จับตา"มั่นคงเคหะการ"ถกประชุมผู้ถือหุ้นกู้ ขอแก้ไขข้อกำหนดสิทธิ 14 ก.พ.นี้

18 ม.ค. 2567 | 05:32 น.

"มั่นคงเคหะการ"หรือ MK เรียกประชุมผู้ถือหุ้นกู้ 5 รุ่น ( MK249A, MK252A, MK253A ,MK256A และ MK263A ) วันที่ 14 ก.พ.นี้ ถกอนุมัติแก้ไขข้อกำหนดสิทธิในส่วนของข้อกำหนดด้านการเงิน

ผู้สื่อข่าวฐานเศรษฐกิจ รายงานว่า วันนี้ ( 18 ม.ค.67) เว็บไซต์สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ขึ้นเครื่องหมาย IC (Investor Caution) หุ้นกู้ บริษัท มั่นคงเคหะการ จำกัด (มหาชน) หรือ MK จำนวน 5 รุ่น (ยกเว้นรุ่น MK243A)  เพื่อพิจารณาเรื่องการขอแก้ไขข้อกำหนดสิทธิในส่วนของข้อกำหนดด้านการเงิน

จับตา\"มั่นคงเคหะการ\"ถกประชุมผู้ถือหุ้นกู้ ขอแก้ไขข้อกำหนดสิทธิ 14 ก.พ.นี้

หุ้นกู้ทั้ง 5 รุ่น ประกอบด้วยรุ่น 

  • MK249A  วงเงินต้น 500 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนปี วันที่ 18 กันยายน 2567 
  • MK252A  วงเงินต้น 300 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนปี วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2568 
  • MK253A วงเงินต้น 1,189.30 ล้านบาท  ครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 15 มีนาคม 2568
  • MK256A วงเงินต้น 700 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนปี 16 มิถุนายน 2568
  • MK263A วงเงินต้น 543.60 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 11 มีนาคม  2569

โดยกำหนดวันปิดสมุดทะเบียน : วันที่ 31 มกราคม 2567 และกำหนดวันจัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้ :วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567

 

หมายเหตุ : การขึ้นเครื่องหมาย IC

มีเหตุใดเหตุหนึ่งดังต่อไปนี้เกิดขึ้น ซึ่งผู้ลงทุนต้องใช้ความระมัดระวังในการลงทุน

  • (1) ผู้ออกหุ้นกู้ ผู้ถือหุ้นกู้ หรือ ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ได้เรียกประชุมผู้ถือหุ้นกู้ หรือ
  • (2) สมาคมได้รับข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับตราสารหนี้ที่มีหรือจะมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ออกตราสารหนี้อย่างมีนัยสำคัญจากผู้ออกตราสารหนี้ ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ หน่วยงานของรัฐ หรือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งมีการเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณชนเป็นการทั่วไปแล้ว

 

จับตา\"มั่นคงเคหะการ\"ถกประชุมผู้ถือหุ้นกู้ ขอแก้ไขข้อกำหนดสิทธิ 14 ก.พ.นี้

 


 

มั่นคงเคหะการ (MK) ออกหุ้นกู้รวมทั้งสิ้น 6 รุ่น มูลค่าเงินต้น 3,869.30 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนในช่วงตั้งแต่ปี 2567-2569 ในจำนวนนี้มีรุ่น "MK263A"จะครบไถ่ถอนในวันที่ 28 มีนาคม 2567 นี้ วงเงินเงินต้น 636.40 ล้านบาท

ขณะที่เงื่อนไข"ข้อกำหนดสิทธิด้านการเงินบริษัทฯ" หนึ่งในข้อกำหนดระบุไว้ดังนี้  สิทธิของหุ้นกู้และสัญญาเงินกู้ยืมกับสถาบันการเงิน

  • 1.ต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินสุทธิทางการเงินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่ระดับไม่เกิน 2 เท่า และ
  • 2 อัตราส่วนหนี้สินสุทธิทางการเงิน(ไม่รวมหนี้สินตามสัญญาเช่า)ต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่ระดับไม่เกิน 2 เท่า 

โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 บริษัทมีอัตราส่วนดังกล่าวข้อแรกอยู่ที่ 1.84 เท่า และข้อสองที่  1.73 เท่า ตามลำดับ  ทั้งนี้ในกรณีที่บริษัทมีการก่อหนี้เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต  หากบริษัทไม่สามารถดำรงอัตราส่วนทางการเงินได้ตามเงื่อนไข อาจทำให้ถูกหุ้นกู้เรียกร้องให้ชำระหนี้

ทั้งนี้คงต้องจับตาผลการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 บริษัทจะขอแก้ไขข้อกำหนดสิทธิด้านการเงินในรายละเอียดอย่างไร ซึ่งเป็นไปได้ว่าการแก้ไขข้อกำหนดสิทธิทางการเงิน เนื่องจากบริษัทอาจมีความจำเป็นต้องก่อหนี้เพิ่ม แต่ยังไม่มีนัยยะว่าจะเป็นการผิดนัดชำระหนี้ แต่อย่างใด