BANPU โชว์กำไรสุทธิไตรมาส 1/67 กว่า 1.55 พันล้านบาท

14 พ.ค. 2567 | 06:59 น.

BANPU เปิดผลงานไตรมาส 1/2567 รายได้รวมอยู่ที่ 3.88 หมื่นล้าน โชว์กำไรสุทธิ 1.55 พันล้าน ขณะที่ EBITDA อยู่ที่ระดับ 8.92 พันล้าน แม้ต้องเผชิญกับความผันผวนของราคาพลังงานในตลาดโลก

บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU ผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลายในระดับนานาชาติ เผยผลประกอบการไตรมาส 1/2567 มีรายได้จากการขายรวม 1,088 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 38,810 ล้านบาท) กำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา (EBITDA) รวม 250 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 8,924 ล้านบาท) และกำไรสุทธิ 43.5 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1,552 ล้านบาท) ในช่วงที่ผ่านมาแม้ต้องเผชิญกับความผันผวนของราคาพลังงานในตลาดโลก

บริษัทยังคงบริหารจัดการธุรกิจและต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถสร้างกระแส เงินสดได้อย่างต่อเนื่อง ด้านธุรกิจก๊าซธรรมชาติ พร้อมเดินหน้าสู่การบรรลุเป้าหมาย Net Zero เต็มพิกัด โดยมีโครงการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS) ในสหรัฐอเมริกาที่เตรียมดำเนินการในปีนี้ ขณะที่กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน โรงงานผลิตแบตเตอรี่ในไทยได้เริ่มส่งมอบแบตเตอรี่ให้กับลูกค้าในประเทศไทยแล้ว

นายสินนท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU กล่าวว่า ในไตรมาส 1/2567 บริษัทยังคงมุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานและบริหารจัดการต้นทุนอย่างรัดกุม ยกระดับการดำเนินงานของทุกกลุ่มธุรกิจใน 9 ประเทศ และเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อคงความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงานและผลิตพลังงาน มุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนเพื่อตอบสนองต่อภาวะราคาพลังงานที่ผันผวน

กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน มีความคืบหน้าของโรงงานประกอบแบตเตอรี่ในประเทศไทยที่ได้เริ่มส่งมอบแบตเตอรี่ชุดแรกแล้ว นอกจากนั้น  บริษัทยังมุ่งบริหารพอร์ตโฟลิโอให้สอดคล้องไปกับแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผ่านการจัดสรรงบประมาณการลงทุนอย่างเหมาะสมเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

สำหรับผลการดำเนินงานของ 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ในไตรมาส 1 มีรายละเอียดดังต่อไปนี้


กลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน ด้านธุรกิจเหมือง บริษัทเร่งดำเนินมาตรการต่างๆ ทั้งการควบคุมต้นทุนการผลิต การเสริมประสิทธิภาพในการผลิตและการขนส่ง ที่ช่วยประหยัดเวลาและทรัพยากรและลดสิ่งเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิต และดำเนินกลยุทธ์ทางการตลาด เพื่อให้ได้คุณภาพของสินค้าตรงตามความต้องการของลูกค้า ทำให้ยังคงสร้างกระแสเงินสดได้อย่างแข็งแกร่ง ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัทยังคงใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากราคาก๊าซธรรมชาติที่มีความผันผวน

ส่วนโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS) ในสหรัฐอเมริกา เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ใน Scope 1 และ 2 ในปี 2568 โครงการแรก “Barnett Zero” ดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ขณะที่โครงการที่สอง “Cotton Cove” ตั้งเป้าเริ่มดำเนินการภายในปี 2567 นี้ โดยแต่ละโครงการมีอัตราการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ยสูงสุดอยู่ที่ 210,000 และ 45,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปีตามลำดับ 

กลุ่มธุรกิจผลิตพลังงาน ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานความร้อน มีผลการดำเนินงานตามเป้าและคงประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าที่ดีต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยบวกจากการเติบโตของความต้องการการใช้ไฟฟ้าในทุกภูมิภาคทั่วโลก โดยเฉพาะจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนที่มีเสถียรภาพและสร้างความมั่นคงในระบบการจ่ายไฟฟ้าเพื่อรองรับความต้องการในช่วงที่สภาพภูมิอากาศมีความผันผวน อีกทั้งยังมีความเติบโตของการใช้ AI และ ธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศต่างๆ สำหรับธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในประเทศจีน ญี่ปุ่น เวียดนาม และออสเตรเลีย ยังคงรายงานผลการดำเนินงานที่ดี สร้างกระแสเงินสดอย่างสม่ำเสมอ แม้ในไตรมาสนี้จะเผชิญกับสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยซึ่งเป็นไปตามฤดูกาล

กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน มีการเติบโตแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง โดยการมุ่งขยายฐานลูกค้าและการลงทุนร่วมกับพันธมิตรใหม่ๆ  ในธุรกิจแบตเตอรี่และระบบกักเก็บพลังงาน (Battery & Energy Storage System Solutions: BESS) โรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนภายใต้ความร่วมมือระหว่าง บ้านปู เน็กซ์ และ เอส โวลต์ เอเนอร์จี้ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ และส่งมอบแบตเตอรี่ให้กับลูกค้าในประเทศไทยมากกว่า 20,000 ชุด โดยมีเป้าหมายการผลิตรวม 60,000 ชุดต่อปี

พร้อมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือจัดตั้งโรงงานและพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการกักเก็บพลังงาน เซลล์แบตเตอรี่ และการรีไซเคิลแบตเตอรี่ในขณะที่โรงงานประกอบแบตเตอรี่ดีพี เน็กซ์ ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนของบ้านปู เน็กซ์ และดูราเพาเวอร์ สามารถ ส่งมอบแบตเตอรี่ชุดแรกให้กับเชิดชัยมอเตอร์เซลส์เพื่อนำไปใช้กับรถบัสไฟฟ้าแล้วเช่นกัน โดยมีเป้ากำลังการผลิตรวมที่ 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง

นอกจากนี้ ในไตรมาสนี้ยังมีการเปิดตัวโครงการ ‘Infinite Cafe Powered by Banpu NEXT’ เฟสที่สอง ที่จามจุรีสแควร์ ในรูปแบบป๊อปอัพคาเฟ่ที่มีระบบโซลาร์รูฟท๊อปผลิตไฟฟ้าพร้อมแบตเตอรี่กักเก็บไฟฟ้าในตัว ซึ่งเป็นการนำเสนอโซลูชันพลังงานสะอาดที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้คน เพื่อขยายสู่กลุ่มลูกค้าธุรกิจบริการต่าง ๆ ในส่วนโครงการบริหารจัดการระบบผลิตความเย็นจากส่วนกลาง (District Cooling System) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ โซนซี คาดว่าจะเปิดดำเนินการเต็มรูปแบบในไตรมาส 4/2567

จากความโดดเด่นในการบริหารจัดการและการพัฒนาทรัพยากรบุคคลในช่วงเวลาที่ผ่านมา ส่งผลให้บ้านปูได้รับ 3 รางวัลจากงาน Employee Experience Awards 2024 ซึ่งจัดโดย Human Resources Online ประเทศสิงคโปร์ ในประเภท Best Management Training Programme (ระดับ Silver) ประเภท Best Holistic Leadership Development Strategy (ระดับ Silver) และประเภท Best Executive Coaching Programme (ระดับ Bronze) สะท้อนความมุ่งมั่นของบ้านปูในการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning Organization) และการตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรบุคคลที่เป็นสินทรัพย์ที่มีค่าที่สุดของบริษัท

“บ้านปูยังคงสร้างการเติบโตของพอร์ตโฟลิโอพลังงาน มุ่งสานต่อโร้ดแม็พการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานที่ยั่งยืน สิ่งที่ผมให้ความสำคัญ คือการสร้างกระแสเงินสดให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น จากการดำเนินงานที่เต็มประสิทธิภาพของสินทรัพย์ต่างๆ ในทุกกลุ่มธุรกิจของเรา มุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและ AI เข้ามาสนับสนุนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต่อยอดโอกาสเพิ่มรายได้จากการเลือกลงทุนที่จะให้ผลตอบแทนสูง โดยผสานความแข็งแกร่งทั้งในธุรกิจที่มีอยู่เดิมและธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพในการเติบโต ไม่ว่าจะภาคพลังงานหรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง”