รัฐปล่อยมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ คาดปั้มกำไรให้กลุ่มเพิ่ม 4%

13 เม.ย. 2567 | 03:45 น.

รัฐเคาะมาตรการลดค่าจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์ และลดค่าจดทะเบียนการจำนอง ที่มีราคาซื้อขายและราคาประเมินไม่เกิน 7 ล้านบาท คาดเป็นบวกต่อกลุ่มอสังหาฯ แต่อาจยังไม่ตรงจุด แบงก์ยังเข้มงวดปล่อยสินเชื่อ ชู SPALI QH AP SIRI ติดโผรับอานิสงส์

ตามที่ทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ ด้วยการลดค่าจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์จาก 2% เหลือ 0.01% และลดค่าจดทะเบียนการจำนอง อสังหาริมทรัพย์จาก 1% เหลือ 0.01% สำหรับการซื้อขาย อสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ อาคารที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยว บ้านแฝด หรือบ้านแถว หรืออาคารพาณิชย์ หรือที่ดินพร้อมอาคารดังกล่าว หรือห้องชุดที่จดทะเบียนอาคารชุด โดยที่มีราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 7 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 7 ล้านบาทต่อสัญญา

ซึ่งยังไม่รวมถึงกรณีการขายเฉพาะส่วน ทั้งนี้ สำหรับผู้ซื้อที่เป็นบุคคลธรรมดาสัญชาติไทย โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่กฎหมายได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567 อย่างไรก็ดี ตลาดที่อยู่อาศัยถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศที่สำคัญเพราะมีสัดส่วนกว่า 10% ของ GDP ประเทศ กล่าวคือ หากอสังหาริมทรัพย์ หรือ ตลาดที่อยู่อาศัยสามารถขับเคลื่อนไปได้ จะส่งผลให้เกิดการหมุนเวียนของเงินได้อย่างเต็มระบบและจำนวนมาก

นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์ลงทุนหลักทรัพย์ บล.ดาโอ (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐ ทั้งในส่วนของการลดค่าโอนและค่าจดจำนอง มองว่าก็อาจมีผลช่วยกระตุ้นภาคอสังหาฯ ได้บ้าง แต่ไม่เยอะนัก ซึ่งหลักๆ จะเป็นการช่วยลดสต็อกบ้านสร้างเสร็จพร้อมขาย (Inventory) โดยเฉพาะในระดับกลางไปถึงบนของผู้ประกอบการที่มีในมืออยู่แล้วมากกว่า แต่ไม่ได้ทำให้เกิดการตัดสินใจสร้างโครงการที่พักอาศัยใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น

ดังนั้น จึงมองว่าผลกระทบเชิงบวกที่จะได้รับนั้นอาจไม่มากอย่างที่คิด เพราะหากมองลงไปให้ลึกอีกหน่อยจะพบว่าปัญหาของการตัดสินใชซื้อที่พักอาศัยไม่ได้อยู่ที่ค่าโอนกรรมสิทธิ์ อีกทั้งมาตรการเหล่านี้ก็ถูกดึงมาใช้อย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว โดยปัญหาที่มองว่ามีผลต่อการซื้ออสังหาฯ หลักๆ ได้แก่ 1. สถาบันการเงินเข้มงวดต่อการปล่อยสินเชื่อ จะเห็นได้ว่าผู้ประกอบการหลายรายมีอัตราการปฎิเสธสินเชื่อที่สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมาและต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน 2. กำลังซื้อหายไป 3. สภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

โดยมองว่ามาตรการที่จะมีผลกระทบในเชิงบวกต่อภาคอสังหาริมทรัพย์จริงๆ คือ มาตรการ LTV มากกว่า อย่างไรก็ตาม กลุ่มหุ้นที่คาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากมาตรการลดค่าโอนและค่าจดจำนอง จะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาฯ ที่มี Inventory โดยเฉพาะสินค้าที่พักอาศัยระดับกลางไปถึงบนมาก ได้แก่ SPALI QH AP และ SIRI เป็นต้น

นายสุโชติ ถิรวรรณรัตน์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัย บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KGI กล่าวว่า มาตรการการลดค่าโอนและค่าจดจำนอง ที่ภาครัฐประกาศออกมาล่าสุดนั้น เชื่อว่าจะเป็นอีกแรงสนับสนุนเชิงบวกช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและภาคอสังหาฯ ได้ แต่ก็อาจไม่ได้มากมายนัก เบื้องต้นคาดการณ์ว่าจะสนับสนุนกำไรรวมของกลุ่มอสังหาฯ ให้เติบโตได้ไม่น้อยกว่า 4% และคาดว่าหุ้นที่จะได้รับอานิสงส์ดังกล่าวคือ SIRI เนื่องจากมี Inventory ที่หลากหลายระดับราคาโดยเฉพาะกลุ่ม 5-7 ล้านบาทขึ้นไป