KKP ชี้ตลาดหุ้นไทยสดใสครึ่งปีหลัง คาดกรอบดัชนีสิ้นปี 1530 จุด

21 ก.พ. 2567 | 11:51 น.

KKP มองตลาดหุ้นไทยยังมีโอกาสเติบโต คาดผลตอบแทนจะดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง คาดกรอบดัชนี SET สิ้นปีแตะ 1530 จุด เพิ่มขึ้น 10% แนะนำหุ้น large และ mid-cap ที่เลือกคือ CPALL, SCB, MINT, TOP, AWC และหุ้น small-cap คือ WHA, OSP, PLANB, SPALI, DIF

นายแดเนียล มาร์ค ไฟน์แมน นักวางแผนกลยุทธ์การลงทุนหุ้น บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP เปิดเผยว่า มองว่าตลาดหุ้นไทยยังมีโอกาสเติบโต เเม้ภาพรวมการลงทุนในครึ่งแรกของปี 2567 อาจยังไม่สดใส แต่ผลตอบแทนจะดีขึ้นในครึ่งหลังของปี ตลอดจนการเติบโตของกำไรจะเร่งตัวดีขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ประเมินดัชนี SET ณ สิ้นปี 2567 ที่ 1,530 จุด หรือเพิ่มขึ้น 10% จากระดับในปัจจุบัน

ด้วยปัจจัยสนับสนุนสำคัญ คือ ราคาหุ้นไทยที่ไม่แพง ผลประกอบการมีโอกาสเติบโตด้วยแรงหนุนจากปัจจัยเชิงวัฏจักร และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นในปีนี้ ดังนั้น แนะนำพิจารณาเลือกซื้อหุ้นที่ 1) กำไรในปัจจุบันยังอยู่ต่ำกว่ากำไรในอดีตมาก 2) ได้ประโยชน์สูงจากการลดอัตราดอกเบี้ย 3) มีอัตราการถือของนักลงทุนต่างชาติในระดับต่ำ 4) อยู่อันดับต้นๆ ของการประเมินมูลค่าตาม valuation scorecard ของทางฝ่าย และ 5) เป็นหุ้นที่ได้รับอานิสงส์จากเทรนด์การลงทุนรถไฟฟ้า EV

โดยหุ้น large และ mid-cap ที่เลือกคือ CPALL, SCB, MINT, TOP, AWC  และหุ้น small-cap คือ WHA, OSP, PLANB, SPALI, DIF อย่างไรก็ตาม การลงทุนมีปัจจัยความเสี่ยงได้แก่ 1) การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน 2) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก 3) ธปท.ไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และ 4) การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีน

KKP ชี้ตลาดหุ้นไทยสดใสครึ่งปีหลัง คาดกรอบดัชนีสิ้นปี 1530 จุด

ในรายงานกลยุทธ์การลงทุนดังกล่าว ซึ่งมีชื่อว่า A 2-3 Year Upcycle ให้เหตุผลประกอบการวิเคราะห์ ดังนี้


 1. ราคาหุ้นไม่แพง โดยหากไม่รวมช่วงโควิดและวิกฤติการเงินโลก P/E ของหุ้นไทยที่มีการปรับเชิงวัฎจักร (cyclically-adjusted P/E) อยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 8 ปี อัตราส่วนราคาต่อมูลค่าทางบัญชี (P/B) อยู่ระดับเกือบต่ำสุดในรอบ 20 ปี ในขณะที่ equity risk premium อยู่ใกล้ระดับสูงสุดในรอบ 10 ปีบ่งชี้ว่าตลาดหุ้นไทยกำลังซื้อขายที่มูลค่าต่ำสุดในรอบหลายปี

2. โอกาสการเติบโตของกำไร Real GDP ของไทยในปีที่ผ่านมายังอยู่ในระดับต่ำกว่าแนวโน้มก่อนโควิดอยู่ 10% และกำไรต่อหุ้นหรือ EPS ของ MSCI Thailand ยังตามหลัง GDP อยู่ถึง 26% ดังนั้น ในระยะข้างหน้า EPS น่าจะเริ่มเร่งตัวไล่ตามวัฏจักรเศรษฐกิจ โดยคาดการณ์อัตราการเติบโตของ EPS เฉลี่ยต่อปี จะอยู่ที่ 12-15% ในระหว่างปี 2566-2569

3. แรงหนุนจากปัจจัยเชิงวัฏจักร ถึงแม้เศรษฐกิจไทยมีความท้าทายเชิงโครงสร้าง แต่ในระยะสั้นยังได้รับแรงส่งจากปัจจัยเชิงวัฎจักรที่จะกลับเป็นขาขึ้น โดยประเมินว่า 70% ของส่วนต่างระหว่างอัตรากำไรในปัจจุบันกับแนวโน้มก่อนโควิดมาจากปัจจัยเชิงวัฎจักรที่เกี่ยวข้องกับการเติบโตของเศรษฐกิจโลก เช่น ภาคการส่งออก รวมถึงภาคการท่องเที่ยว และอัตราดอกเบี้ย และเนื่องจากตลาดหุ้นไทยมีความสัมพันธ์ไปทางเดียวกับวัฎจักรเศรษฐกิจโลกมากที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชีย ทำให้การเติบโตมีโอกาสเร่งขึ้นได้ในระยะปานกลาง รวมถึงการใช้จ่ายของภาครัฐที่ล่าช้าไปในช่วงไตรมาสแรกของปี จะกลับมาเป็นอีกหนึ่งปัจจัยบวกในช่วงครึ่งหลังของปี

4. แรงกระตุ้นจากการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทางฝ่ายคาดว่าธปท. จะลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งแรงสนับสนุนสำคัญของตลาดในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยมักมีผลตอบแทนเป็นบวกในช่วงวัฎจักรขาลงของดอกเบี้ย โดยประเมินเป้าหมายดัชนี SET ณ สิ้นปี 2567 ที่ 1,530 จุด หรือเพิ่มขึ้น 10% จากระดับปัจจุบัน และคาดหวังว่าจะปรับเพิ่มขึ้นได้อีกในปีต่อไปเมื่อกำไรเริ่มปรับเป็นขาขึ้นที่ชัดเจน