โบรกวิเคราะห์กลุ่มแบงก์ไตรมาส 1/2567 กำไรสุทธิพุ่ง 26.6%

13 เม.ย. 2567 | 02:30 น.

โบรกคาดกลุ่มแบงก์ประกาศกำไรสุทธิรวมไตรมาส 1/67 พุ่ง 26.6% จากไตรมาสก่อน หลังจากสำรองหนี้ลดลง โดยคงน้ำหนักการลงทุน กลุ่มแบงก์ “เท่ากับตลาด” เลือก BBL TTB เป็นหุ้นเด่น

บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ทางฝ่ายคาดการณ์ธนาคาร 8 แห่ง (รวม TCAP) จะรายงานกำไรสุทธิรวมในไตรมาส 1/2567 อยู่ที่ระดับ 5.56 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.6% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน และเติบโต 26.6% จากไตรมาสก่อน โดยกำไรเติบโตเมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน หนุนจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิขยายตัวตามการขยายสินเชื่อ และส่วนต่างดอกเบี้ย (NIM) เพิ่มขึ้น ขณะที่กำไรเติบโตจากไตรมาสก่อน จาการสำรองหนี้ฯ ที่ลดลง หลังจากธนาคารหลายแห่งได้ตั้งสำรองหนี้ฯ เพิ่มพิเศษล่วงหน้าในไตรมาส 4/2566 รองรับความผันผวนในอนาคตไปแล้ว และค่าใช้จ่ายการดำเนินงานลดลง

โดยทางฝ่ายคาดการณ์ BBL KBANK KTB SCB และ TTB จะรายงานกำไรเติบโตทั้ง เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน และจากไตรมาสก่อน ขณะที่คาดกำไรของ TISCO จะลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน และจากไตรมาสก่อน เพราะสำรองหนี้ฯ และค่าใช้จ่ายการดำเนินงานเพิ่มขึ้น ส่วน KKP กำไรจะฟื้นตัวจากไตรมาสก่อน แต่จะยังลดลงเมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน เพราะค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ฯ และการขาดทุนจากการขายรถยึดสูงขึ้น

แม้มีมาตรการ Easy E-Receipt ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงเดือนมกราคม ถึง 15 กุมภาพันธ์ 2567 แต่ไม่ได้ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายเท่าที่ควร เพราะเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวช้า ทางฝ่ายคาดว่าสินเชื่อรวมในไตรมาส 1/2567 ทรงตัวจากไตรมาสก่อน เพื่มขึ้น 0.7% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน โดยคาดว่าสินเชื่อของ BBL จะโตโดดเด่น 1.5% จากไตรมาสก่อน ขณะที่สินเชื่อของ KKP KTB SCB TISCO เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วน KBANK TTB แนวโน้มสินเชื่อจะหดตัว

ส่วนหนี้เสียรวมในไตรมาส 1/2567 คาดว่าปรับเพิ่มขึ้น 5.7% จากไตรมาสก่อน โต 3.8% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน หากสินเชื่อของ ITD ถูกปรับลดชั้นเป็นหนี้เสีย และ NPL ratio เฉลี่ยของกลุ่มธนาคารจะปรับเพิ่มเป็น 3.8% (ไตรมาส 4/2566 ที่ 3.6%) แต่หากหนี้ของ ITD ไม่ถูกปรับลดชั้นเป็นหนี้เสีย ก็คาดว่าหนี้เสียรวมจะเพิ่มขึ้น 2% จากไตรมาสก่อน และ NPL ratio ปรับขึ้นเล็กน้อยเป็น 3.66% สำหรับกรณีสินเชื่อของ ITD ถูกปรับลดเป็นหนี้เสีย คาดว่า Coverage ratio ของกลุ่มธนาคารจะลดลงเหลือ 178.6% ในไตรมาส 1/2567 (ไตรมาส 4/2566 ที่ 184.9%) โดยธนาคารที่เกี่ยวข้องมีพื้นฐานแข็งแกร่ง และมีระดับ Coverage ratio สูงเพียงพอรับความไม่แน่นอนในอนาคต

กำไรสุทธิรวมในปี 2567 เติบโตชะลอตัว หลังจากวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นสิ้นสุดในปี 2566 โดยคาดกำไรสุทธิรวมของกลุ่มธนาคารจะปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ในอัตราชะลอตัวลงที่ 7.7% และ 7.3% ในปี 2567-2568 (จาก 2566 โต 18.4%) ทั้งนี้ คาดว่า TTB จะมีอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิโดดเด่น 14% ในปี 2567 และ BBL โต 9.7% KBANK โต 9.1% โดยจะมีเพียง TISCO ที่คาดว่ากำไรสุทธิจะลดลง 0.4% แม้ว่ากำไรของกลุ่มธนาคารจะเติบโตชะลอตัว แต่คาดว่า ROE จะปรับสูงขึ้นต่อเนื่องเป็น 9.1% และ 9.3% ในปี 2567-2568 (จาก 2566 ที่ 8.8%) สวนทางกับราคาหุ้นกลุ่มธนาคารที่ลดลงเฉลี่ย 3% นับต้นแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (ส่วนใหญ่จากราคาหุ้น BBL KBANK KTB ลดลง) และ Valuation ของกลุ่มธนาคารซื้อขายที่เพียง 0.5x PBV’24E

สำหรับเงินกองทุนของธนาคารแข็งแกร่งและสภาพคล่องเพียงพอ แม้ว่ากำไรจะโตชะลอตัว เทางฝ่ายคาดว่าธนาคารจะจ่ายเงินปันผลสูงขึ้นได้ในปี 2567-2568 ล้อกับผลกำไรที่คาดว่าจะสูงขึ้น

จากปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น ส่งผลให้ทางฝ่ายคงน้ำหนักการลงทุน “เท่ากับตลาด” เพราะแม้มองว่าอัตราการเติบโตของกำไรจะชะลอตัวลงในปี 2567-2568 และมีความท้าทายจากคุณภาพสินเชื่อที่เปาะบาง แต่พื้นฐานของธนาคารยังคงแข็งแกร่ง อัตราผลตอบแทนเงินปันผลสูง และ Valuation ไม่แพง กลุ่มธนาคารซื้อขายที่ 0.5x PBV’24E หรือ -1.0SD ของค่าเฉลี่ย 10 ปี ธนาคารส่วนใหญ่ซื้อขายที่ระดับ P/BV ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปี โดยทางฝ่ายเลือก BBL และ TTB เป็นหุ้นเด่น