หุ้นไทยโค้งท้ายทะยาน! ลุ้นแตะ 1,750 จุดปี 67 หลังรัฐติดเครื่องกระตุ้นศก.

25 ก.ย. 2566 | 08:59 น.

หุ้นไทย โค้งท้ายทะยาน บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ คาดดัชนี SET ปี66 มีโอกาสแตะ 1,650 จุด และ 1,750 จุด ในปี 67 หลังรัฐเดินเครื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดันจีดีพีโตเพิ่ม 1% ขยับเป็น 4.1% ในปี 67 จาก 2.7% ในปีนี มองบาทอ่อนไม่กระทบตามค่าเงินในเอเซีย

นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด ประเมินเป้าหมายดัชนีหุ้นไทย (SET Index ) ไตรมาส 4/66 มีโอกาสแตะ 1,650 จุด  โดยมีอัพไซด์ราว 100 จุด จากระดับปัจจุบัน และทะยานสู่ระดับ 1750 จุดในปี 67 ได้ 

เนื่องจากผลประกอบการตลาดในครึ่งหลังดีกว่าในครึ่งแรก โดยคาดว่ากำไรตลาดครึ่งหลังปีนี้จะเติบโต 11% เทียบกับครึ่งแรกของปีนี้ และเติบโตถึง 62% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ( H2/65 )  กระแสเงินทุนต่างชาติไหลกลับเข้าสู่ตลาดไทยอีกครั้งเมื่อพิจารณาจาก 1.แนวโน้มการเติบโตที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจจีน 2.การเสร็จสิ้นการปรับลดอันดับเครดิต ผลประกอบการ และจีดีพี  3.นโยบายการเงินที่เริ่มลดระดับความตึงตัวของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และ 4.มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศและการท่องเที่ยว 

 

สุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บล. อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด

เศรษฐกิจไทยปัจจุบันได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว จากจีดีพีไตรมาส 2/66 ที่ขยายตัวเพียง 1.8%  และในอนาคตมีความหวังจากความชัดเจนทางการเมืองและนโยบายกระตุ้นจากภาครัฐ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 66 จะขยายตัวที่ 2.7% และในปี 67 จะขยายตัวได้ถึง 4.1% (เทียบกับประมาณการเดิมที่ 3%) โดยจีดีพี 1% ที่เพิ่มเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะเห็นชัดเจนในปีหน้า ส่วนความเสี่ยงสำคัญ 2 ประการสำคัญก็คือ ประการแรก ระดับน้ำที่ต่ำและการเกิดเอลนีโญในระดับรุนแรงจะสร้างความเสียหายต่อผลผลิตภาคเกษตรกระทบกำลังซื้อได้ ประการที่สอง ในกรณีที่รัฐบาลเลือกที่จะกู้เงินเพิ่มขึ้นเพื่อสนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อาจส่งผลต่อความเข้มแข็งทางการคลัง  
 

"สัญญาณบวกหลาย ๆ ตัวของเศรษฐกิจไทย  ขณะที่ตลาดหุ้นไทยเริ่มฟื้นมาตั้งแต่เดือนก.ค. จาก 6 เดือนแรกที่ติดลบ 10% ขณะนี้เหลือเพียงความเชื่อมั่นของนักลงทุน ซึ่งขึ้นอยู่ที่การปฏิบัติของภาครัฐในการเดินเครื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนความผันผวน ค่าเงินบาทอ่อน ยังไม่น่ากังวล เป็นไปตามทิศทางเดียวกับค่าเงินในเอเซีย จากการเงินดอลล์แข็งค่า เนื่องจากเฟดยังไม่ลดดอกเบี้ย "

สอดคล้องกับ นายพสุวุฒิ วิไลนิรันดร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายกองทุนส่วนบุคคล บล. อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด กล่าวว่า ในรอบ 10 ปี ต่างชาติขายหุ้นไทยแล้วกว่า 8.5 แสนล้านบาท จึงมีแนวโน้มที่จะไหลกลับเข้าไทย ส่วนผลกระทบจากการที่รัฐบาลมีแนวคิดเก็บภาษีรายได้ลงทุนต่างประเทศ รวมถึงภาษีหุ้นต่างประเทศ เริ่ม 1 ม.ค.67 นั้นขณะนี้ยังเป็นเพียงร่างประกาศของกรมสรรพากร ยังต้องรอความชัดเจนว่าในรายละเอียด  เราเองก็กำลังติดตามอยู่ "   

นายสุกิจ กล่าวต่อถึงภาพรวมเศรษฐกิจโลกไตรมาส 4/66 คาดชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญจากการเผชิญ 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่

  • 1.เศรษฐกิจชะลอตัวอย่างพร้อมเพรียง (Synchronized slowdown)
  • 2.ดอกเบี้ยสูงยาวนานขึ้น (Higher for longer) โดยคาดดอกเบี้ยนโยบายจะคงที่ระดับปัจจุบันที่ 5.4% จนถึงสิ้นปี และ
  • 3.ความแตกต่างระหว่างสหรัฐที่เศรษฐกิจยังขยายตัวได้เมื่อเทียบกับประเทศอื่น โดยเฉพาะยุโรปและจีนที่จะชะลออย่างมีนัยสำคัญ สวนทางกับเศรษฐกิจไทยที่จะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในปี 2567 

"เรามองการชะลอของเศรษฐกิจโลกยังไม่ถึงจุดต่ำสุด แต่จะเห็นภาพชัดเจนในไตรมาส 4 ปีนี้จนถึงกลางปีหน้า โดยภาคการผลิตจะกระทบก่อน และปีหน้ามองเศรษฐสหรัฐจะมีความเสี่ยงด้านการจ้างงาน ส่วนแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดคาดจะทรงตัวไประยะหนึ่ง ก่อนปรับลดลงในครึ่งหลังของปีหน้า"
 

หุ้นไทยโค้งท้ายทะยาน! ลุ้นแตะ 1,750 จุดปี 67 หลังรัฐติดเครื่องกระตุ้นศก.

กลยุทธ์การลงทุนในไตรมาส 4/66  บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ แนะจุดเข้าซื้อสำคัญอยู่ที่ 1,500-1,550 จุด คาดหวังผลตอบแทนอยู่ที่ 5-7%  ในธีม 4 กลุ่มหุ้นเด่น คือกลุ่มการแพทย์  กลุ่มพลังงาน (ที่ไม่ได้รับผลกระทบการลดค่าพลังงาน ) กลุ่มชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์  และกลุ่มค้าปลีก

“กลยุทธ์การลงทุน แนะนำโฟกัสไปที่หุ้นที่กำไรมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปหรือทำจุดต่ำสุดแล้ว และสามารถบริหารจัดการต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เน้นหุ้นวัฏจักรที่มีความสัมพันธ์กับการใช้จ่ายอุปโภคบริโภคภายในประเทศสูงซึ่งจะได้รับโมเมนตัมเชิงบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการฟื้นตัวของกำไร โดยหุ้นเด่นในไตรมาส 4 ได้แก่ AOT BCH CRC KCE และ KTB” นายสุกิจ กล่าวเสริม

ด้าน นายพสุวุฒิ วิไลนิรันดร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายกองทุนส่วนบุคคล บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด เปิดเผยว่า

 

พสุวุฒิ วิไลนิรันดร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายกองทุนส่วนบุคคล บล. อินโนเวสท์ เอกซ์

“สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจโลกในไตรมาส 4 ยังคงมีความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ และยุโรป ปัญหาเศรษฐกิจภายในของจีน เงินเฟ้อระลอกใหม่ รวมถึงดอกเบี้ยโดยรวมของโลกยังอยู่ในระดับสูง การลงทุนจึงยังเป็นลักษณะการลงทุนแบบระมัดระวัง มุ่งเน้นคัดเลือกหุ้นของกิจการที่ดีเป็นรายตัว 

โดยมีประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วกว่าประเทศไทย เช่น ประเทศเวียดนาม ที่มีประชากรเกือบ 100 ล้านคน ขนาดเศรษฐกิจเล็กกว่าประเทศไทยค่อนข้างมาก ส่งผลให้อัตราการเติบโตของจีดีพีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับสูงถึง 6-7% ต่อปีสูงกว่าประเทศไทยถึง 2 เท่าตัว และประเทศอินโดนีเซีย ด้วยจำนวนประชากรมากกว่า 270 ล้านคน มากเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากจีน อินเดีย และสหรัฐฯ และถึงแม้มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในอาเซียน แต่ก็ยังคงเติบโตด้วยอัตรา 5% ต่อปี 

ซึ่งทั้งสองประเทศได้รับเม็ดเงินจากบริษัทข้ามชาติที่ย้ายฐานผลิตเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยเม็ดเงินจากการลงทุนทางตรงในปีที่แล้วของประเทศเวียดนามและอินโดนีเซียนั้นสูงคิดเป็น 2 และ 4 เท่าเมื่อเทียบกับของประเทศไทยตามลำดับ 

อีกทั้งประชากรของทั้งสองประเทศยังเป็นวัยทำงานมากถึง 50-60% ของจำนวนประชากรทั้งหมด และกลุ่มคนวัยดังกล่าวกำลังย้ายจากภาคการเกษตรเข้ามาในภาคอุตสาหกรรม และอยู่อาศัยในตัวเมืองมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้รายได้ต่อหัวปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้นในอีก 5-10 ปีข้างหน้า 

โดยอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลประโยชน์จากการเพิ่มขึ้นของประชากรคนชั้นกลาง ได้แก่ กลุ่มสิ่งของอุปโภคและบริโภคต่างๆ เช่น อาหารและเครื่องดื่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ เครื่องประดับ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการซื้อสินค้าจาก ผ่านร้านค้าทั่วไป (Traditional Trade) เป็นร้านค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) ซึ่งเติบโตอย่างรวดเร็ว และการเข้าถึงสินเชื่อรายย่อยของประชาชนทั่วไปซึ่งในปัจจุบันยังอยู่ในระดับต่ำและสามารถขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากในอนาคต