โบรกมองบวก ก.ล.ต. คุมเข้ม ช็อตเซล-โปรแกรมเทรด หนุนความเชื่อมั่นนักลงทุน

12 มี.ค. 2567 | 00:30 น.

โบรกมองมาตรการกำกับ Short Selling และ Program Trading เพื่อความเชื่อมั่นให้นักลงทุน ลดความได้เปรียบ-เสียเปรียบให้รายย่อย แนะจับตามาตรการหน่วงเวลาโปรแกรมเทรด ป้องกันรายย่อยกลายเป็นเม้าบินเข้ากองไฟ

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากการที่ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ได้ออกมากกล่าวถึงความคืบหน้ามาตรการกำกับ Short Selling (SS) และ Program Trading (PT) ซึ่ง ทางก.ล.ต. ได้เห็นชอบในหลักการตามที่คณะกรรมการ ตลท.เสนอ ( 21 ก.พ.67 )

และคาดในไตรมาส 2/67 จะเปิดรับฟังความคิดเห็นหรือเฮียริ่งจากหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และในบางมาตรการน่าจะประกาศใช้ได้ก่อนภายในไตรมาส 3/67 นั้น ส่วนตัวมองว่าโดยรวมค่อนข้างมีความสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกับที่ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้แจ้งมาก่อนหน้านี้ไม่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญนัก เชื่อว่าการยกระดับมาตรการดังกล่าวและการปรับเกณฑ์การกำกับดูแลธุรกรรม SS ให้เข้มข้นมากขึ้น

ทั้งในเรื่องของการเพิ่มมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด Market cap เป็นระดับ 7,500 ล้านบาทขึ้นไป ทำให้มีหุ้นที่ทำ SS ได้ลดลงเหลือ 28% ของตลาด เหลือหุ้นที่จะทำธุรกรรม SS ได้จำนวน 232 หุ้น การปรับปรุงเกณฑ์ซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ (trading rules) เพื่อจำกัดความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ เพิ่มการใช้ราคาขายชอร์ตที่ต้องสูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย (Uptick Rule) เมื่อราคาหุ้นลดลงตั้งแต่ 10% ขึ้นไปของราคาปิดวันก่อนหน้า กำหนดเพดานขายชอร์ตรายหลักทรัพย์รายวัน

รวมไปถึงต้องเปิดเผยยอดขายชอร์ตคงค้างรายวัน (Outstanding short position) มองว่าจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้เพิ่มมากขึ้นเป็นจิตวิทยาเชิงบวกต่อตลาดหุ้นไทย สร้างให้บรรยากาศในการลงทุนของนักลงทุนรายย่อยปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้ สำหรับมาตรการกำกับดูแลการใช้คอมพิวเตอร์ส่งคำสั่งซื้อขาย (Program Trading) ที่จะเพิ่มกลไกสร้างความเชื่อมั่นในการซื้อขายโดยรวม โดยดำเนินการให้สามารถรู้ตัวตนลูกค้าและตรวจสอบได้ กำหนดให้ผู้ลงทุนประเภท HFT ต้องมีการขึ้นทะเบียน

การเพิ่มลักษณะคำสั่งซื้อขายไม่เหมาะสมให้ครอบคลุมพฤติกรรมการซื้อขายในปัจจุบัน จัดทำระบบกลางคัดกรองคำสั่งไม่เหมาะสม รวมทั้งกำหนดระยะเวลาขั้นต่ำของคำสั่งที่เข้ามา ก่อนที่จะสามารถยกเลิกคำสั่งนั้นได้ เพื่อป้องกันคำสั่งใส่ถอนถี่เกินไป (spoofing) มองว่าจะช่วยลดความได้เปรียบ-เสียเปรียบ ของนักลงทุนรายย่อยลงได้เพิ่มมากขึ้น แต่ก็ต้องรอดูว่าเกณฑ์ใหม่ดังกล่าวจะเกิดขึ้นหรือทำได้จริงมากน้อยแค่ไหน และจะทำได้เร็วแค่ไหน

แต่ในส่วนที่มีความสำคัญอย่างมาก คือ เรื่องของการหน่วงเวลา ก่อนที่จะสามารถยกเลิกคำสั่งนั้นได้ (Order Resting Time) เพื่อป้องกันการ spoofing ซึ่งยังไม่เห็นรายละเอียดที่ชัดเจนในเวลานี้ ส่วนตัวมองว่าการตั้งหน่วงเวลา Program Trading ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะรายละเอียดที่ค่อนข้างเยอะ และอาจไปคาบเกี่ยวกับการเทรด DW ซึ่งราคาต้องรักษาระดับให้เท่าตัวตัวแม่ ดังนั้น การหน่วงเวลาอาจไปส่งผลกระทบเพราะว่าไม่สามารถเลือกได้ในปัจจุบัน ทำให้คาดว่าในส่วนนี้ยังคงต้องมีการปรับเกณฑ์กันต่อไปอีกระยะหนึ่ง

"มองว่าการตั้งหน่วงเวลาของ PT จาก HFT นั้นค่อนข้างเป็นประโยชน์อยู่มาก เพราะช่วยป้องกันความเสี่ยงจากการปั่นราคาหุ้น จากคำสั่งซื้อวอลุ่มมาก ก่อนที่จะถูกยกเลิกคำสั่งซื้อ ทำให้รายย่อยกลายเป็นเม้าเข้าไปรับราคานั้นแทน อย่างน้อยการตั้งเวลาหน่วงไว้ก็จะทำให้นักลงทุนโดยเฉพาะรายย่อยมองเห็นสัญญาณคำสั่งซื้อที่ผิดปกติดังกล่าวได้ทัน ทำให้การซื้อขายสมูทมากขึ้น การทุบราคาหุ้นก็จะทำได้ยากขึ้น"นายกิจพณ กล่าว