลี" วิเคราะห์ภัยแล้งทำราคาปาล์มร่วง เกษตรกรสูญรายได้ 2 พันล้าน/เดือน

26 พ.ค. 2567 | 23:00 น.

"ประกิต ประสิทธิ์ศุภผล" ผู้ประกอบการน้ำมันปาล์มครบวงจร รายใหญ่ของไทย วิเคราะห์ปัญหาราคาปาล์มร่วง เหตุภัยแล้งฉุดคุณภาพ กระทบ yield น้ำมันลดเหลือ 13-15% เกษตรกรสูญรายได้ 2 พันล้านต่อเดือน จี้รัฐจัดสรรงบทำชลประทานช่วยเกษตรกร

จากประเด็นที่ราคาน้ำมันปาล์มดิบปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 2 สัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคม 2567 "ฐานเศรษฐกิจ" ได้สอบถามกับผู้ประกอบการผลิตน้ำมันปาล์ม นายประกิต ประสิทธิ์ศุภผล หรือ ที่รู้จักในแวดวงว่า "เฮียหลี" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เพชรศรีวิชัย เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) หรือ PCE หนึ่งในผู้ประกอบการอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มครบวงจร รายใหญ่ของประเทศไทย

นายประกิต ระบุว่า ราคาปาล์มปรับตัวลดลงนั้น มองว่าเป็นผลมาจากตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้น มา 4 จังหวัดภาคใต้ จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี กระบี่ และ นครศรีธรรมราช ที่เป็นแหล่งผลิตปาล์มน้ำมันประสบกับปัญหาภัยแล้งอย่างหนักไม่มีฝนตกลงมา ส่งผลกระทบต่อ yield น้ำมันปาล์มต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ 18% ลดลงมาเหลือ 13-15%

 

\"เฮียหลี\" วิเคราะห์ภัยแล้งทำราคาปาล์มร่วง เกษตรกรสูญรายได้ 2 พันล้าน/เดือน

ยกตัวอย่าง หากขายน้ำมันปาล์มดิบ (cpo) ได้ 30 บาท/ลิตร กรณีผลปาล์มมี yield 20% ต้องซื้อผลปาล์ม 6 บาทต่อกิโลกรัม หาก yield ลดลงก็จะทำให้ราคาการรับซื้อผลปาล์มน้ำมันลดลง แบบเข้าใจง่ายๆ คือ 

  • yield 20% ราคาปาล์มจะอยู่ที่ 6 บาท/กก.
  • yield 19%  ราคาปาล์มจะอยู่ที่ 5.70 บาท/กก.
  • yield 18%  ราคาปาล์มจะอยู่ที่ 5.40 บาท/กก.
  • yield  17%  ราคาปาล์มจะอยู่ที่ 5.10 บาท/กก.
  • yield 16% ราคาปาล์มจะอยู่ที่ 4.80 บาท/กก.
  • yield  15% ราคาปาล์มจะอยู่ที่ 4.50 บาท/กก.
  • yield  14% ราคาปาล์มจะอยู่ที่ 4.20 บาท/กก.
  • yield  13% ราคาปาล์มจะอยู่ที่ 4.10 บาท/กก.

"ตามข้อมูลที่กล่าวไปข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า ตลอดระยะเวลากว่า 4 เดือนที่ผ่านมา ทำให้ yield หายไป 5% ผลปาล์มมีเดือนละ 1.5 ล้านตัน น้ำมันหายไปเดือนละ 7-7.5 หมื่นตัน ทำให้เกษตรกรเงินขาดไปเฉลี่ยเดือนละไม่น้อยกว่า 2,000 ล้านบาท เป็นเวลา 4-5 เดือน"นายประกิตกล่าวกับฐานเศรษฐกิจ

สำหรับข้อเสนอแนะนั้น มองว่ารัฐบาลน่าจะมาวางแผนจัดการเอางบประมาณมาจัดการระบบชลประทานให้เกษตรกร เงินที่รัฐลงทุนทำชลประทานเชื่อว่าจะคุ้มค่าแน่นอน เพราะต้องไม่ลืมว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการทำการเกษตรในหลากหลายพื้นที่ และหลากหลายผลผลิตเป็นพืชเศรษฐกิจ

\"เฮียหลี\" วิเคราะห์ภัยแล้งทำราคาปาล์มร่วง เกษตรกรสูญรายได้ 2 พันล้าน/เดือน

อย่างไรก็ตาม หากว่าปรากฏการณ์ความแปรปรวนทางสภาพอากาศเปลี่ยนมาเป็น "ลานีญา" (La Nina) ในปี 2567 นี้ มองว่าจะเป็นผลกระทบเชิงบวกต่อเกษตรกรชาวสวนปาล์มากกว่า โดยหากว่าปริมาณน้ำฝนมีเพียงพอความต้องการของต้นปาล์ม คุณภาพผลของผลผลิตก็จะค่อยๆ ดีขึ้น และหนุนให้ราคาซื้อ-ขายปาล์มของเกษตรกรดีขึ้นตามลำดับ ซึ่งอาจต้องให้เวลาอีกประมาณ 30-45 วัน กว่าที่น้ำจากลำต้นดึงไปเลี้ยงลูกปาล์มล็อตใหม่ให้มีความสมบูรณ์ได้ yield จึงจะดีขึ้นได้