"ชเนศวร์ แสงอารยะกุล" อวด PYLON ตุนแบ็กล็อก 641 ล้าน รุกชิงงานเอกชนเติมพอร์ต

13 มี.ค. 2567 | 09:48 น.

PYLON มองอุตสาหกรรมก่อสร้างปี 67 ยังทรงตัว ลุ้นรัฐผลักดันงบประมาณ-โครงการลงทุนใหม่ ผลักดันเศรษฐกิจ อวดแบ็กล็อกในมือ 641 ล้าน รุกชิงงานเอกชนใหม่เติมพอร์ตเพิ่ม ออกความเห็นยักษ์ใหญ่ก่อสร้างล้ม ไม่อยากให้เกิดขึ้น อาจกระทบต่อซัพพรายเชนเป็นวงกว้าง

ดร.ชเนศวร์  แสงอารยะกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไพลอน จำกัด (มหาชน) หรือ PYLON ผู้ประกอบการธุรกิจรับเหมาก่อสร้างงานฐานราก (เสาเข็มเจาะ) ระดับแนวหน้าของประเทศ เปิดเผยว่า ประเมินภาพรวมอุตสาหกรรมก่อสร้างในปี 67 มองว่าจะทรงตัวจากปีก่อน เนื่องจากปริมาณงานโครงการลงทุนในส่วนของภาครัฐ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจยังมีความล่าช้าในเรื่องของงบประมาณ ทำให้คาดการณ์ว่าการลงทุนและการเบิกจ่ายงบอาจชะลอตัวออกไปเป็นครึ่งปีหลัง

ในส่วนของภาคเอกชนงานโครงการลงทุนต่างๆ ในปี 67 ยังคงมีออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของโครงการโรงพยาบาล มิกซ์ยูส คอมเมอร์เชียล รวมถึงการลงทุนสร้างคอนโดมิเนียมในปีนี้ก็กลับมามีทิศทางการขยายตัวที่ดีขึ้นแล้วเช่นกัน ทำให้ยังพอมีงานใหม่ๆ ออกมาหล่อเลี้ยงอุตสาหกรรมในปีนี้ได้อยู่ เพียงแต่ก็ต้องยอมรับว่าการแข่งขันทางด้านราคาจะยังคงอยู่ในระดับที่รุนแรง และกดดันต่อมาร์จิ้นของงานใหม่ที่ได้รับมาด้วย

ปัจจุบันบริษัทยังคงเดินหน้าเข้าร่วมประมูลงานโครงการใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็มีงานโครงการขนาดใหญ่อยู่ราว 3-4 โครงการ ที่มีมูลค่ามากกว่า 100 ล้านบาท เบื้องต้นก็คาดหวังว่าในช่วงครึ่งแรกปีนี้จะได้เห็นความชัดเจนในการรับงานใหม่เข้ามาเติมพอร์ตได้เพิ่ม โดยในตอนนี้บริษัทมีงานในมือรอการทยอยส่งมอบ (Backlog) แล้วประมาณ 641 ล้านบาท ซึ่งจะมีหลายงานที่จะส่งมอบและรับรู้เข้ามาเป็นรายได้ในปีนี้ อย่างไรก็ดี บริษัทคาดว่าตลอดทั้งปีนี้จะรักษาระดับ Backlog ในมือไว้ที่ประมาณ 400-700 ล้านบาท

สำหรับแนวโน้มต้นทุนวัสดุก่อนสร้างในปี 67 มองว่าจะไม่มีความผันผวนเหมือนในปีก่อนโดยเฉพาะคอนกรีต ด้วยปริมาณงานก่อสร้างที่น้อยในปีนี้ทำให้ดีมานด์ที่เคยมีชะลอตัวลงอย่างชัดเจน ส่งผลให้คาดว่าราคาคอนกรีตปีนี้อาจคงที่หรือซึมตัวลง ซึ่งเป็นภาพเดียวกันกับเศรษฐกิจทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียที่ไม่ได้ดีนักในปีนี้ และในมุมมองส่วนตัวมองว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานและธุรกิจในปีนี้แต่อย่างใด

กรณที่มีบริษัทรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่เกิดปัญหาอยู่ในตอนนี้นั้น ส่วนตัวมองว่าไม่อยากให้เรื่องเช่นนี้เกิดขึ้น และคาดหวังว่าภาครัฐจะสามารถเข้ามาให้ความช่วยเหลืออะไรได้บ้าง ไม่อย่างนั้นแล้วก็ล้มลงของยักษ์ใหญ่อาจกลายเป็นปัญหาที่รุนแรงส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง เพราะไม่ใช่เพียงบริษัทเดียวที่ล้มลง แต่ยังส่งผลกระทบไปถึงซัพพรายเชนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงคู่ค้าด้วย ความน่าเชื่อถือที่เคยมีก็หายไป จึงไม่อยากให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น และคาดหวังว่าจะมีการแก้ไขปัญหาในทิศทางที่ดีด้วยเช่นกัน